วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายด้วยคำถามเกี่ยวกับความตั้งใจ แรงบันดาลใจและความพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานและทำการสอน ซึ่งผลการวิจัยพบว่า (1) องค์ประกอบโดยทั่วไปของศิลปินจะถูกพัฒนาขึ้นบนเงื่อนไขของความตระหนักรู้อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุด (2) ศิลปินใช้วิธีการเชื่อมโยงระหว่างสุนทรียศาสตร์กับประสบการณ์เกี่ยวกับจิตวิญญาณแล้วจึงนำไปสู่รูปแบบของการทำงาน (3) ศิลปินหรือผู้สอนศิลปะจะแสดงความมีจิตวิญญาณของตนเองออกมาในขณะสร้างสรรค์ผลงานหรือทำการสอนอย่างชัดเจน อย่างเช่น การคิดที่เหนือความธรรมดา การดูแลผู้เรียน การสร้างโอกาสที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดแรงบันดาลใจในตนเองต่อไป
Dunn, Handley and Dunkin (2008) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเงื่อนไขของจิตวิญญาณในการดูแลผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพในสถานพยาบาลมารดาและทารก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 102 คน โดยใช้แบบวัดการรับรู้ทางจิตวิญญาณ (Spiritual Perspective Scale-SPS) และแบบวัดความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ (Spiritual Well-Being Scale-SWBS) เพื่ออธิบายและหาความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ทางจิตวิญญาณกับความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าการรับรู้ทางจิตวิญญาณมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ โดยพยาบาลที่มีจิตวิญญาณในการทำงานจะผ่านการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาใช้บริการ ทั้งนี้ยังพบว่าความเชื่อทางศาสนามีผลต่อการรับรู้ทางจิตวิญญาณและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ ในขณะที่ลักษณะทางประชากรศาสตร์ไม่มีความสัมพันธ์กับทั้งการรับรู้ทางจิตวิญญาณและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ และจากการวิจัยด้วยวิธีการสัมภาษณ์พยาบาลเกี่ยวกับวิธีการที่ทำให้เกิดจิตวิญญาณในการทำงาน ได้แก่ การสวดมนต์ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การอ่านคัมภีร์ทางศาสนา การร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ร่วมงานและผู้ใช้บริการสถานพยาบาล การสัมผัสหรือการกอด การให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น การยอมรับและเคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อส่วนบุคคล
Fisher, Francis, and Johnson (2000) ได้ศึกษาการประเมินสุขภาพทางจิตวิญญาณเปรียบเทียบกับความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณใน 4 มิติ จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สอนในระดับประถมศึกษาทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ จำนวน 331 คน โดยใช้แบบตรวจสอบเกี่ยวกับจิตวิญญาณตามรูปแบบของ The Spiritual Health in Four Domains Index (The SH4DI) ประกอบด้วย ด้านความต้องการส่วนบุคคล ความต้องการด้านสังคม ความต้องการด้านสภาพแวดล้อม และความต้องการที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบของความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณมีความสอดคล้องกับตัวบ่งชี้ความพึงพอใจในสุขภาพทางจิตวิญญาณทั่วไป โดยผู้สอนที่ได้คะแนนในองค์ประกอบต่างๆ สูงแสดงให้เห็นว่ามีระดับสุขภาพทางจิตวิญญาณสูงกว่าผู้สอนที่ได้คะแนนน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าสุขภาพทางจิตวิญญาณของบุคคลสามารถสร้างขึ้นได้โดยอาศัยองค์ประกอบทั้ง 4 จึงสรุปได้ว่า สุขภาพทางจิตวิญญาณสามารถบ่งชี้ได้ด้วยองค์ประกอบเกี่ยวกับความต้องการส่วนบุคคล ความต้องการด้านสังคม ความต้องการด้านสภาพแวดล้อมและความต้องการที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณของบุคคล โดยที่บุคคลมีสุขภาพทางจิตวิญญาณมีความแตกต่างกันไปตามบุคลิกภาพ สภาพชุมชน สภาพแวดล้อม ศาสนา ความต้องการมีชีวิตอยู่และกระแสโลกาภิวัฒน์
Grosvenor (2000) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการสอนความมีจิตวิญญาณในการให้ความดูแลผู้ป่วยแก่พยาบาล เพื่อหาแนวทางในการสร้างและส่งเสริมให้พยาบาลมีจิตวิญญาณในการดูแลผู้ป่วย โดยใช้วิธีการอภิปรายร่วมกันในหัวข้อจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เรื่องของจิตวิญญาณในการทำงานและจิตวิญญาณในการทำงานของพยาบาล บนพื้นฐานของการสอนแบบ Judaeo-Christian และประเด็นในเรื่องเพศและความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณในวัฒนธรรมตะวันตกและบทบาทหน้าที่ของพยาบาล ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะทำสอนในเรื่องของจิตวิญญาณในการทำงานของพยาบาลควรคัดเลือกผู้ที่มีความสมัครใจหรือมีจิตอาสามากกว่ามีการศึกษาทางปรัชญาและศาสนาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งควรคัดเลือกผู้สอนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้เคียงกับนักศึกษาพยาบาล เพื่อให้เกิดความสอดคล้องลงรอยกันตั้งแต่ต้นจนจบหลักสูตร ในส่วนเนื้อหาที่ต้องสอนควรเกี่ยวข้องทั้งทางสังคมและวิชาชีพ ประกอบด้วยการพัฒนามาตรฐานในการปฏิบัติงาน การให้ความช่วยเหลือและการสื่อสาร รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัวและเงื่อนไขในงานด้วย
Grosvenor (2005) ได้ทำการวิจัยในเรื่องจิตวิญญาณในการให้ความดูแลของพยาบาลตามการรับรู้ด้านสิทธิสตรี ของพยาบาลวิชาชีพ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง ซึ่งเป็นเนื้อหาด้านประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในการทำงานด้านการให้ความดูแลและปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ตามกรอบแนวคิดเพื่อการวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความยุ่งยากและความโศกเศร้านำมาซึ่งความพิถีพิถันในการให้ความดูแลและเอาใจใส่ต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ผลของการฝึกฝนยังก่อให้เกิดทักษะในการทำงาน รวมทั้งลักษณะของหัวหน้างานและนโยบายของหน่วยงานในการวางแผน รับฟัง และให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยที่สูงก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้พยาบาลมีจิตวิญญาณในการทำงานดูแลผู้ป่วยด้วยความเต็มใจ
Hong (2009) ทำวิจัยเรื่องอิทธิพลของการรับรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณในการทำงานกับความพึงพอใจในการทำงาน ความตั้งใจจะลาออกและการแสดงออกทางอารมณ์ทางลบในกลุ่มผู้ทำงานด้านสุขภาพใน คานซัส จำนวน 412 คน เพื่อนำเสนอการประยุกต์แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณในการทำงานร่วมกับตัวแปรอื่นๆ ในวงการการบริการ โดยใช้แบบวัดจิตวิญญาณในการทำงานของ Ashmos-Duchon (The Ashmos-Duchon Spiritually Scale-2000) ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจิตวิญญาณในการทำงาน 5 ด้าน แบ่งเป็น ระดับบุคคล 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณค่าของงาน (Meaning at work) ด้านชีวิตภายใน (Inner life) และด้านการพิจารณาไตร่ตรอง (Contemplation) และระดับองค์การ ได้แก่ ด้านคุณค่าขององค์การ (Organizational value) และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับองค์การ (Individual and the organization) ซึ่งผลการวิจัยพบว่า จิตวิญญาณในการทำงานทั้งระดับบุคคลและองค์การส่งผลทางบวกต่อความพึงพอใจในการทำงานและส่งผลทางลบกับความตั้งใจลาออกและการแสดงอารมณ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังสามารถอธิบายได้ว่าจิตวิญญาณในการทำงานมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเครียดในการทำงานและก่อให้เกิดสุขภาพที่ดี
Lane (2005) ได้ศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับการคาดการณ์ปัญหา: ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการแก้ปัญหา รูปแบบของความสัมพันธ์ ความเครียดจากการดูแลผู้ป่วย บทบาททางเพศและจิตวิญญาณ ในกลุ่มผู้ทำงานด้านการบริการสุขภาพของรัฐเท็กซัส จำนวน 70 คน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณ (The Index of Core Spiritual Experiences-INSPIRIT) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ .90 ซึ่งผลการวิจัยพบว่าการมีจิตวิญญาณในการทำงานมีความสัมพันธ์ทางลบกับการเกิดปัญหา และสามารถร่วมทำนายการคาดการณ์ปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากจิตวิญญาณในการทำงานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลลัพธ์ของงานและความพึงพอใจที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิด การค้นหาความหมายในชีวิตและการรับรู้การสนับสนุนจากสังคมด้วย
Leeuwen, Tiesinga, Post and Jochemsen (2006) ศึกษาจิตวิญญาณในการปฏิบัติงานพยาบาล ด้านบทบาทในการให้การดูแลใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ศึกษากับพยาบาลในประเทศเนเธอแลนด์ จุดมุ่งหมายของการศึกษานั้นเพื่อการพัฒนางานและสร้างความชำนาญการของพยาบาล ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่มกับกลุ่มตัวอย่างผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องหัวใจ เนื้องอก และระบบประสาท แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มพยาบาล และกลุ่มที่ปรึกษาในโรงพยาบาล (Hospital chaplains) โดยคำถามที่ใช้ถามเกี่ยวกับเรื่องของบทบาทในวิชาชีพพยาบาล ในการให้การดูแลเอาใจใส่อย่างมีจิตวิญญาณ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านความคาดหวังต่อบทบาทของพยาบาล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าขึ้นอยู่กับการแสดงออกของแต่ละบุคคลและความผูกพันของแต่ละคนด้วย การศึกษาแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบด้านบุคคล วัฒนธรรมและการศึกษาที่แตกต่างกัน จะแสดงบทบาทในความเป็นจริงว่า การให้การดูแลเอาใจใส่อย่างมีจิตวิญญาณนั้นยังไม่ได้ฝังลึกอย่างเป็นระบบในการให้การดูแลด้านพยาบาล ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการฝึกหัดด้านคลินิก การดูแลในด้านการพยาบาล ซึ่งหมายถึง การดูแลใส่ใจในความต้องการของผู้ป่วยอย่างมีจิตวิญญาณ ซึ่งการเตรียมการในการดูแลนี้เอง พยาบาลจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงการดูแลอย่างมีจิตวิญญาณว่าเป็นอย่างไร รู้ถึงปัจจัยด้านบุคคล อาชีพ วัฒนธรรม และการเมืองที่ส่งผลกระทบ นั่นหมายความว่าจำเป็นที่พวกเขาเหล่านั้นควรจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการอภิปรายและตัดสินใจเกี่ยวกับการฝึกหัดด้านการพยาบาลที่เกี่ยวกับเรื่องของการดูแลเอาใจใส่อย่างมีจิตวิญญาณ