สามารถอาบน้ำได้ แปรงฟันได้ แต่กินข้าวนี่ก็ยังแบบว่าเลอะ ๆ เทอะ ๆ อยู่ ก็ต้องใช้เวลาค่ะ”(เหนือ 2)
“ที่โรงพยาบาลเนี่ยเคยใช้นักกายภาพบำบัด นักแก้ไขการพูด มาฝึกคนไข้กลุ่มนี้ แล้วคนไข้ก็หนีหายไป ไม่มีใครพูดได้ซักคน พอตอนหลังเราก็ท้อแท้นะ คนไข้เราพูดไม่ได้ ไม่เข้าสังคมเลยนะ เพราะไม่รู้จะติดต่อสื่อสารยังไง ก็ไปเจอชมรมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย แล้วมีคนที่เป็นอาจารย์ในชมรมน่ะ อยู่จังหวัดราชบุรีคนนึง ก็เป็นความโชคดีของเรา ก็เลยมาเป็นอาจารย์ที่เรา ก็เลยตั้งชมรมที่โรงพยาบาลราชบุรี เมื่อเราได้สัมผัสกับคนไข้กลุ่มนี้ทำให้รู้ว่า เราน่าจะไปส่งเสริมหรือรณรงค์ในเรื่องการสูบบุหรี่นะคะ ก็เลยรวมตัวกันในการทำงานตรงนี้ แต่ด้วยงานตรงนี้มันเห็นภาพยากเนอะ เพราะว่ามันเป็นส่งเสริม รณรงค์ ประชาสัมพันธ์อย่างนี้ มันเป็นงานแบบกว้างน่ะ แกนนำมีอยู่ 3 คนนะคะ แล้วเค้าก็มองว่าไอ้พวกนี้มันไปทำอะไร ไม่ใช่งานของมันเลยนะ ผู้ใหญ่เค้าจะมองอย่างนี้ ไอ้งานรณรงค์ เย้วๆ น่ะ งานส่งเสริม มันเป็นงานของเวชกรรมสังคม งานของชุมชน มันเป็นงานนอก เราเป็นพยาบาลทำไมเราไม่ดูแลคนไข้ตรงนี้ แต่พวกเรามองกันว่าทำไมเราไม่ลงไปดักซะตั้งแต่ก่อนที่จะเป็น ป้องกันผู้สูบรายใหม่นะ แล้วคนที่เป็นโรคแล้วให้หยุดได้ไม่ให้โรคลุกลามนะ ทำไมเราไม่ดูแลตรงส่วนนั้น ช่วยให้เค้าเลิกบุหรี่ได้ นี่คือจุดประสงค์ใหญ่”(กลาง3)
“ดิฉันก็กลับมาถึงโรงพยาบาล เค้าก็บอกว่า ศพมาแล้วค่ะพี่ ดิฉันก็ไปอีกค่ะ ไปที่จัดการศพอีก ศพก็มีทั้งหมด 8 ศพนะคะ ก็ไปที่ศพอีก ไปช่วยทำศพถึงบ่าย 3 รู้สึกว่ามันเสร็จแล้ว จะเสร็จแล้ว หิวค่ะ ไม่ได้ทานข้าว ตั้งแต่เช้านะคะ ก็มีคนครัวเค้าก็ไปซื้อข้าวห่อมา ก็นั่งกินตรงนั้นละค่ะ ที่ศพ ที่เราทำความสะอาด เช็ดเลือด เย็บแผลอะไรให้ แผลจะแหวะหวะมากเลยค่ะ เย็บกันแบบ บางเคสสมองไหล ก็เย็บกันกินกันตรงนั้นแหล่ะค่ะ ไม่มีความรู้สึกเลยนะ ว่า สมองนะ เลือดนะ ก็ชวนกันชวนตำรวจทหารที่มาตรงนั้นมาร่วมกัน มากินข้าวด้วยกัน เสร็จแล้วก็คงเสร็จแล้วนะ แล้วพอเกือบๆ 4 โมงเย็น ญาติก็มานะคะ โอ้โห สุดๆเลยค่ะ ทุกคนมาแบบร้องห่มร้องไห้อะไรอย่างเนี้ยนะคะ ต้องปลอบญาติอีก ก็คือใจเราก็สุดๆแล้วนะคะ ก็ต้องปลอบญาติอีก ทำใจตรงนั้นแล้วก็มาปลอบญาติพี่น้องเค้าอีก ดูแลจนศพเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณ 5 โมง ก็กลับมาบ้าน พอตอนหัวค่ำเอาอีกแล้วค่ะ มีเสียงไซเรนอีกแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นระเบิดอีก ก็มีคนเจ็บประมาณเกือบ 30 ค่ะ กับโรงพยาบาลแค่ 30 เตียง เจ้าหน้าที่มีไม่กี่คนนะคะ กลางคืนนะคะ ขึ้นมาอีกมาช่วยกันอีก”(ใต้ 1)
พฤติกรรมของผู้มีจิตวิญญาณนี้ เป็นพฤติกรรมที่แสดงต่อผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ และอาจพบหลักฐานจากข้อความว่า แรงจูงใจของการมีพลังนี้เพื่อความสุขของผู้อื่น เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า พฤติกรรมนี้มีสาเหตุมาจาก แก่นของจิตวิญญาณด้าน เข้าใจเข้าถึงผู้อื่นเป็นหลัก นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจาก แก่นด้านความหมายและเป้าหมายของชีวิตด้านการบรรลุเป้าหมายของการมีความหมายของชีวิต
3. ปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้อื่น
