ความจำเป็นพื้นฐานซึ่งถือเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังต้องได้รับในฐานะมนุษย์นั้น ยังมีอีกตัวอย่างซึ่งดำเนินไปในบริบทของอุปสรรคเช่นกัน คำกล่าวต่อไปนี้เป็นของพยาบาล
…ยกตัวอย่างผู้ต้องขังจะตาย เราจะทำอย่างไร เราก็ประสานงานผู้คุม เขาไม่ได้บอกว่าเขาจะตาย ทำเรื่องมาเลย เราก็ว่าฉุกเฉินแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง แต่นี่ครึ่งวัน ทำให้รู้สึกว่าออกยากออกเย็น ฉุกเฉินของเรา แล้วก็ตายในคุกจริงๆด้วย ตายกับตาเลยค่ะ…การทำงานมา 12 ปี มีปัญหาตลอดเลย…เราจะแก้ปัญหาอย่างนี้อย่างไร ไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานก็คือ หัวหน้าฝ่ายควบคุมนะ เพื่อนเจ้าหน้าที่ควบคุมนะ ลักษณะงานจะสวนทางกัน การนำผู้ต้องขังออกโรงพยาบาลค่อนข้างจะมีปัญหา ที่บอกว่าผู้ต้องขังมาหาเรา พูดตามตรงเลยนะคะ เหมือนผีหลอก จริงมากหรือน้อยต้องประเมิน ถ้าฉุกเฉินหรือต้องออกจากโรงพยาบาล ต้องมานั่งคุยกับหัวหน้า ขออนุญาตหัวหน้า การออกโรงพยาบาลแต่ละครั้งมีฉุกเฉินและก็ทั่วไป…เราก็จะมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ผู้ต้องขังไม่ให้ออก ยังมีอีกเยอะ แต่สิ่งที่สัมผัสในวิชาชีพตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์มีคุณค่ามากค่ะ (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)
สิทธิพื้นฐานที่กล่าวถึงเป็นเรื่องของความเป็นความตายเลยทีเดียว และการทำงานในฐานะนักวิชาชีพเพื่อรักษาสิทธิดังกล่าวให้กับผู้ต้องขังดูจะดำเนินไปในรูปการต่อรองรายกรณี นับการเผชิญอุปสรรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานก็ว่าได้ อีกประเด็นที่เห็นได้จากข้อความที่ยกมาคือความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติตามวิชาชีพและความตระหนักในคุณค่าของตนเองในฐานะปัจเจกบุคคล
หากบุคคลมีความเป็นนักวิชาชีพแท้จริง ย่อมมุ่งตอบสนองอุดมการณ์ของวิชาชีพ ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ต้องขังไปในตัว แต่สำหรับผู้ที่ยังมิได้จัดเป็นนักวิชาชีพได้แน่ชัดนัก (ได้แก่ ข้าราชการ) ความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ต้องขังก็พบเช่นกัน
เราจะไม่ได้ช่วยโดยตรงแต่ด้วยระบบบางอย่าง ตอนนั้นเราเป็นผู้น้อย เราเสนอตามขั้นตอนไป ได้รับการช่วยเหลือที่ผู้ต้องขังได้รับ อันนั้นก็เป็นความสุข เป็นความผูกพัน ว่าเราสามารถช่วยได้ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กๆ ทำงาน แต่เราสามารถประสานงานไปที่ผู้บังคับบัญชาช่วยเขาได้ตามที่เขาต้องการ แล้วก็ไม่เสียในส่วนของราชการและทำให้ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)
สำหรับเจ้าหน้าที่ท่านนี้ แรงจูงใจไม่ได้มาจากอุดมการณ์วิชาชีพ แต่มาจากลักษณะส่วนตนและผลที่ตามมาบางอย่างดังคำกล่าวที่ว่า
ตัวเองอาจจะเป็นคนขี้สงสาร และชอบช่วย มีผู้ต้องขังบางCase ที่เข้ามา พอเราช่วยแล้ว ทำให้เรามีความสุข และเขาก็ได้รับประโยชน์การช่วยของเราและก็มีความสุข ต่อไปเขาก็เจอและทักทายเป็นอะไรที่ผูกพัน ได้ช่วย ได้ให้ (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)