ข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม

สูติแพทย์จะให้ความเห็นได้มากกว่า ด้วยเหตุผลหลายอย่างคือ มีความรู้ในด้านนี้ มีประสบการณ์เพราะเจอคนไข้ในเรื่องนี้มาก และสูติแพทย์เองก็อาจจะมีความกังวลอยู่ลึกๆ ว่า กลัวจะมีคนมาออกกฎหมายบังคับการกระทำของสูติแพทย์

ถ้าเราจะแบ่งสิ่งที่เราคุยกันเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดของประเด็นต่างๆ ก็จะเห็นว่า รายละเอียดของประเด็นต่างๆ นี้สรุปยากมาก แต่ก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่าอาจจะมีกฎหมายในบางเรื่องก็ดี ในบางเรื่องก็ไม่น่ามีกฎหมาย บางเรื่องก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ากติกาที่ทำโดยองค์กรที่ไม่ใช่กฎหมาย รูปธรรมก็คือองค์กรวิชาชีพ แต่ก็มีคนพูดกันมากกว่าองค์กรวิชาชีพแปลว่าอะไร ข้อเสนอที่อาจจะสำคัญก็คือว่าองค์กรวิชาชีพ แต่ก็ต้องมีสร้างกันเป็นส่วนร่วม นี่เป็นข้อสรุปทั่วไปในเชิงเนื้อหา

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่ว่าด้วยตัวกลไก ซึ่งก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจพอสมควรทีเดียว

ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก มีการพูดเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาแต่เราก็ไม่ได้พูดกันมาก คือว่าถ้าเราจะต้องมาออกกติกาของสังคมในเรื่องอย่างนี้ อะไรคือเหตุผลที่เราต้องออกกติกาสังคม ซึ่งเมื่อตกลงเพื่อจะให้มีกติกาอะไรบางอย่าง เราอาจมีเหตุผลไม่เหมือนกัน เป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน ซี่งบางทีเราควรจะต้องตกลงเรื่องเป้าหมายและเหตุผลกันก่อนดีกว่า เวลาที่เรามีกติกาเราจะได้ใช้ได้ถูก ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะใช้ผิดได้ เพราะเป้าหมายคนละแบบ

สำหรับเรื่องเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงเหตุผลของการพยายามที่จะให้เกิดกติกาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในสังคม เช่นใครควรจะมีสิทธิเป็นพ่อเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน จะนับกันอย่างไร จะแบ่งสมบัติกันอย่างไร เข้าใจว่าจะนับถือกันอย่างไรด้วย ประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วเรื่องสิทธิที่ภายใต้ประเด็นที่เราคุยกันนี้ อย่างในกรณีอุ้มบุญเป็นตัวอย่างกับที่ทางสภาที่พยายามร่างกฎหมายอยู่ในขณะนี้เป็นการมองสิทธิเพื่อความสุขของสังคมหรือเพื่อแก้ปัญหาของปัจเจก คือการที่เรานับพ่อแม่กัน แล้วบอกว่าคนนี้เป็นพ่อแม่ตามกฎหมายหรือเป็นพ่อแม่บุญธรรมเรื่องอุ้มบุญที่เราคุยกันแล้วเราต้องไปแก้กฎหมายเพื่อให้มีพ่อแม่ตามกฎหมาย เป็นพ่อแม่ทางพันธุกรรม เราใช้หลักความสัมพันธ์ที่เป็นความสุข หรือว่าความสุขในครอบครัวเกิดจากวิธีการอย่างอื่น ไม่ได้เกิดจากฐานะทางกฎหมายว่าใครเป็นพ่อแม่ใครตามกฎหมายหรือตามบุญธรรม กรณีเช่นนี้เพื่อให้เห็นว่าบางทีที่เราออกกฎหมายมาเราอาจจะแก้อะไรได้บางอย่าง แต่เราอาจจะแก้บางอย่างไม่ได้

