การศึกษาศตวรรษที่21 ที่ยึดหลักการพัฒนาทักษะอนาคต 3 ประการคือ Learning skills,Life skills,IT skills และมุ่งเน้นให้มีความรู้พื้นฐานในวิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 4 วิชาคือ Health,Economics,Environment,Civil Society เป็นการศึกษาที่ทำให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้ง กาย ใจ สังคม และปัญญา ด้วยเหตุผล 3 ข้อ
1.ทักษะอนาคต 3 ประการสอดคล้องกับพัฒนาการทางจิตวิทยาตามวัย ยกตัวอย่างความสอดคล้องระหว่าง learning skills ส่วนที่ว่าด้วย collaboration กับจิตวิทยาพัฒนาการตามทฤษฎี psychosocial development ของ Erikson ที่ว่าเด็กอายุ 6-10 ปี มีความสนใจที่จะแข่งขัน ประนีประนอม และร่วมมือกันทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นการศึกษาที่สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการหรือส่งเสริมจิตวิทยาพัฒนาการจึงช่วยให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดีตามธรรมชาติ
2.วิธีจัดการเรียนการสอนแบบPBLโดยให้นักเรียนทำงานเป็นทีม การแบ่งกลุ่มทำงานเป็นทีมเท่ากับประกันว่านักเรียนทุกคนจะได้แบ่งหน้าที่และทำหน้าที่ของตนเองสำเร็จอย่างแน่นอน ความรู้สึกที่ว่าตนเองทำงานสำเร็จในทุกๆโครงงานจะเสริมสร้าง self-esteem และเสริมสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า(value)เป็นส่วนหนึ่งของทีม นั่นเท่ากับทำให้นักเรียนมีสุขภาวะทางใจ สังคม และปัญญาพร้อมกันทั้ง 3 มิติ
3.ความรู้พื้นฐานในวิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 4 วิชา คือ Health,Economics,Environment,Civil Society ร่วมกับ IT skill ที่ดีช่วยให้เด็กไทยมีความสามารถที่จะค้นคว้าและเรียนรู้วิธีที่จะดูแลสุขภาพตนเองด้วยตนเองอย่างรู้เท่าทัน เรียนรู้วิธีออมเงินอย่างชาญฉลาดและวิธีใช้จ่ายเงินที่เหมาะสม เรียนรู้ที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเพราะปัญหาใดๆ เช่น โลกร้อน หรือ ปัญหาประชากรล้นเกิน และเรียนรู้ความเป็นพลเมือง เคารพความแตกต่างและสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่างอย่างเป็นมิตร วิชาความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริงๆทั้ง 4 วิชาหากสามารถบูรณาการเข้าไปในกระบวนการเรียนการสอนด้วย PBL ย่อมทำให้เด็กไทยมีสุขภาวะดีหรือเรียนรู้ที่จะมีสุขภาวะดีได้ด้วยตนเองตลอดเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน