อุ้มบุญ (53) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 8

การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม

วันที่ 22 ตุลาคม 2547

จัดโดยโครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่

เผยแพร่ 1 ธันวาคม 2557

 

ข้อสรุปประเด็นที่ 3 การตั้งครรภ์แทน

กลุ่มที่ 1

ประเด็น: ขอบเขตในการตั้งครรภ์แทน

การตั้งขอบเขตและกำหนดว่าจะต้องเป็นคู่สามีภรรยา อาจจะเกิดปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนภายหลัง เพราะฉะนั้นกลุ่มก็เห็นว่า เป็นคู่สมรสคู่ไหนก็ได้ที่แสดงความจำนงต้องการมีบุตร

ตามกฎหมายและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน หลายคู่ที่เป็นสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่มีบุตร ในกรณีเดียวกันว่าจำเป็นจะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็น

ประเด็นว่าบุตรที่เกิดมาจะเกิดปัญหาหรือไม่ ในกลุ่มคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะว่าอย่างไรก็ตามบุตรที่จะออกมาก็เป็นบุตรที่มีบิดามารดาตามกฎหมายอยู่แล้ว ตามสูติบัตรก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ประเด็น: คุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์

คุณสมบัติของผู้ตั้งครรภ์ หากกำหนดให้เป็นญาติสนิทก็ค่อนข้างจำกัดมาก อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ คุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์ควรจะต้องมีการประเมินว่าคนคนนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีปัญหาสภาพจิตหรือไม่ จึงต้องควรมีองค์กรหรือหน่วยงานมาทำหน้าที่ประเมินคุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อมาในอนาคต

ประเด็น: บิดา-มารดาตามกฎหมายและการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย

ควรต้องเป็นการแสดงเจตจำนงตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการทำการตั้งครรภ์แทน คือมีการ เช่น สัญญาหรือมีข้อตกลงที่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายรองรับในเรื่องการแสดงเจตคติของคนที่แสดงเจตจำนงว่าจะทำการตั้งครรภ์แทน

กลุ่มที่ 9

ประเด็น: ขอบเขตในการตั้งครรภ์แทน

เงื่อนไขที่ 1 ควรจำกัดเฉพาะคู่สามีภรรยา จะโดยกฎหมายหรือโดยข้อเท็จจริงก็ได้ และเงื่อนไขที่ 2 คู่สามีภรรยาควรจะต้องมีข้อบกพร่องที่ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติ

ในประเด็นที่จะอนุญาตให้ผู้ที่มีสามีภรรยาที่เป็นเพศเดียวกัน หรือสาวโสด ที่อยากจะมีคนตั้งครรภ์แทนให้ยังไม่อยากให้เปิดโอกาสเพราะว่าเมื่อเปิดช่องตรงนั้นแล้วจะควบคุมได้ยาก และหากยึดหลักของธรรมชาติที่ว่าเราจำกัดเฉพาะคู่สามีภรรยา ชายหญิงที่ธรรมชาติควรจะมีบุตรได้ แต่เนื่องจากธรรมชาติไม่มีจึงต้องมาทดแทนด้วยเทคโนโลยี แต่คนที่เป็นผู้ชายผู้ชาย หรือผู้หญิงผู้หญิง ซึ่งโดยธรรมชาติจะไม่เกิดบุตรอยู่แล้ว ก็ไม่คิดว่าเทคโนโลยีนี้ควรจะมาช่วย

ประเด็น: คุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์

คุณสมบัติของผู้ที่จะมาตั้งครรภ์แทน เนื่องจากโดยเหตุผลที่ไม่อยากให้มีการทำสัญญาจ้างที่มีค่าตอบแทนเป็นเงินทอง ซึ่งเรื่องของธุรกิจ จึงจำกัดให้ในกลุ่มของคนที่เป็นญาติพี่น้องเท่านั้น ซึ่งญาติพี่น้องก็ควรจะเป็น level เดียวกัน คือ พี่หรือน้อง

มีคนเสนอว่าให้คุณแม่สามีหรือหลาน คิดว่าไม่เหมาะสม ทางสังคมอาจจะมีปัญหา จึงควรจำกัดองในกลุ่มญาติที่เป็น level เดียวกัน คือ พี่หรือน้อง ส่วนกรณีที่ไม่มีพี่น้องจะทำอย่างไรดี ก็จะมีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน แต่หากไม่มีพี่น้องตั้งครรภ์ให้ ก็สามารถใช้ช่องทางอื่น เช่น มีบุตรบุญธรรมทดแทนได้

ประเด็น: บิดา-มารดาตามกฎหมายและการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย

คนที่เป็นบิดามารดาตามกฎหมาย เห็นพ้องว่าน่าจะดูที่เจตนาหรือ original intention ว่าในเริ่มต้นที่จะมีการทำอุ้มบุญนี้เกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากมีสามีภรรยาที่ต้องการจะเป็นพ่อแม่แล้วก็มีผู้ตั้งครรภ์แทน เราก็ควรให้สิทธิตามกฎหมายกับเจตนาซึ่งเริ่มต้น

ดังนั้นผู้ที่มาตั้งครรภ์แทนถ้าในเจตนาเริ่มต้นไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแม่ ก็ไม่ควรมีสิทธิ กลับมาดูที่เจตนา คราวนี้ถามว่าบิดามารดาตามที่กฎหมายรับรองควรจะมีได้มากกว่า 1 คู่หรือไม่ พิจารณาโดยธรรมชาติของมนุษย์ก็จะมีพ่อแม่ได้คู่เดียวเท่านั้น ก็ไม่ควรจะเปิดโอกาสให้มีได้มากกว่า 1 คู่ ถึงแม้จะมีความเห็นว่าถ้ามีพ่อแม่มากกว่า 1 คู่อาจจะมีประโยชน์ในเรื่องการ support ทางสังคมหรือเศรษฐกิจต่างๆ จะทำให้เป็นประโยชน์แก่เด็กมากขึ้น แต่เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือก็สามารถช่วยได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องเป็นพ่อแม่ตามกฎหมาย พ่อแม่ที่มีสิทธิตามกฎหมายควรมีได้เพียง 1 คู่เท่านั้น เพื่อให้เหมือนธรรมชาติ

