ร้อยละ 95 ยังคงติดต่อกับ SM ในระดับหนึ่งและคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้
van den Akker 2000 23พบว่า หญิงที่ตั้งใจจะมาเข้า surrogacy 28 ใน 29 ราย บอกว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกทราบ ( ในจำนวนนี้ หากสามารถใช้ไข่ของตนเองได้ จะบอก 15 ใน 16 ราย แต่หากไม่สามารถใช้ไข่ของตนเองได้ จะบอกทั้ง13 รายที่เหลือ ) แต่ถ้าเปลี่ยนไปเลือกการรับบุตรบุญธรรมจะบอกเพียง 20 ใน 29 ราย และจะเหลือบอกเพียง 18 รายหากเลือกใช้ IVF ที่ต่ำที่สุดคือ ถ้าเลือกการรับบริจาคไข่หรือสเปอร์ม
van den Akker 200133รายงานว่า ร้อยละ 65.5 ของ CC แจ้งว่า จะบอกกับเด็กว่าเขาเกิดมาจาก surrogacy ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของพ่อแม่ที่มีลูกเกิดจากการรับบริจาคสเปอร์ม คือร้อยละ 42.5 แต่ต่ำกว่ากลุ่มที่ลูกเกิดจาก IVF คือร้อยละ 77.8 อีกการศึกษาหนึ่งที่มีผู้หญิง 42 คนที่มารับการรักษาการมีบุตรยากที่คลินิก ร้อยละ 42.9 บอกว่าจะบอกลูก ในขณะที่ร้อยละ 35.7 จะไม่บอก (ที่เหลือ ไม่แน่ใจ) ซึ่งก็พบอีกเช่นกันว่า อัตราผู้จะบอกใกล้เคียงกับการรับบริจาคสเปอร์ม และต่ำกว่า IVF อันอาจสะท้อนว่า การเป็นหมันของเพศชายเป็นเรื่องสำคัญ และต้องการเก็บเป็นความลับมากกว่า การเป็นหมันในเพศหญิง น่าสนใจว่า เมื่อหญิงเหล่านี้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการ surrogacy เรียบร้อยแล้ว ความต้องการบอกลูกจะเป็นร้อยละ 100 ดังที่ Blyth รายงานไว้
Jadva 2003 พบความแตกต่างในความต้องการของ SM ที่จะให้เด็กทราบวิธีการเกิดของเขา ระหว่างกลุ่ม SM ที่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับเด็ก ( traditional surrogacy) กับกลุ่มที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง (gestational surrogacy ) คือ กลุ่มแรกต้องการให้CC แจ้งให้เด็กทราบถึงร้อยละ 90 ( 17 จาก 19 ราย ) ที่เหลือตอบว่า ไม่แน่ใจ ในขณะที่กลุ่มหลังซึ่งไม่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องต้องการให้บอกเด็กเพียงร้อยละ 60 ( 9 จาก 15 ราย ) อีกร้อยละ 40 ไม่แน่ใจ
Braverman & Corson 2002 34 ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเจตคติและความเชื่อว่า พันธุกรรม การตั้งครรภ์ หรือสิ่งแวดล้อม มีผลกับเด็กอย่างไร ในผู้บริจาคไข่ ประมาณ 330ราย กับ SM 110 ราย ในสหรัฐอเมริกา และมีผลการศึกษาที่น่าสนใจส่วนหนึ่งคือ SM มักมีเจตคติที่เชื่อว่า พันธุกรรมส่งผลต่อทั้งน้ำหนักตัว ระดับเชาว์ปัญญา ของเด็กมากกว่าสิ่งแวดล้อม ต้องการให้เด็กได้ทราบวิธีการเกิด มีสิทธิตัดสินใจว่าจะพบปะตนในอนาคตหรือไม่ และยังมีความคิดถึงมีการแสดงความเต็มใจที่จะพบเด็กในอนาคต สูงกว่ากลุ่มผู้บริจาคไข่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากงานวิจัยที่ยกมากล่าวข้างต้นทั้งหมด พอสรุปได้ว่า ก่อนการทำ surrogacy CC ส่วนมาก เห็นด้วยกับการจะบอกเด็กถึงการเกิดของเขา แต่อาจยังไม่มีแนวทางที่จะช่วยให้ CC ได้ทำอย่างที่คิดอย่างสบายใจว่า จะไม่มีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขากับเด็ก ในขณะที่ SM โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพันธุกรรมร่วมกับเด็กใน traditional surrogacy มีความต้องการที่จะให้เด็กได้ทราบว่าตนเป็น SM
