มีความผิดปกติของระบบประสาทและสมองไม่มาก ในช่วงแรกจึงยังเห็นพัฒนาการที่เป็นปกติได้ แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้น พัฒนาการต่าง ๆ เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นจึงเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงเวลาที่ผ่านพ้นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ไปแล้ว ทำให้การเสริมสารไอโอดีนในช่วงนี้อาจไม่ช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ผิดปกติไป กลับมาเป็นปกติได้
การขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ทารกขาดสารไอโอดีน เนื่องจากระบบประสาทด้านต่าง ๆ จะมีการเจริญพัฒนาไม่พร้อมกัน การขาดสารไอโอดีนในช่วงที่มีการพัฒนาระบบใดมาก ย่อมมีผลต่อพัฒนาการด้านนั้น มีการศึกษาพบว่า เมื่อทารกมีการขาดสารไอโอดีนตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ จะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านการมองเห็น และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เมื่อมีการขาดสารไอโอดีนในช่วงไตรมาสที่ 3 จะมีผลต่อการจดจำ และการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ส่วนการขาดสารไอโอดีนในช่วงครบกำหนดคลอด หรือช่วงระยะแรกหลังเกิด จะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านภาษา การพูด รวมทั้งการจดจำและการใช้สมาธิด้วย
การขาดสารไอโอดีนในระหว่างตั้งครรภ์ แม้จะเป็นเพียงการขาดสารไอโอดีนในระดับรุนแรงน้อย ก็ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกได้ การศึกษาเพื่อประเมินพัฒนาการของทารกแรกเกิดอายุ 3 สัปดาห์ พบว่าทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะทำคะแนนจากการทดสอบพัฒนาการได้น้อยกว่าทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน