การนำตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วไปทำการทดลอง ซึ่งมีข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีข้อขัดแย้งระหว่างแนวคิด 2 ขั้ว กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง การทดลองเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในตัวเองเพราะสามารถใช้ให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านการแพทย์ แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น การทดลองกับสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์เป็นเรื่องที่กระทบโดยตรงต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และผลประโยชน์ของผู้ที่ตกเป็นเป้าของการทดลอง ดังนั้นจึงถือเป็นสิ่งต้องห้าม
กรณีของตัวอ่อนก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเลือกใช้แนวคิดที่กล่าวมา เพราะแม้ตามหลักกฎหมายยังปราศจากสถานะของบุคคลอย่างสมบูรณ์ แต่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาจพัฒนากลายเป็นมนุษย์ได้ในโอกาสต่อมา เพราะฉะนั้นการห้ามหรือการอนุญาตล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสิ้นจึงต้องพิจารณาหาสมดุลระหว่างสองแนวคิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
ข) ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหากฎหมายในกรณีของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฎสถิติที่เป็นทางการจากสถาบันหรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับทางปฏิบัติในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามจากเอกสารแนบท้ายฉบับที่ 2 ของประกาศแพทยสภาที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่กำหนดแบบหนังสือแสดงความยินยอมเพื่อเข้าร่วมการบริการแช่แข็งของตัวอ่อนได้กำหนดรายละเอียดที่ให้สามี ภริยาเจ้าของตัวอ่อนให้รับทราบถึงกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนเพื่อเก็บรักษาไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว เพื่อจะได้ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในระยะต่อไป และให้ยินยอมในการเก็บรักษาไว้ ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าแพทยสภายอมรับการดำเนินการแช่แข็งตัวอ่อนไว้ได้
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันประเทศไทยยังปราศจากกฎหมายใดที่ใช้บังคับกับกรณีการจัดการและทดลองตัวอ่อน และไม่อาจใช้ความผิดฐานทำแท้งได้กับการทำลายตัวอ่อน เนื่องจากตามกฎหมายแล้วการทำแท้งเกี่ยวพันกับการกระทำให้ทารกในครรภ์คลอดก่อนกำหนด จึงไม่เข้าข่ายของตัวอ่อนที่ปฏิสนธินอกร่างกายและยังไม่ถูกปลูกฝังในโพรงมดลูก
ทั้งนี้มีเพียงข้อกำหนดบางประการเท่านั้นของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับแนวทางการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเจริญพันธุ์และข้อตรึกตรองทางจริยธรรม พ.ศ.2537และประกาศของแพทยสภา พ.ศ.2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษามาตรฐานของบริการและคุ้มครองผู้รับบริการ
ค) แนวทางในการแก้ไขตามกฎหมายเปรียบเทียบ
ในต่างประเทศมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาและศึกษากรณีดังกล่าว รวมทั้งการบัญญัติกฎหมายซึ่งอาจสรุปได้ว่ามีสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกยึดหลักการห้ามทดลองวิจัยตัวอ่อนเช่นเยอรมัน นอร์เวย์ กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งยึดแนวทางที่ยืดหยุ่นกว่า กล่าวคืออนุญาตโดยมีเงื่อนไขภายใต้การควบคุม ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองตัวอ่อน และเพื่อจำกัดการวิจัยให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมอันดี ตลอดจนเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการให้อยู่ในขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม
ง) ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย
การทดลองต้องถูกจำกัดและควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยองค์การผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งจะตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทางสังคมและทางกฎหมาย