“การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน โดย อสม.” “การดูแลสุขภาพกายและใจ เพื่อห่างไกลจากโรคแทรกซ้อน” โดยผู้ป่วยต้นแบบโรคเบาหวาน-ความดัน แรกๆในการตั้งวงก็พบอุปสรรคมากมาย แต่ก็พยายามนำมาปรับปรุงในครั้งต่อไป เมื่อได้จัดวงลปรร.หลายๆครั้ง ประสบการณ์ในแต่ละครั้งก็จะสอนให้เราเก่งขึ้น ดำเนินการจัดวงได้อย่างราบรื่นขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาหรือประสบการณ์แต่ละครั้งก็จะแตกต่างกัน แต่เราเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากได้จัดวงลปรร.ในกลุ่มประชาชนไปแล้ว จึงคิดว่าน่าจะจัดวงลปรร.ในกลุ่มเจ้าหน้าสาธารณสุขบ้าง เพราะเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าพวกเราทำงานกันเยอะแยะมากมาย แต่น้อยครั้งที่จะได้มีโอกาสมาเล่าอย่างเต็มที่ เล่าให้เห็นภาพกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับที่อื่นๆได้นำไปใช้ ซึ่งแม้จะทำงานเดียวกัน แต่อาจจะมีจุดเหมือนหรือจุดต่างขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ฉันเชื่อว่าในการทำงานทุกอย่างจะมีสิ่งที่ดีๆเกิดขึ้นให้ได้เรียนรู้หรือหากมีปัญหาอุปสรรค การลปรร.ก็จะเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการที่จะผ่านปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ
ดังนั้นฉันตั้งใจว่าจะต้องจัดวงลปรร. ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ให้ได้ แต่จะเริ่มตรงไหนดีล่ะ? และแล้วคำว่า BAR ก็แว่บเข้ามาในสมองของฉัน เราจะจัดวงลปรร.เรื่องอะไร ประเด็นนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนสนในที่จะเรียนรู้เป็นงานที่เราจะพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างทุกพื้นที่ คงจะต้องปรึกษากับพี่ๆน้องๆ ซึ่งทำงานอยู่ในแต่ละ รพ.สต. เพื่อสอบถามว่าอยากเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องอะไร เพื่ออะไร ก็ตั้งเป็นประเด็นคำถามเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นก็โทรศัพท์ถาม ผอ.รพ.สต. แต่ละแห่งว่าอยากให้เกิดงานอะไรมากที่สุดใน รพ.สต. (หลังจากที่ได้อธิบายที่มาที่ไปของการจัดวงลปรร.แล้ว) ก็ได้คำตอบที่หลากหลาย แต่ที่ชนะ vote ก็คือการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพราะเป็นนโยบายที่จะต้องทำให้ครอบคลุมทุก รพ.สต. เมื่อได้ประเด็น หัวปลาหรือหัวข้อที่จะลปรร.แล้ว จะเชิญใครเข้าร่วมวง? แน่นอนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจากทุก รพ.สต.ในเครือข่ายแห่งละ 2 คน รวมเป็น 14คน รวมทั้งเชิญตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 1 คน และจาก รพ.แม่ข่ายอีก 1 คน รวมเป็น 16 คน ซึ่งถือว่าเป็นวงใหญ่พอสมควร แต่ในใจก็ทราบว่า รพ.สต. บางแห่งมีเจ้าหน้าที่น้อยเมื่อเทียบกับภาระงานต่างๆ โอกาสที่จะได้เข้าร่วมวงแห่งละ 2 คนนั้น คงจะเข้าร่วมได้ไม่ครบ แต่ก็เผื่อไว้ว่าประมาณ 16 คน ลำดับต่อมาในเรื่องของสถานที่ คิดว่าจะเป็นศูนย์กลางที่แต่ละ รพ.สต. เดินทางมาร่วมวงได้โดยสะดวก ก็เล็งไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือไม่ก็ รพ.แม่ข่าย ซึ่งก็อยู่ใกล้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ แต่ใจก็เอนเอียงมาทาง รพ.แม่ข่าย เนื่องจากมีทีมแม่บ้านหลายคน ซึ่งจะช่วยในการเตรียมอาหารและอาหารว่าง รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการเตรียมเครื่องเสียงเป็นอันว่าเรื่องสถานที่ไม่น่าจะมีปัญหา แล้วเราจะจัดวง ลปรร.