คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 10

และตั้งต้นกับอัตลักษณ์ใหม่ที่นิยามด้วยความสำเร็จนี้ การทำงานกลายเป็นเป้าหมายที่กำหนดการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นไปอย่างกระตือรือร้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ของอัตลักษณ์ (ใหม่) สังเกตเห็นได้ว่าความรู้สึกถึงคุณค่านั้นคลุมไปทั้งอัตลักษณ์ เนื่องจากมีบทบาทเกินไปกว่าความใคร่รู้และมุ่งมั่นพัฒนาตนอันเกี่ยวกับการงานอันเป็นที่มาของความตระหนักในคุณค่านั้นโดยตรง แต่ยังแผ่ขยายไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย ดังที่กล่าวแล้วว่าความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของการนิยามอัตลักษณ์ และ ณ จุดนี้จึงเห็นภาพอีกด้านหนึ่ง ข้างต้นจะเห็นภาพของการที่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ แต่ ณ ที่นี้เห็นว่าอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้มีการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์กับผู้อื่นในแบบใหม่

นอกจากความตระหนักคุณค่าในตนเองแล้ว ความสำนึกผิดก็มีบทบาทในการกำหนดเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง ซึ่งทำให้ชีวิตมีความหมาย หรืออีกนัยหนึ่ง ช่วยพัฒนาอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมา

ตอนแรกเราเปรียบเทียบคดีฆ่าทำไมเค้าได้ลด ตั้งหนึ่งในสองในสาม แต่เราแค่ยาเสพติดเอง เรามองเเค่นั้น เราไม่ได้มองว่าทำลายคนทั้งประเทศ เข้าข้างตัวเองตลอด และคิดว่าเราทำประโยชน์ให้เรือนจำ ให้เจ้าหน้าที่ ก็คิดว่า ทำไมเราไม่ได้พิเศษอะไร แต่พอเราได้ดูข่าว ได้อ่านหนังสือ ก็เลยเริ่มคิดได้ว่า เออใช่เราเป็นคนผิด ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น เราก็ไม่ต้องมาอยู่ตรงนี้ แล้วทั้งๆ ที่เราเป็นอาชญากรแผ่นดิน ทำลายแผ่นดิน ท่านยังนึกถึงยังให้อภัย ฉะนั้นเรานี่ จริงๆ ฆ่าคนทั้งประเทศ บ่อนทำลายประเทศชาติ เลยไม่อยากได้อะไรแล้ว เท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่ท่าน(พระเจ้าอยู่หัว)จะให้…(ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

ก็เหมือนว่าเมื่อก่อนอยู่ที่บ้าน อะไรฉันต้องเป็น ต้องได้ ต้องเป็นที่หนึ่งแต่มาอยู่ที่นี่เราเห็นว่ากรมเขาให้งบฯ มาฝึกวิชาชีพ มีอาหารครบสามมื้อ น้ำไฟ ทีวี สะดวกสบาย แก้ไขให้เราเป็นคนดี ตัวเราเคยทำร้ายสังคม ปัญหาสังคม เราก็สามารถทำเพื่อสังคมได้ โดยตอบแทนผู้มีอุปการคุณ ไม่รู่ว่าใครบ้างที่เสียภาษีมาให้เราจุดนี้ แต่เราแค่เสียสละแรงงานของตัวเอง นิดๆ หน่อยๆ และทำตัวเองเป็นคนดีอย่าเบียดเบียนผู้อื่น แล้วจะแค้นมากที่ใครออกไปแล้วเข้ามาอีก เค้าจะบอกว่ากรมราชทัณฑ์ ไม่ช่วยเลยไม่ได้ผล เราจะบอกว่า คนไม่สำนึกเองไม่เกี่ยวกับกรมฯ นะคะ…(ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

ดังกล่าวแล้วว่าความสำนึกผิดดังกล่าวเป็นผลมาจากการทบทวนตนเอง ข้อความที่ยกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านอกจากการทบทวนอดีตของตนเองแล้ว การคิดถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก็มีบทบาทเช่นกัน ได้แก่ เหตุผลของความผิด ความช่วยเหลือและโอกาสที่ได้ สังเกตเห็นได้ว่าความสำนึกในความผิดและความสำนึกในบุญคุณของการให้แม้ไม่สมควรได้รับนั้นมาพร้อมกัน

พื้นฐานของกระบวนการฟื้นคืน

ข้อพิจารณาข้างต้นแม้จะปรากฏพลวัตแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในกับภายนอกบุคคลอย่างชัดเจน แต่ก็มุ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการหลักที่เกิดขึ้นและดำเนินไปภายในบุคคล สิ่งสำคัญที่ควรจะแสดงให้ชัดก็คือกระบวนการดังกล่าวดำเนินไปบนพื้นฐานสำคัญ อันได้แก่บริบทแห่งความสัมพันธ์ที่สะท้อนมิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณา ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นไประหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน หรือระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ ข้อความเหล่านี้น่าจะแสดงประเด็นนี้ได้ดี

