หนีไม่พ้น อยากให้มีงานดีๆ ทำ มีเงินใช้ แข็งแรงไม่ป่วยไม่ไข้ ไม่มีศัตรู มีเพื่อนดี ปลอดภัย มีพระคุ้มครอง เอาตัวรอดได้ หรือถามคุณครูว่า เราอยากเห็นลูกศิษย์เติบโตไปเป็นคนแบบไหน คำตอบจะวนเวียนอยู่ที่ อยากให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นเด็กดี มีกระบวนการคิดดี คิดวิเคราะห์เป็น มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสุขกับการเรียน พึ่งตนเองได้ ฉลาดมีไหวพริบ รู้หน้าที่มีวินัย
พอได้ฟัง ผู้เขียนประหวัดถึงเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่คุณครูในท้องถิ่นห่างไกลต่างเผชิญกับนักเรียนในชนบท ตั้งแต่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เหนียมอาย ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการคิดวิเคราะห์ กระทั่งกล้าคิดก็ยังไม่กล้า ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถามไม่เป็น ไม่ช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อน ไม่ตั้งใจเรียน ป่วนเพื่อน ทำงานร่วมกับเพื่อนไม่ได้ สมาธิสั้น ไปจนกระทั่งถึงมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่อยากมาโรงเรียน หนีเรียน สูบบุหรี่ ก้าวร้าว กระทำรุนแรงต่อเพื่อนนักเรียน มีเพศสัมพันธ์ และอื่นๆ อีกสารพัด
“…เด็กของเราไม่ค่อยสื่อสารกับครู พื้นฐานโดยทั่วไปเด็กทุกคนกลัวครูหมด ผู้ปกครองก็จะมาบอกว่า ‘ครูช่วยบอกลูกหน่อย ลูกเขาจะเชื่อครู’ และเวลาทำงานศิลปะ เด็กก็จะวาดๆ แต่ไม่มีเสียง ไม่มีกล้าพูด ‘หนูพูดดังๆ หน่อยนะ ครูไม่ได้ยินที่หนูพูด’ ก็เลยพาเพื่อนมาให้ช่วยฟังหน่อย ‘ครู หนูก็ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร’ เราก็เลยรู้สึกว่า ทำไมเด็กไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องความเกเร ไม้อ่อนไม้แข็ง ครูลองมาหมดแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ …”
หรือจากรายงานการวิจัยและข่าวตามสื่อต่างๆ ที่ผู้เขียนยอมรับว่า เด็กไทยเราเรียนหนังสือกันหนัก หลังเลิกเรียนตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ยังต้องไปกวดวิชา เรียนแบบท่องจำ เพื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในโรงเรียนชั้นนำตามหัวเมืองใหญ่ หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำเกรดได้ดี นักเรียนส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัดมักเกรดไม่ดีและถูกตราว่าเรียนอ่อน เมื่อเวลาผ่านไปทำให้รู้ว่า กลุ่มเกรดดีเมื่อเรียบจบออกมาเป็นบัณฑิต ก็ไม่ได้ประกันว่าจะมีชีวิตที่ดี ส่วนใหญ่ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน กลุ่มที่ออกจากโรงเรียนก่อน ม.๖ เพื่อไปประกอบอาชีพ ก็ไปเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ส่วนกลุ่มที่เรียนอ่อนตั้งแต่ชั้นประถม พอโตเป็นวัยรุ่นเรามักเห็นมากมายเดินเข้าสู่อบายมุข ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไร้คุณภาพ
นี่คือ ความจริงของสถานการณ์การศึกษาไทย
ภาพที่อยากให้ไปเป็นกับสภาพจริงของนักเรียนไทยทุกวันนี้ ช่างแสนห่างไกลกันลิบลับ แม้ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามานานกว่า ๒๐ ปี ทั้งปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปสื่อการเรียนการสอน ปฏิรูปการสอบและวัดผล แต่ทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดเดิม คือ ครูสอนเนื้อหาและนักเรียนเรียนแบบท่องจำ
จะว่าไปแล้วผู้เขียนหรือกระทั่งผู้อ่านเอง มีงานดีๆ ทำ ต่างเรียนหนังสือแบบท่องจำมาเช่นเดียวกัน แต่นั่นคือยุคสมัยศตวรรษที่ ๒๐ ที่ความรู้อยู่ในหนังสือ อยู่ในห้องสมุด ใครพอมีสตางค์ก็ไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน การศึกษาผลิตคนเพื่อทำงานเฉพาะด้าน งานไม่ซับซ้อน ปลายๆ ศตวรรษใครมีคอมพิวเตอร์ใช้ก็นับว่าหรู ต่างจากสมัยนี้หรือศตวรรษที่ ๒๑ ผู้คนเดินทางข้ามทวีปไปทั่วโลกได้แสนสะดวกสบาย และง่ายกว่าเดิม มีอินเทอร์เน็ต มี wifi ใช้ ทำให้ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายดายและฉับไว ข้อมูลความรู้มีมากมายมหาศาล อยู่บนมือถือ อยู่บนฝ่ามือเด็ก ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งห้องน้ำ โลกอันกว้างใหญ่ถูกย่อขนาดลง ด้วยความก้าวหน้าของสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เราอย่าลืมว่า ทั้งหมดมาพร้อมกับด้านมืด อบายมุข เว็บโป๊ พนันออนไลน์ โฆษณาชวนเชื่อมีทั้งจริงและแอบแฝง ชาติพันธุ์และความเห็นต่างผุดขึ้นมากมายตามยุคข้อมูลข่าวสาร ผนวกกับความผันผวนของสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะโลกร้อน
เด็กไทยจะรับมือศตวรรษใหม่นี้อย่างไร ??? หากยังคงเรียนหนังสือแบบท่องจำเช่นเดิม