1. จำแนกภูมิภาคของประเทศไทยออกเป็น 5 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร
2. สุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยใช้การสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple sampling) กำหนดภูมิภาคละ 2 จังหวัด ดังนี้
– ภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และระยอง
– ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ และอุตรดิตถ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น และเลย
– ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี
3. ในแต่ละภูมิภาคกำหนดให้เก็บข้อมูลในโรงพยาบาล 5 แห่ง และโรงเรียน 5 แห่ง โดยใช้การสุ่มโรงพยาบาลและโรงเรียนตามความเหมาะสม (Convenient sampling) รวมเก็บข้อมูลกับโรงพยาบาล จำนวน 25 แห่ง และโรงเรียน 25 แห่ง รายละเอียดการเก็บข้อมูลในแต่ละภูมิภาค ดังนี้
โรงพยาบาล ในส่วนภูมิภาค จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
– โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง
– โรงพยาบาลชุมชนที่มีจำนวนเตียง 100 เตียงขึ้นไป 1 แห่ง
– โรงพยาบาลชุมชนที่มีจำนวนเตียง 60 เตียง 1 แห่ง
– โรงพยาบาลชุมชนที่มีจำนวนเตียง 30 เตียง 1 แห่ง
– โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย 1 แห่ง
โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
– โรงพยาบาลที่สังกัดกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง
– โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 2 แห่ง
– โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย 1 แห่ง
โรงเรียนในส่วนภูมิภาค จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
– โรงเรียนสังกัดเทศบาล 1 แห่ง
– โรงเรียนขยายโอกาส (ป.1 – ม.3) 1 แห่ง
– โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (ม.1 – ม.6) 2 แห่ง
– โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย 1 แห่ง
โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
– โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง
– โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 2 แห่ง
– โรงเรียนสาธิต 1 แห่ง
4. ในแต่ละโรงพยาบาลและโรงเรียน เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างแห่งละ 10 ตัวอย่าง โดยใช้การสุ่มตัวอย่างตามความเหมาะสม (Convenient sampling) ดังนั้นในแต่ละภูมิภาคเก็บข้อมูลกับบุคลากรในระบบสุขภาพ จำนวน 50 ตัวอย่าง และบุคลากรในระบบการศึกษา จำนวน 50 ตัวอย่าง รวมเก็บข้อมูล จำนวน 100 ตัวอย่างต่อภูมิภาค
ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการวิจัย เพื่อศึกษาและพัฒนาเครื่องมือวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จากเอกสารทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย แนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือวัด การพัฒนา และงานวิจัย
2. สังเคราะห์และสรุปความหมาย องค์ประกอบ แนวทางในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
3. ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาทั้งความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
4. ปรับปรุงแก้ไข ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้น จัดทำร่างเครื่องมือวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมและจากผู้ทรงคุณวุฒิ
5. ทดลองใช้เครื่องมือกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้แจกแบบสอบถามจำนวนประมาณ 1,200 ชุด และจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ได้ข้อมูลสมบูรณ์กลับมามีทั้งหมด 855 ตัวอย่าง รายละเอียดของจำนวนตัวอย่างจำแนกตามประเภทบุคลากรและภูมิภาค
6. นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้เครื่องมือวัด นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) เพื่อหาองค์ประกอบของจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
7. หาคุณภาพเครื่องมือวัดจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา โดย
– ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ โดยใช้การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์คะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item-total correlation)
– ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของ ครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficiency)
การวิเคราะห์ข้อมูล
การศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าต่ำสุด-สูงสุด ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เพื่อพิจารณาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ สถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistics) ได้แก่ การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยวิธีของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation) การหาคุณภาพเครื่องมือวัดตามแนวคลาสสิค (Classical test theory) ได้แก่ การหาค่าอำนาจจำแนกโดยการหาค่าสหสัมพันธ์คะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item-total Correlation) และการหาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ด้วยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของครอนบาค (Cronbach’s Alpha coefficiency) รวมทั้งการสร้างตารางเกณฑ์ปกติของคะแนนแต่ละองค์ประกอบของเครื่องมือวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วยการวิเคราะห์ ความถี่ ร้อยละ อันดับเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile rank) เปอร์เซ็นไทล์ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน