…มีความคิดอีกเรื่องคือเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส หมายถึงว่าตอนนี้ชีวิตมันวิกฤตสุดๆแล้ว คนจะเดินเข้าคุกแล้ว ทำอย่างไรให้เขาฉุกคิดและเปลี่ยนวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาส ด้วยมุมมองตรงนี้ก็เกิดเป็นคลินิก เมื่อเปิดคลินิกเราจะดำเนินการอย่างไรให้ได้ผลมากที่สุด คือเราต้องเปลี่ยนความคิดเขา…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)
คลินิกดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ผู้ต้องโทษดังที่ปรากฏในคำกล่าวนี้
ในส่วนของงานบังคับคดี ที่จริงรู้สึกว่าประมวลกฎหมายอาญา 30/1 เขาให้ศาลสามารถอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับได้ ตรงนี้เรามีใช้ของคลินิกจิตสังคมเอามาใช้ประโยชน์ แต่ละวันคนพวกนี้จะมีการทำงานที่ต่อเนื่อง สัปดาห์ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือทำอย่างไรอย่าให้เขาเสียงานเสียการ ให้เขาทำมาหาเลี้ยงชีพได้ เพราะเราต้องการสร้างคนและให้มีความยั่งยืนไม่ใช่เอาแต่ใจเรา ให้เขาเลือกเอง บางคนมาทำไม่ได้จริงๆ ก็มาทำวันอาทิตย์ …เราจะคุยกันทุกวันๆ ละ 20-30 นาที เปลี่ยนทัศนคติเขา บ่ายโมงตรงผมต้องไปถึงทุกวัน ต้องทำด้วยใจ …(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)
ขอบเขตการทำงานของคลินิกดังกล่าวคือ
…เมื่อเป็นอย่างนี้ผู้พิพากษาที่มีจิตอาสาเหล่านี้ บางทีองค์ความรู้ก็ไปคนละทิศละทางก็ประสานงานกับกรมสุขภาพจิต และมอบความไว้วางใจให้กรมสุขภาพจิตออกแบบหลักสูตรว่าเราจะอบรมจิตอาสาเหล่านี้อย่างไร เพื่อมาเปลี่ยนทัศนคติคนเหล่านี้ กรมสุขภาพจิตก็ออกแบบมาอบรมกัน 5 วัน 2 ช่วง เป็นหลักสูตรสร้างแรงจูงใจ เราก็ลองผิดลองถูกมาตลอด เราก็ได้องค์ความรู้ต่อยอดมากขึ้นๆ …คนที่จะเข้าคลินิกมีประเภทไหนบ้าง ทั้งหมดสามารถเข้าคลินิกได้ เราวางอันดับสำคัญก็คือยาเสพติดก่อน คดีความรุนแรงในครอบครัว และคดีเกี่ยวกับเพศ ไม่ใช่ทุกคดีจะเข้าคลินิกทั้งหมด ต้องเลือก เพราะว่าบุคลากรเราไม่พอ งบประมาณเราไม่มี…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)
นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม
เมื่อประมาณปีที่แล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมเข้าไปประสานงานกับเรา โครงการกำลังใจขององค์ภา…เราเอาบุคคล 4 กลุ่ม ที่จะมารับคำปรึกษาได้ กลุ่มที่ 1 ก็คือแม่ลูกอ่อนคลอดที่นั่น บุคคลเหล่านี้มักจะมีความสับสนและมีปัญหาทางความคิด กลุ่มที่ 2 ก็คือผู้ต้องหาที่ตั้งครรภ์ ก็มีปัญหาเหมือนกัน กลุ่มที่ 3 คนที่มีความเครียดเพิ่งเข้าไปใหม่ คนที่เราไปช่วย บางทีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันหายไป เขามองเป็นปกติธรรมดา มองเท่ากันหมด ที่จริงมันไม่เหมือนกัน บางคนไปอยู่ตรงนั้นทำความผิดก็จริง แต่พอไปขังไว้ปรากฏว่าวันที่เขาเข้าไป เขาไปเอายาจากโรงพยาบาล นักโทษการสื่อสารยากมากเลย เราคือตัวไขปริศนาให้เขา ใครเครียดมาคุยกับเรา และก็เชิญพยาบาลมาพูดคุย เป็นเรื่องที่ทำได้ คนเราอยู่กับคนแบบนี้นานๆ ก็อาจไม่เอาใจใส่ได้ เหมือนธุระไม่ใช่ จากการที่เราทำตรงนี้ปีกว่า เขารายงานเข้าไปในกระทรวงยุติธรรมเป็นผลงานของเขา…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)
นอกจากนี้ ยังพบงานฟื้นฟูที่ทำให้ต้องประสานความร่วมมือที่ไกลเกินไปกว่าขอบเขตงานของศาลมากเช่นกัน
