การตรวจระดับไอโอดีนในร่างกายของประชากร โดยวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน คือการตรวจระดับสารไอโอดีนในปัสสาวะ รวมไปถึงการสำรวจปริมาณการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือน และคุณภาพการผลิตเกลือจากโรงงานอุตสาหกรรมการประเมินสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีน ควรมีการติดตามเป็นระยะ เพื่อความยั่งยืนของการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
2.การเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีน
หลังจากที่ได้ทำการประเมินสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนแล้ว ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประชากรทั่วไป เพื่อให้รับทราบและสร้างความตระหนักถึงปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
3.การวางแผนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคขาดสารไอโอดีน
การวางแผนควรมีแผนการทำงานที่ชัดเจน และมีการวางแผนในระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
4.การเข้ามามีส่วนร่วมจากภาครัฐ
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ได้ทั้งในด้านนโยบายทางสาธารณสุข ทางด้านอุตสาหกรรม รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และการใช้ออกกฎหมายใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตเกลือในโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอื่น ๆ
5.การดำเนินงานตามแผนที่ได้วางไว้
จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่การผลิตเกลือจากโรงงานอุตสาหกรรม การกระจายเกลือให้ประชากรในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงเกลือที่มีคุณภาพดีได้ การสร้างความรู้ ความตระหนักในปัญหาการขาดสารไอโอดีนและความจำเป็นที่ต้องได้รับเกลือเสริมไอโอดีนต่อประชากร ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน
6.การประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย
มีการติดตามการดำเนินงาน
บทสรุป
การขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบัน ได้มีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่พบว่าผลการดำเนินงานยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากประชากรไทยยังขาดความรู้ ความเข้าใจในปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในปัจจุบันซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นในรูปแบบของโรคคอหอยพอกเช่นในอดีต แต่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการและระดับสติปัญญาของเด็กที่กำลังจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ดังนั้น การทำให้ประชากรไทยมีความเข้าใจถึงปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน และทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย และมุ่งสู่เป้าหมายการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน