สามีของหญิงผู้ให้กำเนิดทารกเป็นบิดาของเด็ก ดังนั้นเด็กที่ปฏิสนธิจากอสุจิบริจาคจึงมีสิทธิได้รับมรดกของชายผู้เป็นสามีของมารดาตน เว้นแต่ศาลพิพากษาว่าเด็กมิใช่บุตรโดยชอบ
ส่วนกรณีของเด็กที่เกิดจากไข่บริจาคก็มีสิทธิได้รับมรดกของหญิงที่คลอดตนในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับแรก ตามมาตรา 1629
อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาว่าเด็กสามารถใช้สิทธิฟ้องให้ผู้บริจาครับเป็นผู้ปกครองได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายมิได้กล่าวถึงไว้อย่างชัดแจ้ง มาตรา 1555 กำหนดเงื่อนไขต่างๆไว้หลายประการ ดังนั้นการใช้สิทธิจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขดังกล่าวเท่านั้น
ปัจจุบันในกรณีของการอุ้มบุญ เด็กจะเป็นทายาทตามกฎหมาย ของผู้ประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมหรือเป็นบุคคลที่มีชื่อตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น แต่มิได้มีสิทธิโดยอัตโนมัติแต่อย่างใด
ค)แนวทางในการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเปรียบเทียบ
มีแนวโน้มในทางปฏิบัติของนานาชาติในการบัญญัติกฎหมายอย่างแจ้งชัดเพื่อตัดสิทธิในการเรียกร้องต่อผู้บริจาค
ง)ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย
ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในกรณีนี้ให้ชัดแจ้งเพื่อตัดปัญหาเรื่องการเรียกร้องสิทธิระหว่างเด็กกับผู้บริจาคซึ่งมิได้มีเจตนาจะสถาปนาความสัมพันธ์ด้านครอบครัวกับเด็กและควรพัฒนากฎหมายให้รองรับสิทธิต่างๆของเด็กที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีนี้
อนึ่งในปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ โดยอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำลังยกร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ…..
2.ปัญหาเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์และสิทธิความเป็นส่วนตัว
ก) สภาพปัญหา
เด็กมีสิทธิที่จะรับรู้ต้นกำเนิดของตนเองหรือไม่ และมีขอบเขตอย่างไร และในอีกแง่หนึ่ง ผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิเทียมมีสิทธิความเป็นส่วนตัวที่จะได้รับความคุ้มครองโดยการปกปิดข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นความลับหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าควรมอบหมายความรับผิดชอบให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาข้อมูลซึ่งมีประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดสิทธิต่างๆที่เด็กจะได้รับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง(มรดก ฯลฯ) รวมถึงเรื่องการป้องกันเด็กเมื่อถึงวัยอันควรจากการสมรสในหมู่เครือญาติโดยไม่เจตนา
ข) ข้อเท็จจริงกรณีของประเทศไทย
ระบบของประเทศไทยในการเก็บข้อมูลเรื่องนี้เป็นไปตามประกาศแพทยสภาที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่กำหนดให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นทีมเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ต้องทำการบันทึกทางการแพทย์และเก็บรักษาไว้ในสถานที่ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งกำหนดให้ต้องรายงานข้อมูลการให้บริการต่อราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง อีกทั้งในหนังสือแสดงความยินยอมของผู้รับการรักษาก็มีข้อบทระบุเงื่อนไขในการเก็บข้อมูลเป็นความลับและไม่อาจเปิดเผยได้โดยปราศจากความยินยอมอย่างชัดแจ้งของผู้รับการรักษา เว้นแต่เป็นกรณีการเปิดเผยที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่ใช้อยู่ในเรื่องพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ได้กำหนดหลักการให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ต้องถือปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ แต่ในพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ให้ถือเป็นข้อยกเว้น ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย เช่น รายงานทางการแพทย์ หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล โดยไม่สมควร (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล มาตรา 15)
ด้วยเหตุที่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภา เป็นองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายตามคำนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 91 ข้อมูลทางการแพทย์ข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ถือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล92 ตามกฎหมายดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ ดังนี้93
(1) หน้าที่จัดเก็บดูแลข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเฉพาะเท่าที่จำเป็น และให้ถูกต้องเสมอ ทั้งจะต้องยกเลิกการจัดให้มีระบบข้อมูลดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น (มาตรา 23)
(2) หน้าที่จัดระบบคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล มิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสม หรือเกิดผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล (มาตรา 23)
(3) หน้าที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมของเจ้าของข้อมูล เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดยกเว้นไว้โดยเฉพาะ (มาตรา 24)
(4) หน้าที่ยอมให้เจ้าของข้อมูลขอดูข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของตน (มาตรา 25 วรรคแรก)
(5) หน้าที่แก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองของตน ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงตามคำขอของเจ้าของข้อมูล (มาตรา 25 วรรคสาม)
จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริจาค ผู้เข้ารับการรักษาหรือใช้บริการ และเด็กจึงได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง ในฐานะเจ้าของข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เอกชนครอบครองอยู่ ในปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะขึ้นมา
ดังนั้นในแง่นี้สิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริจาค ผู้รับการรักษาและเด็กจึงได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง แต่ในทางกลับกันสิทธิของเด็กในการรับรู้ข้อเท็จจริงย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
ค) แนวทางในการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเปรียบเทียบ
ส่วนใหญ่แล้วการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อเท็จจริงและสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องการกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมิได้มีกฎหมายเฉพาะซึ่งกำหนดให้มีการเก็บรักษาและเปิดเผยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เด็กสามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดคือผู้เป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรม
ง) ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย
ควรกำหนดอย่างชัดเจนให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ และควรวางระเบียบในเรื่องการเปิดเผย ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเด็ก ผู้บริจาคและผู้ปกครอง
———————————-
91 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 46ก หน้า 1 ลงวันที่ 10 กันยายน 2540 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2540
92 “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายถึง ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย
93 กิตติศักดิ์ ปรกติ, ความรู้เบี้องต้นเกี่ยวกับสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2541), หน้า 75-76.