การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

จัดเวทีเพื่อให้มีการแบ่งปันความรู้ในตัวผู้ปฏิบัติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อันนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ ที่แต่ละคนสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ต่อไป

การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีหลักการสำคัญๆ ได้แก่

1. การเล่าเรื่อง (story telling) : เล่าเรื่องที่ทำจริง โดยพูดถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น

2. การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) : เป็นการฟังอย่างมีสติ ฟังอย่างปราศจากอคติ ฟังด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ปราศจากการประเมินค่าหรือตีความขณะฟัง ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ฟังด้วยท่าทีเคารพต่อผู้พูดอย่างจริงใจ

3. การสะท้อน (reflection) : เป็นสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองขณะได้ฟังเรื่องเล่า รวมถึงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก คุณลักษณะของผู้เล่า

4. การแลกเปลี่ยน (sharing) : เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าของตนเอง ที่เคยมีประสบการณ์ในประเด็นเดียวกัน

ซึ่งพบว่า หากมีครบทั้ง 4 หลักการแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะได้รับความรู้ ได้ไมตรีซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการได้กำลังใจ แรงบันดาลใจ

วิธีการและขั้นตอนการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. กำหนดหัวปลา หรือประเด็นเป้าหมายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

2. คัดเลือกผู้เข้าร่วมกระบวนการ จำนวนไม่ควรเกิน 10-12 คน ผู้เข้าร่วมกระบวนการต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้ปฏิบัติจริงในประเด็นที่นำมาใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ

3. จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบันทึกข้อมูล

4. นำข้อมูลที่ได้มาประมวลและร้อยเรียง

บทบาทในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีตำแหน่งที่สำคัญๆ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณลิขิต และคุณกิจ แต่ละตำแหน่งก็มีหน้าที่ บทบาทแตกต่างกันไป

1. คุณเอื้อ (chief knowledge officer : CKO) ทำหน้าที่บริหารจัดการ ประสานให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย กำหนดประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละครั้ง การประสานทำความเข้าใจทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ รวมถึงอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

2. คุณอำนวย (knowledge facilitator : KF) เป็นผู้สร้างบรรยากาศ อำนวยความสะดวกให้วงเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ได้อย่างอิสระ โดยเตรียมความพร้อมให้สมาชิกในวงสามารถเล่าเรื่องได้ตรงประเด็นตามหัวปลา ฟังอย่างลึกซึ้งเป็น คอยถาม จุดประกาย กระตุ้นให้วงสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ชวนสมาชิกร่วมกันกำหนดกติกา และควบคุมเวลาได้อย่างเหมาะสม

คุณอำนวยมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ

– มีทักษะในการจับประเด็น

– มีทักษะในการตั้งคำถาม

– มีสมาธิในการฟัง

– เทคนิคในการสร้างบรรยากาศ การสังเกต การประเมินบรรยากาศของวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ไม่เคร่งเครียด

– มีท่าทีเป็นมิตร ให้เกียรติและยอมรับความแตกต่างของคน

– สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

3. คุณลิขิต (knowledge note taker : KN) ทำหน้าที่จับประเด็นและบันทึกเรื่องราว รายละเอียดวิธีการทำงาน ตามหัวปลาย่อย

คุณลิขิตมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ

– ทักษะ มีสมาธิในการฟัง

– มีทักษะในการจัดประเด็น

– มีทักษะในการบันทึกเร็ว

4. คุณกิจ (knowledge practitioner : KP) เป็นผู้มีประสบการณ์ตรง เป็นคนลงมือทำ (เอง) จริง มีวิธีการทำงานที่สำเร็จ ตามประเด็นหัวปลา ไม่ใช่ความสำเร็จเรื่องอื่นที่ไม่ตรงกับหัวปลาที่จะทำการเรียนรู้

แหล่งข้อมูล

การจัดการความรู้ : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้

คู่มือการสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ของส่วนราชการ : สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

เอกสารนำเสนอ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : ทักษะและเทคนิคที่สำคัญ: สมพร อินทร์แก้ว กรมสุขภาพจิต

เอกสารนำเสนอ ทำทำไม : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์