…ตอนนั้นเราเป็นลม เวียนหัว เค้ามาถาม…ไม่รู้จักเค้าเลยค่ะ เค้าถามว่าอยากได้อะไร เราบอกยา เค้าก็รีบไปหาให้นะ เราก็มานั่งนึกว่าเค้าเป็นใครทำไมมาเรียกหาเรา…เราก็ประทับใจนะว่าทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเลย มันก็เหมือนความอบอุ่น ซึ่งข้างนอกไม่มีเลยนะ แบบนี้ไม่มีถาม ฉะนั้น ประทับใจและจะไม่มีวันลืมเลยนะ ยากเน๊าะที่เค้าจะเข้ามาถามเราอย่างนี้ ที่นี่ตื่นขึ้นมาก็ยิ้ม จุดนี้ถึงบอกว่าโชคดีที่มาติดคุก ได้เจออะไรหลายๆ อย่าง (ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

ก็ตอนแรกโมโห คือถูแบบแรงๆ เหมือนให้ที่ขัดนั้นมันพัง แล้วคุณUUUเค้าไม่อยากให้เราน้อยใจเค้าก็ซื้อน้ำโค้กมานั่งตากแดดเป็นเพื่อน เค้าก็บอกเราว่าใจเย็นๆ น้า เดี๋ยวพี่นายไปคุยให้เอาไหมว่าไม่ให้ลงโทษ เราก็บอกไม่เป็นไรคุณ เค้าสั่งมาแล้วก็จะทำ คือก็พูดเสียงดังใส่คุณUUUอีก เค้าก็อดทนนั่งกลางแดด อยู่เป็นเพื่อน พอเราขัดไปๆ เราก็ยิ่งคิดว่า เค้าไม่ได้เป็นอะไรกับเราเลย เค้าเป็นเจ้าหน้าที่ ทำไมต้องมานั่งตากแดดกับเราด้วย…(ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

 

ความสัมพันธ์ที่ประกอบด้วยมิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณาดังกล่าว มิได้เป็นเรื่องของการได้รับอย่างเดียว หากแต่เป็นไปในลักษณะของการให้และรับ

…มันก็แตกต่างมาก ส่วนข้างนอกจะไม่มีเพื่อนเยอะขนาดนี้ ส่วนมากจะดิ้นรนทำมาหากินอยู่ระหว่างครอบครัว 3-4 คน พ่อ แม่ ลูก ถามว่าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไหม ก็เผื่อแผ่นะ แต่มันไม่เหมือนข้างใน ข้างในเราเจอกันทุกวัน มากด้วย แต่ข้างนอกถามว่าเช้าเราก็ออกไปทำงานเย็นเราก็อยู่กับครอบครัว เราก็เผื่อแผ่ให้คนรอบข้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ข้างในไม่ใช่เลย ถามว่าข้างในให้เยอะมาก หนึ่ง ความคิด สอง ก็มีความรู้สึกเหมือนว่า เรารู้สึกดี เราก็อยากให้เพื่อนรู้สึกดีไปกับเรา เหมือนของใช้ก็เหมือนกัน บางคนมาเขาก็ไม่มีญาตินะ มีน้องคนหนึ่งเข้ามาใหม่ๆ เขายังร้อง ๆ แต่ก็ได้เป็นญาติอะไรแต่เป็นเขาร้องก็ไปปลอบเขาไม่ต้องร้องหรอกนะ เดี๋ยวก็จะชินไปเอง บอกเขาว่าขาดเหลืออะไรก็บอกนะ ก็เอาชุดนอน เอาสบู่ เอาแปรงสีฟันไปให้เขาใช้ก่อนสอง วันแรก พออยู่เขาก็รู้จักเพื่อน เขาก็พาตัวเอง เขาก็ดีใจที่ว่า เราได้ช่วยเหลือเขาทุกวันนี้เขาก็เรียกแม่ (ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 3)

ดังได้เห็นจากข้อความต่างๆ แล้วว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก สร้างความรู้สึกประทับใจที่ต่างไปจากความรู้สึกที่มีระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้ต้องขังถึงกับกล่าวว่าเป็นโชคดีที่ได้อยู่ในสถานกักกัน เหล่านี้เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งน่าจะช่วยค้ำจุนกระบวนการฟื้นคืนอัตลักษณ์ หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง ความสัมพันธ์เช่นนี้ในตัวมันเองเป็นการฟื้นคืนอัตลักษณ์ให้แก่บุคคล เนื่องจากเป็นการแสดงความยอมรับ (recognize) บุคคลอย่างที่เขาเป็น และดังชี้แล้วว่าความขาดหายไปของการยอมรับเช่นนี้เป็นปัจจัยหนึ่งของความสูญสิ้นดังกล่าวแล้วในส่วนของบทนำ

อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ที่ฟื้นคืนผ่านการได้รับความยอมรับนี้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นถึงระดับความตระหนักในคุณค่าของตนเองก็ได้ ความยอมรับนั้นกล่าวได้อีกนัยว่าเป็นความเคารพ ดังกล่าวแล้วว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความเคารพ การขาดซึ่งความยอมรับจึงเป็นการไม่ได้รับความเคารพและเป็นการสูญเสียความรู้สึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในเมื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเงื่อนไขของคุณค่าของปัจเจกบุคคล การสูญเสียดังกล่าวจึงกระทบต่อความตระหนักในคุณค่าของตนเองหรือความยกย่องตนเองด้วย แต่การได้กลับมาซึ่งความเคารพดังกล่าว ไม่จำเป็นที่จะหมายความว่าได้ความยกย่องตนเองมาพร้อมกัน ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับความแตกต่างระหว่างคุณค่าของมนุษย์และคุณค่าของปัจเจกบุคคลที่กล่าวไว้ในส่วนบทนำแล้ว