ดังนั้น สิ่งที่ Ciccarelli 2005 1คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษามากกว่าก็คือ หาวิธีที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะเล่าให้เด็กทราบ แค่ไหน และเมื่อเด็กอายุเท่าไร ประเด็นย่อยของกรณีนี้ก็คือ เด็กที่เกิดจาก traditional surrogacy กับที่เกิดจาก gestational surrogacy จะมีสภาพจิตต่างกันหรือไม่ หากได้ทราบการเกิดของเขาว่า พันธุกรรมของเขาครึ่งหนึ่งมาจาก SM นอกจากนี้ ควรมีข้อแนะนำเบื้องต้นด้วยว่า สมควรให้พบกับ SM หรือไม่ มากน้อยบ่อยครั้งเพียงใด และการที่เด็กยังคงได้พบกับ SM ต่อมาเรื่อยๆจะส่งผลกับพัฒนาการทางจิตใจของเด็กรวมทั้งครอบครัวของ CC ทุกคนอย่างไร เช่น เด็กจะมีปฏิกริยาเช่นเดียวกับกรณีการยกให้เป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ที่เด็กหลายคนรู้สึกว่า แม่จริงๆไม่ต้องการตน ( อ่านการอภิปรายในหัวข้อ การให้คำแนะนำปรึกษาในการทำ surrogacy )
การเป็นพ่อแม่ของกลุ่มรักร่วมเพศ Gay/lesbian parenting 35-37
ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ชายและหญิงรักร่วมเพศได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้น สามารถเปิดเผยเรียกร้องสิทธิต่างๆให้เท่าเทียมกับชายหญิงทั่วไป การได้เป็นบิดามารดาก็นับเป็นสิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้บางรายต้องการอย่างมาก ชายรักร่วมเพศหลายรายได้หันไปให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนแบบ traditional gestation แทนการต้องมีภรรยาจริง ถึงแม้ว่า จะยังไม่มีกฎหมายประเทศใดยอมรับให้มีการรับบุตรบุญธรรมโดยบุคคลที่ไม่มีคู่สมรสก็ตาม เนื่องจากยังมีความเชื่อว่า เด็กอาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมที่ดีเท่ากับการมีทั้งบิดามารดาครบสองเพศ เด็กอาจถูกมองว่ามีปมด้อยที่มี “พ่อแม่” เป็นชายทั้งคู่ และอาจเกิดมีปัญหาในการปรับตัว มีอารมณ์หรือพฤติกรรมผิดปกติ หรืออาจกลายเป็นรักร่วมเพศเหมือน “พ่อแม่” ในที่นี้ จะทบทวนเอกสารหลักฐานการวิจัยในประเด็นต่างๆ 3 ประเด็นคือ
- เจตคติของการเป็นผู้ปกครองของชายรักร่วมเพศ
- อัตตาธิปไตยทางเพศและ การพอใจในเพศตรงข้ามของเด็ก
- การปรับตัวของเด็กในด้านอารมณ์และสังคม
เจตคติของการเป็นผู้ปกครองของชายรักร่วมเพศ
แม้ว่าสังคมและกฎหมายจะมีความเชื่อว่า กลุ่มรักร่วมเพศมีความแตกต่างจากผู้ปกครองทั่วไป และจะส่งผลต่อเจตคติการเลี้ยงดูบุตร แต่ผลจากงานวิจัยเบื้องต้นที่พบก็คือ ชายรักร่วมเพศกลับมีความใส่ใจรักเลี้ยงดูบุตรในด้าน การส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง การเล่นหย่อนใจ และจัดการกับปัญหาการเป็นผู้ปกครองทั่วไปได้ไม่ต่างจากพ่อแม่ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบในด้านการยึดถือระเบียบวินัยตามคำแนะนำในการเลี้ยงดูบุตรต่างๆ ความพร้อมในการให้คำแนะนำ การส่งเสริมพัฒนากระบวนความคิด และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของลูกแล้ว ชายรักร่วมเพศที่เป็นผู้ปกครองกลับปฏิบัติได้เหนือกว่าชายที่เป็น “พ่อ” ทั่วไปเสียอีก แต่หากมองภาพรวมแล้ว ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในวิถีทางการเลี้ยงดูบุตร