…จะจับงานเชิงระบบเยอะ ใจจะเข้าไปทุกเรื่องที่เป็นเชิงระบบ ถ้าพวกเราจะแก้ไขอะไรบางอย่างเราต้องทำเชิงระบบ มันถึงจะแก้ได้จริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานต่อเนื่องเรื่องเยาวชน ถ้ามีโอกาส จะไม่พลาดและเข้าไปทำด้วยความเต็มใจ เป็นNGO เดี๋ยวนี้เขาเรียกเป็นผู้พิพากษา NGO สิ่งที่สื่อถึงบูรณาการก็คืองานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน …ตอนที่ผู้พิพากษาใหม่ๆ เห็นเด็กพวกนี้น่าสงสาร เราน่าจะทำอะไรให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าทุกวันนี้ แต่ตอนนั้นเราก็เป็นแค่ผู้พิพากษาใหม่ๆ เราแอบคิดว่าหัวหน้าศาลมีสมทบ ก็จะเอาใจหัวหน้า แต่ไม่ได้ลงที่เด็ก แต่สิ่งนั้นศักยภาพไม่ใช้กับตัวเด็กเลย ก็มีความคิดว่าถ้าเราได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าศาลเราจะใช้ศักยภาพมาทำอะไรสักอย่างที่เกิดคุณค่ากับเด็กจริงๆ และพอได้มาเป็นหัวหน้าศาล ก็มาเป็นหัวหน้าศาลเด็กและเยาวชน…เราทำงานกับเด็กก่อน แก้ปัญหากับเด็กก่อน เด็กบอกกับเราเองว่ากลับไปก็เหมือนเดิม เราก็มาทำงานกับชุมชน ก็รู้ว่าชุมชนนี่สุดยอด เป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงสุด…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
รายละเอียดของงานดังกล่าว เช่น
…เราทำค่ายบำบัดเด็ก เราก็ได้องค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข สถานพินิจ กรมคุมประพฤติ พระ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานด้านเด็กอยู่แล้ว มาร่วมกันระดมสมองออกแบบค่ายเยาวชน ที่ค่ายทหาร มีกลุ่มทหารบก ทหารอากาศ ตชด. ทั้งหมดมาประชุมระดมสมองและดีไซน์ค่ายเยาวชน …ก็เอาทหารมาช่วยในการปรับวินัยให้เด็ก เอาเรื่องของพระ กับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว คือทำเรื่องยาเสพติดให้จังหวัด เอาเรื่องแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง มาเป็นหลักในการขัดเกลาจิตใจเด็ก เป็นกระบวนการที่ดูศักดิ์สิทธิ์มากเลย จุดเทียน ในค่ายมีนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาล…มาตรวจสุขภาพเด็ก กลไกในค่ายประมาณ 21 วัน เราก็ใช้เงินบริจาคมาทำ ใหม่ๆ เราทำค่ายให้สถานพินิจในปีแรกที่ทำงาน ทำค่ายกับเด็กขาใหญ่ ได้ผลมากๆ เลย…จุดที่เราเสียใจเพราะเราไม่ได้ตามต่อ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
มีข้อสังเกตว่าขณะที่การสังเคราะห์ข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำจะพบองค์ประกอบของการมองผ่านคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ในส่วนของผู้พิพากษานั้นพบว่าจุดสนใจอยู่ที่คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องโทษโดยตรง เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำทำงานเพื่อดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมเห็นว่ามี “ตราบาป” แล้ว อีกทั้งยังต้องทำงานกับคนเหล่านี้อย่างใกล้ชิดจนกระทั่งเห็นแง่มุมของพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยของผู้ต้องขังที่ช่วยสนับสนุนความคิดว่าคนเหล่านี้มีคุณค่าไม่สูงในฐานะปัจเจกบุคคล ประเด็นเรื่องคำเตือนที่เจ้าหน้าที่มีให้บุคลกรเข้าใหม่เกี่ยวกับความไว้ใจไม่ได้ของผู้ต้องขังเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำที่มาร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงกล่าวถึงความจำเป็นต้องต่อสู้กับท่าทีเชิงลบที่มีเพื่อให้มองทะลุไปถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
ในทางตรงข้าม ผู้พิพากษามิได้มีความใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้ อีกทั้งยังบุคคลเหล่านี้มีมิติความเป็นผู้ถูกกระทำที่เด่นชัด นั่นคือ มี “ความเป็นความตาย” ที่ขึ้นกับอำนาจของผู้พิพากษา อาจจะด้วยระยะห่างและอำนาจของผู้พิพากษาที่จะเปลี่ยนสถานะบุคคลให้เป็นผู้สูญสิ้นไม่เพียงแต่คุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลแต่ยังรวมถึงอัตลักษณ์ด้วย ทำให้ผู้พิพากษามองตรงไปที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยหรือผู้ต้องโทษ ดังนั้น หากย้อนกลับไปดูข้อความที่ยกมาข้างต้น จะพบว่าไม่ปรากฏแง่มุมของการประเมินคุณค่าจำเลยหรือผู้ต้องโทษในฐานะปัจเจกบุคคล แต่เป็นการมองทุกคนอย่างเหมือนกันไปหมดในฐานะมนุษย์