ร้อยละ 52 ที่เลือก surrogacy เนื่องจากไม่มีทางมีบุตรด้วยวิธีอื่นแล้ว เช่น ไม่มีมดลูก แต่ไม่เลือกการรับบุตรบุญธรรมเพราะต้องการมีลูกที่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกัน ส่วนอีกร้อยละ 14 ล้มเหลวในการทำ IVF มาแล้ว ร้อยละ 7 ล้มเหลวในการขอรับบุตรบุญธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 59 ที่เคยผ่านการทำ surrogacy มาแล้วบอกว่า การเจรจาตกลงกับ SM เป็นเรื่องยุ่งยาก ร้อยละ 23 กลัวว่า SM อาจไม่มอบลูกให้ตนเมื่อคลอด จะเห็นได้ว่า surrogacy อาจไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้นๆของคู่สมรสทั่วไปที่ประสบปัญหาแต่อย่างใด
Ragone 1996 18รายงานว่า เหตุผลหลักที่ CC เลือกการทำ surrogacy มากกว่าการรับบุตรบุญธรรมคือ ต้องการมีบุตรที่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับตน รายได้เฉลี่ยของคู่ CC คือสูงกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ทั้งฝ่ายสามีและภรรยาของคู่ CC ซึ่งมักรู้สึกอึดอัดในช่วงแรกๆของการตัดสินใจ มักพยายามหาเหตุผลมาบอกตัวเองที่ได้เลือกกระบวนการนี้ ที่อาจค้านกับความคิดของสังคมอยู่ โดยคิดว่า
- ผู้ชายไม่ได้มีบทบาทของการตั้งครรภ์ ( เปลี่ยนจากการมีลูก ) เลยตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นเรื่องของผู้หญิงทั้งหมด ดังนั้น ผู้หญิงคนไหนก็ไม่ต่างกันที่จะตั้งครรภ์มีบุตรของเขาจากสเปอร์มของเขา ( คล้ายกับการมาเน้นความเป็นพ่อทางชีววิทยา เหนือแนวคิดทางครอบครัวตามสังคมเดิม)
- การเลือกแบบนี้ทำให้ตนได้ลูกที่เป็นลูกทางกรรมพันธุ์ของตนจริงๆ
- สำหรับผู้หญิง บทบาทในการปฏิสนธิ การตั้งครรภ์และคลอด ของเด็กในผู้หญิงไม่ว่าจะเกิดในตัวใครไม่สำคัญเท่า “ความตั้งใจและประสงค์เริ่มต้น” ของฝ่ายภรรยาของ CC ที่อยากมีลูก ( ลดความสำคัญในความเป็นแม่ในทางชีววิทยาลง ) การใกล้ชิดกับ SM ในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด สามารถชดเชยความรู้สึกเป็นแม่ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์เองได้
ความคิดเหล่านี้ของทั้ง SM และ CC มักได้รับอิทธิพลมาจาก self-help group ที่จัดขึ้นโดย agency
Klienepeter 2002 24พบว่า CC มักมีรายได้ดีมากกว่า 80000 เหรียญสหรัฐต่อปี และให้เหตุผลในการเลือกทำ surrogacy เช่นเดียวกับการศึกษาอื่น คือ ต้องการมีลูกที่มีพันธุกรรมของตน เกือบทั้งหมดพอใจกับความสัมพันธ์ที่มีกับ SM เว้นแต่บางครั้งที่จะไม่พอใจหากเห็นว่า SM ไม่ดูแลสุขภาพครรภ์เท่าที่ควร
Hughes 1990 ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของคู่สมรสที่เลือกรับบุตรบุญธรรม ( 42 ราย )กับคู่ที่เลือกทำ surrogacy ( 53 ราย ) และมีกลุ่มควบคุม 20 ราย พบว่าทั้งหมดมีระดับ self –esteem การศึกษาไม่ต่างกัน แต่คู่เลือกทำ surrogacy มักจะอายุสูงกว่า รายได้มากกว่า และมีโอกาสเป็น Catholic มากกว่า1
แม้จะไม่สามารถค้นหาการศึกษาวิจัยที่เจาะจงเกี่ยวกับสภาพจิตใจของคู่ CC ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการ surrogacy ได้ แต่อาจอนุมานจากงานวิจัยที่แสดงผลไว้ในหัวข้อ สภาพทางจิตใจของคู่สมรสที่ไม่มีบุตร ได้ว่า คู่เหล่านี้มีอัตราการมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้มากกว่าประชากรทั่วไป หรือผู้ที่สามารถตั้งครรภ์โดยธรรมชาติได้
โดยสรุป ไม่พบความแตกต่างของสภาพทางจิตในคู่ที่เลือกทำ surrogacy เพียงแต่จะมีอายุและรายได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า คนที่มีฐานะการเงินที่ดีเท่านั้นที่สามารถเลือกเข้ารับบริการชนิดนี้ได้
ปฏิกิริยาของครอบครัวและเพื่อนของ SM
จากการที่รายงานของทั้ง Ciccarelli 1997 19และ 2002 1Jadva 2003 20มีผลสอดคล้องตรงกันว่า SM ส่วนใหญ่ (Baslington 14 ใน 17 ราย และ Jadva 32 ใน 34 ราย ) เคยมีบุตรของตนเองตั้งแต่ 1 ถึง 4 คน และมีครอบครัวหรืออยู่กับคู่ของตนอยู่ ทำให้มีความน่าสนใจว่า ครอบครัวของ SM จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการที่คู่ หรือภรรยา หรือแม่ของตน ไปรับเป็น SM ให้คู่ที่สัญญากันไว้
Jadva 2003 20รายงานว่า SM ร้อยละ 97 ได้คุยเรื่องนี้กับครอบครัวก่อน ( อีกร้อยละ 3 อยู่คนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ) โดยในช่วงแรก ครอบครัวร้อยละ 2 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 48 สนับสนุน ส่วนอีกร้อยละ 48 เป็นกลางหรือรู้สึกทั้งสองอย่างปนๆกัน แต่เมื่อสัมภาษณ์อีกครั้ง 1 ปีหลังการคลอดพบว่า ร้อยละ 76 เห็นด้วย เหลือเพียงร้อยละ 3 ที่คัดค้าน
ส่วนกับคู่หรือสามีนั้น SM ร้อยละ 57 แจ้งว่า คู่หรือสามี แสดงการสนับสนุนตั้งแต่ต้น ร้อยละ 24 เป็นกลางๆหรือรู้สึกปนๆกัน มีร้อยละ 19 ที่ไม่เห็นด้วย และเมื่อสัมภาษณ์ SM ซ้ำหลังการคลอด 1 ปี พบว่า คู่หรือสามีของ SM ร้อยละ 96 รู้สึกดีกับการที่ SM ได้ทำ surrogacy และไม่พบว่าคู่หรือสามีของ SM คนใด จะแสดงการคัดค้านเลย SM ร้อยละ 87 บอกว่า คู่หรือสามีของตนให้การดูแลตนดีระหว่างกระบวนการทั้งหมด
SM ร้อยละ 90 เล่าเรื่องการรับตั้งครรภ์ให้ลูกของตนทราบตั้งแต่ต้น ที่เหลือบอกว่า ลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ แต่จะบอกเมื่อเขาโตขึ้น และ SM บอกว่าลูกของพวกเธอ ร้อยละ 81 รู้สึกดีที่แม่จะเป็น SM และเมื่อจะต้องยกเด็กที่คลอดให้ CC นั้น ลูกของ SM ร้อยละ 88 ให้การสนับสนุน นอกจากนี้ SM ส่วนใหญ่เล่าให้เพื่อนสนิททราบ และร้อยละ 74 ของเพื่อนเห็นด้วยกับการตัดสินใจแต่แรก และเพิ่มเป็นร้อยละ 80 เมื่อสัมภาษณ์ซ้ำในเวลาต่อมา
Baslington 2002 18พบว่า เมื่อให้ SM เรียงลำดับว่า ปัญหาใดแย่ที่สุดในการทำ surrogacy SM 4 ใน 14 รายบอกว่า ปัญหากับคู่ CC เป็นเรื่องแย่ที่สุด ซึ่งสูงกว่าการต้องยกเด็กให้ CC ( 3 ราย ) ในขณะที่เมื่อสัมภาษณ์สามีของ SM 6 ราย นั้น 2 รายบอกว่า ไม่คิดว่ามีส่วนไหนของ surrogacy ที่แย่เลย ที่เหลือบอกว่า ปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ CC ความกลัวที่ภรรยาจะเปลี่ยนใจไม่ยกเด็กให้ CC การต้องต่อสู้กับความเห็นของคนรอบข้าง และความรู้สึกเหมือนถูกกีดกันไม่ได้รับความสนใจระหว่างที่ภรรยานอนโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่แย่ที่สุดอีกเรื่องละเพียง 1 ราย จะเห็นได้ว่า ไม่มีการเอ่ยถึงปัญหาของ SM กับครอบครัวของตนเองว่าเป็นปัญหาเลย
นอกจากนี้ Baslington 2002 ยังได้ยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของ SM บางรายที่กล่าวว่า “ฉันเองบอกลูกทั้งหมดเกี่ยวกับการทำ surrogacy แต่ในครอบครัว จะไม่มีการ discuss กันถึงเรื่องนี้อีก เราไม่เคยเอ่ยถึงเด็ก เพราะเราไม่รู้สึกว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของเรา”