แจกจ่ายให้ทีมที่มาเอาไปใช้ และส่งให้หน่วยงานอื่นๆที่มาช่วยเจาะเลือดด้วย…”
สถิต สายแก้ว รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
“…จัดกระบวนการโดยมีคนเข้าร่วม 11 คน เป็น ผอ.รพ.สต.แห่งละ 1 คน และผู้รับผิดชอบหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอีก 1 คน เริ่มต้นด้วยการอธิบาย concept ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อน บอกบทบาทของแต่ละตำแหน่ง บทบาทของคุณกิจ ว่าให้เล่าความสำเร็จของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังจากนั้นให้ทุกคนช่วยแชร์ประสบการณ์ ให้เค้าตื่นตัวตลอด ให้ทุกคนได้คุย ไม่ถูกทอดทิ้ง…”
ศิรินทิพย์ ธรรมสกุล รพ.สต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
“…เริ่มจากวงกินข้าวเที่ยง เราเอาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาใช้ในวง ก็กินข้าวไปคุยกันไป เลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แล้วค่อยมาจดทีหลัง จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ได้วิธีการแก้ปัญหาการทำงานหลายๆอย่าง…”
รูสลาม สาร๊ะ รพ.สต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
2. การ ลปรร.แบบอ่างปลา : เป็นรูปแบบที่พบบ่อย โดยใช้กับวง ลปรร. ที่มีผู้เข้าร่วมบางคนเท่านั้นที่มีมีเรื่องราวความสำเร็จ จึงถูกวางให้เป็นตัวหลักในการเล่าเรื่องและนั่งอยู่วงใน ส่วนผู้เข้าร่วมที่เหลือเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์หรือไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจัดให้นั่งอยู่วงนอก คอยซักถามหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้ประเด็น ลปรร.ที่สนใจ
“…ภาคบ่ายเป็น อสม. เรื่อง ของระบบการจัดการสุขภาพในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน และทีมของจังหวัด ก็มาเป็น note taker ให้เรา หนูก็มีหน้าที่เป็น fa. มีพี่มาจากจังหวัด 2 คน ในรูปแบบที่เราทำก็มีการจัดวง 18 คน ก็มีกลุ่ม อสม. ที่แบบว่าเชี่ยวชาญหน่อย เก่งๆ อยู่วงใน ล้อมรอบด้วยคนที่อยู่วงนอกอีกวงหนึ่ง นั่งซ้อนกัน แต่เยื้องๆ กันไม่บังกัน ก็จะมีการเริ่มประเด็น มีกฎ กติกา การเล่าการแชร์ประสบการณ์ ตอนที่เราได้ประสานงานไป เราใช้โทรศัพท์พูดคุยก่อน ว่าเราจะเชิญท่านมา ส่ง message ไปว่าเราจะคุยเรื่องอะไร และให้ทางประธานได้กระจายส่ง message ต่อ มีประธานอยู่ 1 คน และก็ส่งให้อีก 8 คน ให้เขาส่งกันเอง และก็มาพร้อมกันในช่วงบ่ายที่เรานัด เขาให้ความร่วมมือดีมาก…”
ธัญลักษณ์ มุ่งเอื้อมกลาง รพ.สต.ท่าจาม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี
“…ประสบการณ์ครั้งแรก ทำเรื่อง แกนนำสุขภาพจิตดูแลผู้ป่วยเรื้อรังลดปัญหาฆ่าตัวตาย มีการกำหนดคนเล่าเรื่อง เอา ต.คลองเรือที่ประสบความสำเร็จมาเล่า มี อบต.ที่สนับสนุนงบประมาณ เราเจาะไปที่คนป่วยโรคเรื้อรัง คนที่เข้ามาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล คนทำเรื่องสุขภาพจิต แล้วก็แกนนำที่ดำเนินการทำกิจกรรมในชุมชน มี 4 คนที่มาเล่าเรื่อง อบต.1 คน เจ้าหน้าที่ 1 คน อสม.2 คน
ออกแบบกับทีมว่าเราจะมีการสร้างสัมพันธภาพก่อน เขียนป้ายชื่อตัวเอง เขียนลักษณะเด่น ให้คนในวงอ่านแล้วคิดว่าเป็นของใคร เป็นการสร้างสัมพันธภาพ เพราะเรามาจากคนละตำบล ฝึกทักษะการฟังโดยการเปิดเพลงให้ฟัง แล้วให้เค้าสะท้อนว่าได้อะไร เรียนรู้อะไร รู้สึกอย่างไร
ลปรร. โดยให้คนเข้าร่วมเข้าใจว่า กระบวนการวันนี้มีข้อห้ามอะไรบ้าง เรื่องที่มาเล่าเป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วอย่าวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะ กำหนดว่าใครจะซักถามให้ยกมือ วางไมค์ไว้ตรงกลางใครจะพูดก็มาเอาไมค์ไป
เริ่มเล่าโดยให้นายกฯ เล่าก่อน เป็นการให้เกียรติว่า เป็นผู้สนับสนุน ให้เล่าว่าสนับสนุนอย่างไร เล่าเสร็จก็ให้ในวงซักถาม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลก็เล่า แล้วต่อด้วยแกนนำ
หลังจากแลกเปลี่ยนแล้วก็สะท้อนว่า ได้อะไร การที่ได้ซักถามกันเห็นอะไร แล้วคาดหวังว่าจะไปทำอะไรต่อมีการบันทึกโดย note ขึ้นกระดาน ยังไม่ได้ถอดบทเรียนเพราะว่ายังไม่ได้เรียน…”
สุมาลี คุ้มสุวรรณ รพ.สต.คลองเรือ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี
3. ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับทดลองฝึกปฏิบัติ
รูปแบบนี้ถูกออกแบบให้มีช่วงการ ลปรร.ก่อน และต่อด้วยช่วงทดลองฝึกปฏิบัติ โดยไม่ต้องรอให้กลับไปทำจริงในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและสามารถนำเอาวิธีที่เรียนรู้กลับไปปฏิบัติได้เลย
“…ใช้กับงานระบาดเริ่มจากคอตีบ มันเกิดขึ้นในรามัน 5 ราย ตายไปแล้ว 2 งานระบาดมีคนเปลี่ยนคนรับผิดชอบบ่อยๆน้องใหม่มาพี่จะโยนให้ทำ ก็ประชุมทีมงานระบาด SRRT ตัวเองกับเพื่อนก็คุยกันก่อนแล้วเสนอว่าให้ทำแบบ ลปรร.ควบคู่ไปกับการแสดงบทบาทสมมติ ทุกครั้งที่มีประชุมช่วงเช้ามี ลปรร. ช่วงบ่ายมีแสดงบทบาทสมมุติ
ช่วงเช้าเอาคนที่มีประสบการณ์ที่ควบคุมได้ดีมาคุย น้องมาเล่า 3 คน น้องจะเล่าตั้งแต่การลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านไปยังไง เค้าทำอะไรบ้าง อย่างเช่น หมู่นึงไปกับทหารเพราะเค้าจำเป็นต้องไป หมู่สองไปกับ อสม.เพราะพื้นที่ปลอดภัย วิธีการที่ลงไป ก็จะมาเอา อสม.มาก่อน แล้วชี้ว่าจุดไหนต้องลง ลงไปที่จุดไม่ควานหาเอง จุดนี้มีเด็กกี่คน เรียกมารวมกันได้ไหม หรือต้องไปที่บ้าน บ้านที่เรียกยังไงก็ไม่มาก็ต้องให้คนที่เค้าเคารพนับถือไปเรียก เลือกให้ตรงกับคน เช่น ให้ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม บางบ้านมีลิงเลี้ยงไว้เค้าก็กลัว พอเล่าทั้งสามคนแล้ว มันเห็นวิธีการการลงไปทำ ทำยังไง การควบคุมยังไง หลังจากนั้นก็ให้วงนอกซักถาม ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ช่วงบ่ายเป็นการแสดงบทบาทสมมติ สวมชุมอวกาศยังไง มีสถานการณ์อะไรบ้าง การไปถามถามยังไง เป็นเหมือนการซ้อม…”
รูสลาม สาร๊ะ รพ.สต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
“…เราเลือกประเด็นแลกเปลี่ยนก่อน โดยดูจากแฟ้ม 18 แฟ้มที่ต้องลงโปรแกรม J-HCIS เลือกมา 1 แฟ้มที่สนใจ แล้วก็เลือกคนที่จะเล่า โดยเลือกเอาคนที่ได้งบสนับสนุนในงวดก่อนๆเยอะ โดยให้แลกเปลี่ยน เล่าถึงการเก็บข้อมูล การลงข้อมูล การคีย์ข้อมูลผ่านหน้าจอ การวินิจฉัยใช้รหัสอะไร การลงหัตถการใช้อะไรได้บ้างใน รพ.สต. ใครคือผู้บันทึก เล่าเสร็จก็เปิดโปรแกรมแล้วทำพร้อมๆกัน มีปัญหาอะไรก็ช่วยกันแก้ น้องที่รับผิดชอบของอำเภอที่เข้าใจเกี่ยวกับโปรแกรมก็ตรวจสอบข้อมูล ก็ช่วยดูว่าพลาดตรงไหน เข้าไปแก้อย่างไร แล้วก็มีการบันทึกเป็นข้อมูล วิธีการลงโปรแกรมอย่างละเอียดมาใช้เป็นคู่มือการทำงาน หลังจากนั้นก็มีการร่วมกันเลือกประเด็น และหาผู้เล่าในครั้งต่อไป…”
รุ่งตะวัน โคตรวงศ์ รพ.สต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
หากพิจารณาตามความต่อเนื่องหรือตามกลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการ สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้คือ
1. ผู้เข้าร่วมกลุ่มเดิมแต่เปลี่ยนประเด็น ลปรร. ไปเรื่อยๆ ตามความสนใจ
ผู้เข้าร่วมที่สนใจเรื่องเดียวกันหรือทำงานเหมือนกันรวมตัวเป็นกลุ่ม นัดหมาย ลปรร. เป็นกิจลักษณะ มีการตกลงประเด็นที่ใช้ในการ ลปรร.ร่วมกันในแต่ละครั้ง
“…ร่วมกันกำหนดเฉพาะกลุ่ม รวมพยาบาลที่ CPU ที่โรงพยาบาลด้วย 12 คน แต่ละเดือน และกำหนดว่า 6 เดือนแรก เรามี 6 ตำบลพอดี ก็กำหนดว่า ตำบลละ 1 เรื่อง ที่ต้องมาเล่า ตอนนี้ก็ผ่านไป 3 ตำบล เขาจะไปทำอะไรมากับกลุ่มคนไข้เรื้อรัง ก็ต้องมาเล่าทั้งหมด พร้อมกับภาพวิดีโอ ตัวเองติดตามไปอยู่แล้ว สมาชิกคนอื่นที่อยู่ในวงอาจจะไม่ได้ไปในช่วงที่เพื่อนเขาทำ ก็มาแลกเปลี่ยนกัน ก็เล่ากัน ก็ BAR ก่อน ปัญหาอุปสรรค มีอะไรบ้าง วันนั้นคนไข้นัดมากนัดน้อย พอทำเข้าจริงเราไม่ได้ระบุถึงการดูแล เราไม่เอาบทบาทเวชไปคุย แต่ต้องการให้คนไข้มาแลกเปลี่ยนในกลุ่มมากกว่า การที่เขาเป็นโรคๆ หนึ่ง เขามีพฤติกรรมสุขภาพอะไรบ้าง ได้เรียนรู้จากการเป็นโรคของเขา เขาใช้ภูมิปัญญาอะไรบ้าง มาแลกกันในวงและน้องสกัดมาเป็นความรู้ และกำหนดว่าถ้าครบทั้ง 6 วงแล้ว ตัวเองและทีมงานจะให้ award เขาไป มีรางวัลเล็กน้อย ก็จะวกมาที่งบประมาณก็ซุบซิบกับพี่บุษว่ามีงบด้วยหรือไม่ รู้เรื่องจังหวัดพังงา เป็นจังหวัดเล็กๆ ฐานะการเงินอาจจะไม่ดี คิดว่าจังหวัดไม่น่าจะมี ทุกวันนี้ก็แชร์กับน้อง การให้ award ก็คงไม่ยาก และช่วงหลังจะเป็นแผนการรักษาพยาบาล…”
เสาวดี สังข์ทอง สสอ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
2. คนกลุ่มหนึ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้หนึ่งเรื่อง กลับไปทำแล้วกลับมาเล่าใหม่
พบเห็นบ่อยทั่วไป คือ คนกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ทำงานหรือสนใจเรื่องเดียวกันมารวมตัวกัน ลปรร.วิธีทำงาน จากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวง ลปรร.กลับไปทดลองปรับใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และกลับมาเล่าในวงครั้งต่อมาว่าทำอย่างไรจึงทำสำเร็จ เป็นลักษณะหมุนเกลียวความรู้
3. คนจากหลายกลุ่มวิชาชีพแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้ประเด็นเดียวกัน
เป็นการกำหนดประเด็น ลปรร.กว้างๆ จากนั้นคัดเลือก ค้นหาผู้เกี่ยวข้องจากกลุ่มต่างๆมาเข้าร่วมวง ลปรร. ซึ่งอาจมีหลายวงภายใต้แต่ละประเด็นย่อย
“….กำหนดหัวปลาใหญ่ว่าเป็นเรื่อง ชุมชนห่วงใจใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค โดยมีกลุ่มคน 4 กลุ่ม ที่มีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคมาแลกเปลี่ยนกัน ได้แก่ 1. ทีมทำงาน (รองนายก อบต. พยาบาลวิชาชีพ แกนนำอาสาสมัคร คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นักพัฒนาประจำตำบล) 2. กลุ่มนักเฝ้าระวัง 3. ผู้ประกอบการ 4. ผู้บริโภคต้นแบบ (ผู้สูงอายุ)
ทีมทำงาน เราไปดูงานที่ อ.เวียงสา จ.น่าน แต่ละกลุ่มก็แยกกันไปดูงาน หลังจากดูงานแล้วกลับมาเข้าวงลปรร. แล้วแลกเปลี่ยนกันว่า ได้อะไรจากการไปดูงาน แล้วประมวลออกมาว่ามีประเด็นอะไรบ้าง บางอันเราทำแล้ว บางอันยังไม่ได้ทำก็เริ่มทำ ทำให้ได้วางแผนการทำงานร่วมกัน เอาเรื่องใหม่ๆมาคุยกัน รวมกับประสบการณ์เดิมที่มี
กลุ่มนักเฝ้าระวัง เราเอาสายลำโพงเหนือและใต้ ของเรามีสองเขต เอา อสม.ที่มีประสบการณ์ในการออกตรวจเยี่ยมร้าน แล้วเอามาเล่าประสบการณ์ที่เคยทำ ภายใต้หัวปลา ชุมชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค โดยมีเป้าหมาย อยากจะหากลวิธีของการทำงานเชิงรุกที่ประสบผลสำเร็จ หรืออาจจะเป็นเทคนิคเล็กๆน้อยๆ ใช้เวลาคุยกัน ๓ ชั่วโมง คุยเรื่อง บทบาทและหน้าที่ของอาสาสมัครในการไปตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังร้านค้า ว่ามีสิ่งใดที่เราทำได้ดี และเคลื่อนงานไปได้ อันที่เป็นอุปสรรคก็เขียนไปอีกแผ่น
ผู้ประกอบการ มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แก่ ร้านค้าผู้ประกอบการ 2 ร้าน ร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ 2 ร้าน รถเร่ 2 ร้าน ร้านที่เลือกมาเป็นร้านที่ให้ความร่วมมือ จัดร้านได้ดี เป้าหมายคือ ให้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ภายใต้หัวข้อ ห่วงใยผู้บริโภคในฐานะผู้ขาย จัดวงตอนเย็น เพราะตอนเช้าเค้าขายของ สี่โมงถึงหกโมงเย็น ปิดร้านแล้วมา ร้านที่มาเป็นร้านต้นแบบ เราก็เชิดชูเค้า เราถ่ายรูปแล้วเราก็มอบป้ายว่าร้านนี้ขายของดีมีคุณภาพ
ผู้บริโภคต้นแบบ น้องในทีมจะเชิญ อสม. เราก็ว่ามันซ้ำซ้อน เราก็เลยเชิญผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นเขตสายลำโพงเหนือเพราะว่ามีชมรมเข้มแข็ง เราเลือกชมรมที่มี กินเป็นลืมป่วยมา 9 คน อายุ 60 ขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็แข็งแรง มีโรคบ้าง มาแลกเปลี่ยนหัวข้อ กินอย่างไรถึงจะปลอดภัย
ทำการแลกเปลี่ยนไปแล้วกลุ่มละ 1 ครั้ง และมีแผนว่าอีก 3 เดือนจะแลกเปลี่ยนอีกครั้งว่า หลังจากดำเนินการไปแล้ว มีผลอย่างไรบ้าง…”
วัลลพ ฤทธิ์บำรุง รพ.สต.บ้านสายลำโพงใต้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์