การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (14) การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ต่อ)

กำลังใจ บางครั้งการปฏิบัติงานท่ามกลางภาวะวิกฤติจะก่อให้เกิดความท้อแท้ในการทำงาน บรรยากาศการทำงานแย่ลง และส่งผลบั่นทอนจิตใจผู้ปฏิบัติงาน การได้รับเสียงสะท้อนที่ดี ก็จะเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดพลังใจในการที่จะพัฒนาตนเองเพื่อการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจมาจากคำชมเชย หรือจากการติดตามการประเมินผลการปฏิบัติงาน

3. สังเกตและเรียนรู้จากคนรอบข้างและงานที่ทำ การสังเกตจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสได้ถึงบรรยากาศการทำงานขององค์การ และสามารถคิดค้นหาวิธีการในการแก้ไข ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

4. แสวงหาความรู้ การแสวงหาความรู้ต่างๆ ส่งผลต่อการทำงานและการพัฒนาตนเอง เช่น การแสวงหาความรู้จากงานที่ทำ การศึกษาต่อ การค้นคว้าศึกษาจากตำราด้วยตนเอง การซักถามหาความรู้จากเพื่อนร่วมงานทุกกลุ่ม การออกไปพบปะกับผู้รู้นอกสถานที่ หรือการได้มีโอกาสรับฟังสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

5. พัฒนาตนเองด้วยหลักศาสนา การนำหลักศาสนามาใช้ในการพัฒนาจิตใจของตน ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนจากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ปฏิบัติงานที่ต่างศาสนากัน

6. เรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์ การทำงานในสถานการณ์ความรุนแรง บางครั้งผู้ปฏิบัติงานก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถทำงานได้โดยไม่มีอุปสรรค อาจใช้แนวทางในการซักถามคนรอบข้างหรือการสังเกต

นอกจากนี้ รอฮานิ เจอะอาแซ และคณะ (2552ข) ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากรด้านสาธารณสุขในศาสนาพุทธซึ่งต้องทำงานให้บริการแก่มุสลิม ซึ่งก็มีความใกล้เคียงกับการพัฒนาตามวิถีแห่งมุสลิมด้วยสารัตถะเดียวกันในบางประการ ดังนี้

1. การทบทวนและทำความเข้าใจตนเอง การวิเคราะห์ตนเองเป็นกระบวนการสำคัญ โดยเฉพาะในเจ้าหน้าที่ที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมปฏิบัติและความแตกต่างทางวัฒนธรรม การวิเคราะห์ตนเองจะทำให้มีโอกาสได้ทบทวน ทำความเข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดสุขภาวะจากการประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

2. การเปลี่ยนมุมมอง การทำงานในชุมชนที่มีความแตกต่างด้านความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรม บางครั้งผู้ปฏิบัติงานต้องก้าวข้ามกรอบแนวคิดและความเชื่อของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองและประเมินคุณค่าของผู้ป่วยภายใต้ความเชื่อของผู้ป่วยในบริบทที่ตนเองต้องปฏิบัติงาน

3. เริ่มต้นจากการให้ เอาชนะใจด้วยความอดทน จริงใจ และสม่ำเสมอ ใช้ความอดทนอดกลั้น จริงใจและสม่ำเสมอ ในการเอาชนะใจคน ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา ถึงแม้จะรู้สึกคับข้องใจ เนื่องจากความแตกต่างทางศาสนา

4. การใช้ประสบการณ์ตรงพัฒนาความเข้าใจผู้รับบริการ ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะทำให้เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต เข้าใจบุคคลผู้อื่นที่ประสบกับความทุกข์ยาก เมื่อให้การบริบาลผู้เป็นมุสลิมก็ต้องเข้าใจมุมมอง ความเชื่อ เข้าใจแนวคิดและข้อจำกัดของบุคคลเหล่านั้นให้ได้มากขึ้น

5. การสร้างพลังจากกำลังใจ การสร้างพลังใจเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเครียด กดดัน และความกังวลในการปฏิบัติงานได้ เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานมีพลังในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ด้วยความห่วงใยและเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนมนุษย์แม้จะต่างศาสนา

6. จะเห็นได้ว่าการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณในทัศนะของทั้ง 2 ศาสนา มีประเด็นร่วมที่สอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัดคือ การเข้าใจตนเอง การเรียนรู้และพัฒนาตน และการรู้จักสร้างกำลังใจ ในขณะที่ผู้ที่ต้องปฏิบัติในบริบทที่ต่างศาสนากับตนต้องใช้การปรับเปลี่ยนทัศนคติเข้ามาเป็นประเด็นเสริม ซึ่งนั่นก็คือการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วยปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ตามที่นักคิดอีกหลายท่านได้กล่าวถึง ดังที่ผู้วิจัยจะกล่าวถึงต่อไป

อารยา พรายแย้ม และคณะ (2552) ได้ให้แนวทางในการพัฒนาจิตวิญญาณ (Spirit) และความเป็นจิตวิญญาณ (Spirituality) คือ การทำสมาธิ เป็นการสร้างความคิดที่ให้ผลในทางปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ การกระทำ และพฤติกรรมต่างๆ ทำให้ชีวิตมีความสงบ สุข และสมบูรณ์พร้อม โดยสมาธิจะเพิ่มการตระหนักรู้ของการนำคุณค่านั้นไปใช้อย่างเต็มที่และช่วยให้เราพัฒนาพลังที่จะฝึกปฏิบัติ แม้จะต้องใช้ความต่อเนื่องและใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน เพื่อเชื่อมโยงจิตใจ สติปัญญา และจิตใต้สำนึกของบุคคล ช่วยให้จิตวิญญาณมีความละเอียดอ่อน มีพลังในการแยกแยะ และตัดสินใจได้มากขึ้น