เมื่อไหร่ดีนะ? เป็นที่ทราบกันว่าในช่วงสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่ 2 ของแต่ละเดือนจะมีการประชุมต่างๆหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น ประชุมประจำเดือนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งทุก รพ.สต. ต้องเข้าร่วม การประชุม อสม. ประชุมหมู่บ้าน ประชุมชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ รวมทั้งจะต้องรวบรวมรายงานของงานต่างๆใน รพ.สต. ส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และแม่ข่าย ส่วนสัปดาห์ที่ 3 จะเป็นเรื่องของการเบิกจ่ายยา การเบิกจ่ายวัคซีน การฉีดวัคซีน การให้บริการคลินิกต่างๆ รวมทั้งการลงบันทึกข้อมูลในโปรแกรม JHCIS ให้สมบูรณ์และครอบคลุม เพราะฉะนั้นถ้าดูจากปฏิทิน รพ.สต. ในแต่ละเดือนแล้ว สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนหน้าจะเหมาะสมที่สุด เจ้าหน้าที่ก็จะได้เคลียร์ภารกิจต่างๆ ให้เบาบางลงได้ และควรจะบอกล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อจะได้เวลาเตรียมตัวก่อนเข้าวงลปรร. เมื่อเลือกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแล้วก็ควรจะเลือกวันกลางๆสัปดาห์ เพื่อว่า รพ.สต. ไหนนัดผู้ป่วยไว้ก็อาจจะเลื่อนวันนัดไปข้างหน้าหรือเลื่อนไปข้างหลังได้ ไม่ต้องติดวันเสาร์-อาทิตย์
ที่นี้มาในเรื่องของงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็ไม่ทราบว่าจะใช้งบส่วนไหน คงต้องรอบปรึกษากับท่านสาธารณสุขอำเภอเอาไว้ก่อน ที่นี่มาในส่วนที่สำคัญมากๆก็คือ จะจัดรูปแบบไหน? ใครจะเป็นผู้เล่า? จากประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมวง ลปรร. และจากที่ได้จัดวงเองที่ผ่านมาพบว่า ถ้าวงไม่มีข้อตกลงหรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการ ลปรร.พอสังเขป fa ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการภายในวง จะต้องทำงานหนักมากๆ ในการที่จะควบคุมวงให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะครั้งนี้ต้องจัดวงกับเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์มากมายและหลากหลาย ถ้าหากเราไม่จูนกัน ไม่ทำความเข้าใจกันก่อนถึงขั้นตอนกระบวนการต่างของการลปรร.ผู้เป็น fa จะต้องรับบทหนักในการทำหน้าที่ หรืออาจจะทำให้วงไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หวังได้ ฉันคิดว่าควรให้เข้าหน้าที่ได้มีโอกาสฝึกเล่าเรื่อง ฝึกบทบาทของผู้ร่วมวง ฝึกเป็น fa ฝึกเป็น note taker ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจบทบาทต่างๆในวงและเข้าใจกระบวนการ ลปรร. มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึก ไปจัดวงลปรร.ในหน่วยงานของตนเองได้ ซึ่งในครั้งนี้จะต้องใช้เวลาจัดถึง 2 วัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่วนผู้เล่าในเรื่องของการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้วางตัวไว้ 2 ท่าน คือ ผอ.รพ.สต. และนักวิชาการผู้รับผิดชอบงานดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต้นแบบปี 2554 โดย ผอ.รพ.สต. จะเล่าถึงระบบบริหารจัดการให้เกิดหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและนักวิชาการในฐานะผู้ปฏิบัติได้เล่าเรื่องการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ส่วน fa และ note taker ก็จะเป็นครู ข. ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว (จากที่จังหวัดได้จัดอบรมให้) หลังจากที่ BAR แล้วก็ดำเนินการตามแผน โดยได้เขียน “โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนงาน รพ.