ตัวอย่างที่ยกมาในวันนี้ มี 2 ส่วน คือเรื่องตัวอ่อน กับเรื่องการเลือกพันธุกรรม ซึ่งตรงนี้นอกเหนือจากความพยายามที่จะพูดถึงกติกาอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมแล้ว ยังมีการตั้งคำถามกรายๆว่าเราควรจะมีกติกาหรือไม่ เพื่อให้สังคมมั่นใจว่าความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้จะก้าวไปพร้อมๆ กับสมดุลย์กับความสัมพันธ์ในสังคมเพราะถ้าเราไม่พูดถึงกติกาอะไรบางอย่างไว้ บางทีเวลาสังคมตามเทคโนโลยีไม่ทัน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเสมอคือสังคมปฏิเสธเทคโนโลยี ปฏิเสธความก้าวหน้าทางวิทยาการ เพราะว่าเราตามไม่ทัน เราจึงคิดว่าจัดการไม่ได้ เราในที่ว่านี้คือสังคม สังคมจัดการมันไม่ได้เทคโนโลยีนั้นก็จะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เราจึงควรตั้งกติกาไว้ก่อนจะดีหรือไม่ ถ้าเป้าหมายเป็นเช่นนี้เราจะต้องมีการใช้จินตนาการพอสมควรทีเดียว หลายอย่างเวลาที่ใครบอกว่าน่าจะเป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเช่นนี้ได้เราจะต้องมาคิดว่าเราจะมาจัดการกับมันอย่างไร คือถ้าเรามีเป้าหมายในการออกกติกาเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม การพยายามที่จะจินตนาการไปถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะเป็นตัวสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการการคิดการพูดคุย ก็มีที่คุยกันว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราฝันไปหรือเปล่าบางเรื่องเทคโนโลยีมันยังไปไม่ถึง บางท่านก็อาจจะเถียงอยู่กรายๆ ว่าบางเรื่องก็น่าคิดไว้ก่อนถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นจริงวันนี้แต่มันก็เป็นไปได้ก็ต้องคิดไว้ก่อนว่า เราจะมีกติกาหรือไม่มีกติกาเมื่อเวลานั้นมาถึงนั้น บางทีเราอาจจะต้องคิดกติกาไว้ก่อนเพราะว่าเราไม่อยากให้เทคโนโลยีถูกใช้ไปในทางพาณิชย์อย่างนี้ เป็นต้น การใช้ไปในทางพาณิชย์คือการใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือมีความคิดว่าจะต้องมีการแยก ART สำหรับบุคคลสำหรับปัจเจก หรือสำหรับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

สำหรับผมแล้วประเด็นเรื่องเป้าหมายผมคิดว่าเรายังพูดกันไม่ชัดเจนพอว่า เรามาออกกติกาเพื่ออะไร จากที่ฟังมาวันนี้แต่ก็มีคนพูดถึงกันอยู่ นอกเหนือจากนั้นก็มีการพูดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นอกเหนือจากเรื่องศีลธรรมอันดีของสังคม ก็จะมีการเสนอประเด็นเรื่องว่าออกกติกาเพื่อที่จะป้องกันการเอาไปถูกใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่เหลือก็เป็นหลักการทั่วไปที่พูดเมื่อไรก็คงถูกเมื่อนั้น คือว่ากติกาที่จะออกนี้ หลายคนเห็นตรงกันว่าจะต้องยืดหยุ่น ซึ่งทำให้เกิดข้อตามมาว่าออกเป็นกฎหมายแบบเข้าสภาต้องไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ก็แยกยากมากว่าอะไรที่ควรเป็นกฎหมายสภาอะไรควรจะเป็นอย่างอื่น เหตุผลที่ว่าควรจะยืดหยุ่นก็เพราะว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว ค่านิยมของสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย เราไม่รู้หรอกว่าครอบครัวที่อาจมีค่านิยมที่ไม่มีลูก และถ้าถึงวันนั้นแล้ว ART ก็อาจจะหมดความหมาย กติกาควบคุม ART อาจไม่จำเป็น คนที่ไม่มีลูกอาจจะเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุด และคุณหมอสูติฯที่มีเทคโนโลยีก็อาจจะตกงานไปโดยปริยายก็ได้ แต่สิ่งที่พูดนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นไปได้ง่ายๆ

เรื่องที่สามที่ชัดเจนมาก และมีการคุยกันมากก็คือ แพทยสภาอาจจะเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องทำหน้าที่นี้ แต่แพทยสภาคงต้องทำงานแบบสร้างการมีส่วนร่วม สำหรับผมที่เป็นกรรมการแพทยสภาเก่า และเป็นหมอที่ติดตามการคัดเลือกแพทยสภาในช่วงหลังๆนี้ ผมคิดว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะทุกวันนี้ในแพทยสภาเวลาเลือกกรรมการแพทย์สภามักจะพูดถึงปัญหาของวิชาชีพเสียส่วนมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะวิชาชีพถูกรุมเร้าด้วยปัญหาที่สังคมไม่เข้าใจวิชาชีพอยู่มาก และวิชาชีพก็ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่สังคมอยู่มากเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้แพทยสภาเป็นผู้ทำกติกากลางที่เอาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมนี้กลไกของแพทย์สภาจะต้องดีมาก แต่ดูเหมือนข้อสรุปนี้ชัดเจนทั้งเช้าและบ่ายก็จะมีการพูดพาดพิงถึงประเด็นนี้อยู่เป็นระยะๆ ก็คงจะต้องฝากไปที่แพทยสภา