กลุ่มที่ 7

ประเด็น: ขอบเขตในการตั้งครรภ์แทน

ขอบเขตการตั้งครรภ์แทนมองไปที่ผู้หญิงก่อนเลย โดยขอแยกเป็นสองกรณีคือ

กรณี 1 ผู้หญิงไข่ปกติคือมีไข่แต่มดลูกผิดปกติ

กรณี 2 ผู้หญิงมีทั้งไข่และมดลูกที่ปกติ แต่ไม่ต้องการตั้งครรภ์เอง อยากจะให้คนอื่นตั้งครรภ์ให้

กรณีที่ 1 เมื่อหญิงคนหนึ่งกับสามีอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน แต่ไม่สามารถมีลูกได้เพราะปัญหาทางด้านสุขภาพด้วยที่ตนเองไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ตรงนี้ถามว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจว่า คนคนนี้ควรใช้การตั้งครรภ์แทน ทางกลุ่มได้แตกประเด็นเป็นหลายอย่าง บางท่านเห็นว่าการที่คนเราจะอยากมีลูกเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าไม่สามารถมีลูกได้เพราะมดลูกตัวเองไม่ดี มันไม่ใช่ความผิดของเขา เขาควรจะสามารถเลือกให้คนอื่นตั้งครรภ์แทน แต่บางคนในกลุ่มเห็นว่าจำเป็นที่เราต้องมีกลุ่มคนหรือคนนอกมาดูว่าสามีภรรยาดังกล่าวอยากจะตั้งครรภ์โดยอุ้มบุญ โดยจะต้องมองลึกลงไปถึงคุณสมบัติต่างๆ เช่น อยู่กินกันมานานแค่ไหน มีความสามารถที่จะเลี้ยงดูเด็กได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของเด็กที่จะเกิดขึ้นมา ตรงนี้ก็มีการพูดคุยกันแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป

กรณีที่ 2 คือกรณีที่ผู้หญิงไข่ปกติมดลูกปกติ แต่ไม่อยากท้องเอง เช่น ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้จดทะเบียน ไม่อยากตั้งครรภ์ กรณีนี้คือมีความเห็นเดียวกันว่า ไม่ควรทำ แต่เหตุผลไม่ชัดเจน

ประเด็นต่อไปเป็นเรื่องของคู่สามีภรรยาต้องตามกฎหมายหรือไม่ ชัดเจนว่า ไม่จำเป็น ขอแค่เป็นสามีภรรยา

ประเด็นต่อไปคือ ข้อมูลความรู้ของเรื่องอุ้มบุญและเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งต่อแม่ผู้ที่เป็นผู้บริจาคไข่ และต่อผู้ที่รับไข่ องค์ความรู้เหล่านี้เห็นว่า ควรจะมาจากหลายๆ แหล่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการแพทย์เอง ทางราชวิทยาลัยหรือผู้ที่เคยทำการอุ้มบุญมาแล้ว ทั้งผู้ที่ให้เขาอุ้มและอุ้มเองด้วย ให้คนกลุ่มนี้มารวมกันเพื่อจะได้สร้างสรรค์ความรู้เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการอื่นได้ทราบความทุกข์ ผลดีผลเสียต่างๆ

ประเด็น: คุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์

คุณสมบัติของผู้รับตั้งครรภ์ เรามองอยู่สองอย่างคือ ผู้รับการตั้งครรภ์ที่เป็นญาติ กับบุคคลภายนอกไปเลย ซึ่งเห็นว่าทั้งสองส่วนน่าจะทำได้ แต่คงต้องไปที่ผู้มารับตั้งครรภ์ คือผู้ที่จะรับอุ้มบุญ ต้องให้รู้ด้วยว่า การรับอุ้มบุญมีความเสี่ยงต่างๆ ในการตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นทางกลุ่มเห็นว่า ควรจะมีระบบระเบียบแบบแผนที่จะดูว่า คนที่จะมารับอุ้มบุญ สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร อุ้มได้ไหม ไม่มีโรคประจำตัว คืออาจจะต้องตรวจร่างกายต่างๆ

คุณสมบัติประการที่สอง มีผู้เสนอว่าน่าจะเป็นผู้ที่เคยมีลูกแล้ว เพราะเห็นว่าคนที่ยังไม่เคยมีลูกไม่เคยแต่งงาน อาจจะเกิดปัญหาในอนาคต หรือแม้แต่คนที่แต่งงานมาแล้ว ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีควรจะมีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้

กลุ่มที่ 4

ประเด็น: ขอบเขตในการตั้งครรภ์แทน

เห็นด้วยในเรื่องการตั้งครรภ์แทนได้

แต่น่าจะให้เปลี่ยนบิดามารดาตามกฎหมายเป็นเจ้าของไข่ที่บริจาคให้ โดยคิดว่ากรณีนี้น่าจะมีกฎหมายรองรับ ให้ชัดเจนว่าสามารถทำได้ โดยก่อนที่จะตั้งครรภ์แทน ควรทำข้อตกลงระหว่างคนที่จะอุ้มบุญกับคนที่เป็นเจ้าของไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสามีภรรยาที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์จริงๆ ตามธรรมชาติ และแม้ว่าได้รับการรักษาก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