90 จุด แต่ยังมีเด็กไทยอีกจำนวนมากที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าค่าปกติ เด็กไทยส่วนใหญ่มีระดับสติปัญญาอยู่ประมาณ 80-90 จุด จัดอยู่ในระดับสติปัญญาทึบ มีผลต่อการเรียนรู้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอตั้งแต่ช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดาตลอดจนในวัยทารกและเด็กเล็ก ซึ่งในประเทศไทยควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับผลกระทบของการขาดสารไอโอดีนต่อระดับสติปัญญาของเด็กไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพของเด็กไทยต่อไป
การขาดสารไอโอดีนในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
เด็กเล็กและเด็กวัยเรียน เป็นวัยที่ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ มีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ตามความพร้อมของเด็กในแต่ละวัย การขาดสารไอโอดีนในช่วงนี้ ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า มีสติปัญญาลดลง ทำให้เด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้น้อยลง เด็กในวัยนี้จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี ถ้าหากเด็กในวัยนี้มีการขาดสารไอโอดีน ทำให้เขาสูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
นอกจากผลกระทบต่อสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กแล้วการขาดสารไอโอดีน ยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้วย เนื่องจากไทรอยด์ฮอร์โมนจะมีความสำคัญต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต เด็กที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจึงมีการเจริญเติบโตช้า ตัวเล็ก เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ถ้ามีการขาดสารไอโอดีนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น เห็นเป็นก้อนอยู่บริเวณคอ เรียกว่า “คอหอยพอก”
การประเมินภาวะสารไอโอดีนง่าย ๆ โดยการวัดขนาดของต่อมไทรอยด์
เนื่องจากสารไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายนำไปใช้ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อร่างกายขาดสารไอโอดีนในระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้มากขึ้น เพื่อทำให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนให้เป็นปกติ ต่อมไทรอยด์ต้องนำสารไอโอดีนซึ่งมีปริมาณลดลงในกระแสเลือดเข้าสู่ต่อมไทรอยด์เป็นสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ขนาดของต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาขาดสารไอโอดีนรุนแรงเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ และสามารถสังเกตเห็นเป็นก้อนอยู่บริเวณลำคอซึ่งเป็นตำแหน่งต่อมไทรอยด์เราจึงเรียกโรคขาดสารไอโอดีนรุนแรงจนทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ ว่าโรคคอหอยพอก
การประเมินขนาดของต่อมไทรอยด์มี 2 วิธี คือการสังเกตและคลำขนาดของต่อมไทรอยด์และการตรวจขนาดต่อมไทรอยด์โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์
การสังเกตและการคลำขนาดของต่อมไทรอยด์ เป็นวิธีการที่สะดวก ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อน ใช้เป็นการตรวจคัดกรองโรคขาดสารไอโอดีนในประชากรจำนวนมากได้ หากสามารถสังเกตหรือคลำต่อมไทรอยด์ได้จะถือว่าเป็นคอหอยพอก แต่การตรวจต่อมไทรอยด์วิธีนี้ อาจไม่สามารถตรวจพบโรคขาดสารไอโอดีนระดับรุนแรงน้อยได้ เนื่องจากต่อมไทรอยด์จะมีขนาดใหญ่เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถสังเกตเห็นหรือคลำได้จากการตรวจร่างกาย สำหรับการประเมินขนาดของต่อมไทรอยด์ด้วยวิธีนี้ มีการแบ่งลักษณะของต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 3 ระดับ
เกรด 0
ลักษณะของต่อมไทรอยด์ ไม่สามารถคลำหรือสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ได้
เกรด 1
ลักษณะของต่อไทรอยด์ สามารถคลำต่อมไทรอยด์ได้ แต่ไม่สามารถสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ได้
เกรด 2
ลักษณะของต่อมไทรอยด์ สามารถคลำและสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ได้อย่างชัดเจน
การตรวจขนาดของต่อมไทรอยด์ด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจคัดกรองที่มีความไวกว่าการสังเกตและคลำขนาดของต่อมไทรอยด์ สามารถตรวจขนาดของต่อมไทรอยด์ที่ใหญ่ขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถสังเกตหรือคลำได้ เมื่อใช้เครื่องมือวัดขนาดของต่อมไทรอยด์แล้ว จะนำค่าที่วัดได้มาเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงมาตรฐานที่จำเพาะเจาะจงสำหรับเพศและอายุของผู้รับการตรวจ ถ้ามากกว่าค่ามาตรฐานจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นคอหอยพอก การตรวจวิธีนี้สามารถใช้ตรวจคัดกรองในพื้นที่ที่มีภาวะขาดสารไอโอดีนระดับที่รุนแรงน้อยได้ ส่วนข้อจำกัดของการวัดขนาดของต่อมไทรอยด์ในการบ่งชี้ภาวะสารไอโอดีนในร่างกายของประชากร คือ ไม่สามารถตรวจคัดกรองการขาดสารไอโอดีนในระยะเริ่มต้นได้ เนื่องจากการที่ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเกิดจากการได้รับสารไอโอดีนที่ไม่เพียงพอมาเป็นระยะเวลานาน