ประเด็นต่อมาคือประเด็นรายละเอียดบางประเด็น ประเด็นหนึ่งก็คือประเด็นว่าด้วยตัวอ่อนกับความเป็นทรัพย์สินที่มีชีวิต ผมไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร แต่เข้าใจเอาเองว่าเราต้องการการไปตีความหรือคิดถึงฐานะของตัวอ่อนในบริบทใหม่ ตอนที่ผมได้คุยกับหรือตอนที่ได้ยินนักกฎหมายพูดถึงเรื่อง ตัวอ่อน กับ แนวคิดเรื่องทรัพย์สินมีชีวิตนี้ ผมรู้สึกว่าแปลกดี เพราะเรามีแค่ 2 อย่างคือ ความเป็นคน กับ ความเป็นทรัพย์สิน และตัวอ่อนก็เป็นอะไรตรงกลาง เราจึงต้องอิงคน หรือ อิงทรัพย์สิน เพราะกฎหมายไม่มีวิธีจัดการกับชีวิต แต่นี้ไม่นับข้อเท็จจริงว่าตัวอ่อนคือชีวิตหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องเข้าไปช่วยกันคิด แต่อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าการเสนอว่า ตัวอ่อนนี้เป็น potential life นี้เป็นข้อเสนอวิธีมองที่น่าสนใจมาก แต่คงต้องการการเอาไปตีความอีกมากว่าแปลว่าอะไร ทำลายได้หรือไม่ ซื้อขายได้หรือไม่ เรียกร้องมูลค่าได้หรือไม่ เป็นประเด็นทางวิชาการที่ท้าทายและเป็นเรื่องที่สังคมอาจจะต้องเข้าไปคุยกันต่อ

อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่หลายคนพูดขึ้นมาในที่ประชุม และเป็นประเด็นที่จะต้องคุยกันต่ออีกมากคือการเข้าถึงเทคโนโลยี ทั้ง 2 ประเด็น คือ (1) ถึงมีปัญญาจะซื้อบริการก็ไม่ควรจะขายบริการให้กับคนบางประเภท ซึ่งมีการพูดกันอยู่มากในที่ประชุม และ (2) เทคโนโลยีเช่นนี้ควรจะเปิดเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้อาจารย์แสวงบอกไว้ว่าในการวิจัยของอาจารย์พบชัดเจนว่าเรื่องนี้ ไม่ควรที่จะเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่ไม่มีใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกันในที่ประชุม แต่เข้าใจว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคตต่อไปก็ได้

ในที่สุดข้อสรุปที่สำคัญที่สุดก็คือ การช่วยไปทำให้สังคมได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ เรื่องนี้ก็มีการอ้างถึง มสช. มากผมจึงขออนุญาตเล่าให้ฟังว่ามูลนิธิฯ โดยโครงการชีวจริยธรรมนี้คงจะมีความสามารถที่จะสร้างให้เกิดการพูดคุยเรื่องนี้ต่อเนื่องได้อีกแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เราจะดีใจมาก ถ้าแพทยสภาจะเข้ามาดูแลนับจากวันนี้ต่อไป หมายถึงว่าถ้าแพทยสภาสามารถที่จะจัดเวทีเปิดวงให้คนมาคุยกัน ซึ่งก็แน่นอนว่าเราจะนำเรื่องนี้เสนอแพทยสภา จากที่ประชุมวันนี้ผมเข้าใจว่ากลไกอื่นๆ อย่างรัฐสภาเองก็คงจะพยายามทำเพราะก็มีคนที่ร่างกฎหมายนี้อยู่ และพยายามที่จะเปิดเวทีนี้อยู่ตามสมควร การเสนอไปถึงขั้นว่าสิ่งที่ควรทำอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่การมาจัดคุยกันเฉยๆ ก็คือการจัดทำ ศัพทานุกรม ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ควรจะทำเพราะก็มีหลายท่านที่ท้วงติงการใช้ถ้อยคำ ซึ่งสำคัญมากคือต้องหาวิธีบอกให้คนเข้าใจหรือมีภาพที่เหมาะสมกับความเป็นจริง อย่างเช่น คำว่า “ตัวอ่อน”

จากการประชุมนี้จะเห็นได้ว่ามีรายละเอียดข้อเสนอแนะมากมายว่าอะไรตรงไหนควรออกเป็นกฎกติกาแบบไหนอย่างไรต่อไป และขอไม่สรุปในส่วนนั้น

จึงขอสรุปไว้เช่นนี้ ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกัน และหวังว่าจะมีกลไกอื่นๆ ในสังคมมาช่วยกันดูแลเรื่องนี้ต่อไป และทำให้การคิดการวางกติกาเรื่องนี้เกิดเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์มากขึ้นในระยะยาว