สต.” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการ ลปรร. สามารถผลักดันให้เกิดกิจกรรม ลปรร.ในพื้นที่ ที่ตนเองรับผิดชอบได้และสรุปบทเรียนสำคัญในการทำงานแนวใหม่ที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ที่ต้องเขียนโครงการขึ้นมาก็เพื่อจะนำไปเสนอต่อท่านสาธารณสุขอำเภอ ให้ท่านได้ทราบถึงที่มาที่ไปและวิธีการดำเนินงานโครงการ การที่เราไปพบพร้อมกับเขียนโครงการไปเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เป็นการยืนยันว่าเราตั้งใจจะทำโครงการนี้จริงๆ ไม่ได้ไปมือเปล่าแค่พูดเล่าหรือกล่าวลอยๆ ซึ่งทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ และอีกอย่างฉันก็ไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งใครให้มาร่วมวง ลปรร.ได้โดยตรง อาจจะใช้วิธีเชิญชวนแต่ก็อาจจะมีผู้ร่วมวงไม่ครบทุก รพ.สต. แต่ถ้าสาธารณสุขอำเภอแจ้งให้ก็จะดูหนักแน่นกว่า ดังนั้นฉันจะต้องปรึกษากับท่านสาธารณสุขอำเภอโดยด่วน เพราะว่าช่วงนั้นท่านมีภารกิจติดประชุมมากมาย ถ้าชักช้าก็จะทำให้เสียเวลาไปเรื่อยๆ จึงโทรศัพท์ไปติดต่อขอเข้าพบท่านสาธารณสุขอำเภอ เมื่อได้อธิบายวัตถุประสงค์และรายละเอียดของโครงการให้ท่านทราบ ท่านก็เห็นด้วยเพราะเป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับทุก รพ.สต.ในเครือข่าย และส่วนหนึ่งก็อาจจะเห็นว่าฉันตั้งใจที่จะทำให้งานออกมาดีที่สุด ก็อนุญาตและรับปากว่าจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ โดยบรรจุในวาระของการประชุมประจำเดือน ซึ่งทุก รพ.สต. เครือข่ายจะต้องเข้าร่วมประชุม ฉันจึงได้ถือโอกาสปรึกษาท่าน ในเรื่องการใช้งบประมาณ ท่านสาธารณสุขบอกว่า ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีงบ PP area base แต่จะต้องเป็นโครงการที่ทำในกลุ่มของประชาชน ในการให้บริการประชาชน ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขอำเภอได้มีแผนการใช้งบไปแล้วในปีนี้ ท่านแนะนำให้ใช้เงินบำรุงของ รพ.สต. ที่ใดก็ได้ที่มีสถานะเงินบำรุงเหลือเยอะ โดยใช้โครงการผ่าน รพ.สต.นั้น เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ ฉันมาดูสถานะเงินบำรุงการ รพ.สต.ตัวเองแล้ว ค่อนข้างจะมีจำกัดมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถึงแม้ ผอ.รพ.สต.ของฉันจะอนุญาตให้ใช้เงินบำรุงในการทำโครงการนี้ก็ตาม แต่เงินเราก็จะเหลือน้อยมาก เกรงใจ จึงโทรหาเพื่อนซึ่งเป็น ผอ.รพ.สต.อีกแห่งหนึ่งในเครือข่าย และน่าจะมีเงินบำรุงเหลือพอสมควร (ก่อนหน้านี้เคยคุยกันเล่นๆถึงความร่ำรวยถึงสถานะเงินบำรุงของแต่ละ รพ.สต.) เล่าให้เพื่อนทราบถึงโครงการที่จะทำและเล่าว่าปรึกษาท่านสาธารณสุขอำเภอแล้ว แต่ยังขาดเรื่องงบประมาณ เพื่อนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี อนุญาตให้ใช้เงินของ รพ.สต.ของเพื่อนได้เลย เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์กับทุกพื้นที่
บังเอิญ ผอ.รพ.สต.ทางฉันได้บอกว่า ลองถามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูมั้ยว่า พอจะหางบจากส่วนไหนให้ได้บ้าง ฉันก็เลยโทรหาพี่ที่รับผิดชอบงาน ลปรร.ทางจังหวัด พี่ก็ถามว่าใช้งบเท่าไหร่ ฉันก็บอกว่าแค่เลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารว่างกลุ่มเป้าหมาย 20 คน 2 วัน ใช้เงิน 4,000 บาท พี่ก็ตกลงทันทีว่าจะรับผิดชอบเรื่องงบประมาณให้ โดยจะยืมเงินให้ก่อน แล้วให้ฉันส่งหลักฐานมาหักล้างเงินยืม ฉันดีใจมากที่ทางจังหวัดรับผิดชอบสนับสนุนเรื่องงบประมาณตรงนี้ได้