ผลของจิตวิญญาณในประเด็นนี้ เป็น พฤติกรรมที่แสดงถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่น โดยคำนึงถึง ความรู้สึกและความต้องการ เกียรติและศักดิ์ศรี ของบุคคล ดังตัวอย่างของพฤติกรรมดังนี้
“ชาวบ้านมารออยู่ที่วัดซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาทำนากันแล้วทีนี้พอออกไปชาวบ้านเขาก็บอกโอ้ยคุณหมอ ทำไมคิดจะทำไมทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ลีจังเลย โอ้ยมันแสบมากเลยนะถ้าพูดถึง ถ้าเป็นเมื่อก่อน อือ อือ ทีนี้กลายเป็นว่าเรารู้สึกผิดมากเลยนะที่เราคิดอย่างนั้นนะ ถ้า ๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราไม่ยอม เพราะว่าฉันเป็นหมอใหญ่ ฉัน คือคนทำงานโรงพยาบาลชาวบ้านเขาจะให้คุณค่า ตั้งแต่คนขับรถเขาจะเรียกคุณหมอเขาให้เกียรติ ทีนี้เราก็จะหลงในการเป็นอัตตาความเป็นอัตตา ตัวตนของตัวเอง อย่างนั้น เขาต้องฟัง คุณต้องฟังใช่ไหมอะไรอย่างนี้ ซึ่งพอเราออกเป็นทำงานเรื่อย ๆ เรา ถ้าเราเปิดใจฟังเขาหน่อยนะเรียนรู้เขาหน่อยนะ ดูเขาหน่อยนะไม่ใช่ไปเรียกให้เขามาฟังพระแล้วคุณก็ต้องดูอย่างที่ฉัน Action ให้พวกคุณดู มันไม่ใช่อะ พอไปแล้วยิ่งคำว่าผู้ใหญ่ลีรู้สึกเขาสอนอะไรม้าก เลย”
“มีเป็นบางกรณี ถ้าเกิดว่ามันรุนแรงคือ หมายความว่าถ้าเขาแสดงอารมณ์กันมากเกินไปก็จะพูดเพราะว่าปกติ จะมีโอกาสประชุมฝ่ายอาทิตย์ละครั้ง หรือบางทีก็ไม่ได้ประชุม ก็จะเอาเรื่องของตัวอย่างคนไข้ไปพูด แต่แบบเราจะไม่พูดแบบเจาะจงนะคะ เพราะการพูดแบบเจาะจงแล้วยิ่งในฝ่ายเรามีกันแค่ 7 คน การพูดเจาะจงลงไปเนี่ยมันเหมือนเราไปซ้ำเติมความผิดของเขา เราก็เลยอยากให้พูดแบบรวม อยากให้ทุกคนทำแบบรวมๆด้วยกัน ก็เคยประชุมกันก็เคยพูดไปว่าการให้บริการคนไข้เนี่ย ให้เรายึดหลักว่าเขาเป็นญาติพี่น้องของเราแล้วถ้าเราอยากให้คนอื่นทำอะไรกับเรา คือทำดีกับเราเนี่ย เราต้องทำดีกับคนอื่นก่อน อยากให้เขาทำอะไรยังไง อยากให้เขาทำดีใช่ไหม เราก็ต้องทำดีกับเขาก่อนจะ อันนี้จะไม่ใช้กับคนไข้อย่างเดียว ใช้กับเพื่อนร่วมงานในฝ่ายอื่นด้วย”(เหนือ 3)
“ หมอที่ดีน่ะทำตัวเหมือนรวงข้าวไว้ เพราะว่ากระบวนการเรียนการสอนเนี่ยะ…คือผมก็ไม่รู้หรอก ว่าผมพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่ยายแกสัมผัสได้ว่า มาแต่ละครั้ง กลับมาเยี่ยมแก แกรู้ว่ามันเปลี่ยน แกก็จะเตือนคำนี้ผม “(อีสาน 1)
“คือในความรู้สึกของตัวเอง จะรู้สึกว่าเขาคิดว่าตัวเองมีอำนาจ เหมือนเบ่งเนอะ ดังนั้นถ้าเราให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ โทษนะคะ พอดีว่าเชิญนั่งก่อนนะคะ พอดีว่าทานน้ำเย็นๆ ก่อน รอแป๊บนึงได้ไหมคะ คือให้ในสิ่งที่เขาต้องการ เหมือนกับว่าเค้าอยากมีอำนาจแล้วเราให้ มันก็เหมือนกับว่าจะคุยกันรู้เรื่องขึ้น เค้าก็จะยอมเรา ยอมรับในสิ่งที่เราขอ รอแป๊บนึงได้ไหมคะ พอดีเขามาก่อน นั่งรอแป๊บนึงนะคะ น้ำ เอาน้ำมาเสิร์ฟนิดนึง จะได้ใจเย็น มันก็แก้ปัญหาตรงนี้ได้น่ะค่”ะ(เหนือ 3)
“เค้ากลับมาหนักอีกครั้งนึง เค้าเป็นทั้ง TB นะคะ เป็นวัณโรค แต่..คิดว่าฮวงไม่ควรจะรังเกียจเค้าเพราะว่า แค่คนอื่นรังเกียจเค้าก็มากพอแล้ว ..ก็เข้าไปใกล้ๆ เค้า เข้าไปจับตัวเค้า เข้าไปพูดกับเค้าใกล้ๆ ทุกครั้งน่ะค่ะ ”.(อีสาน3)
“เวลาลงไปดูน้องซักประวัตินะคะ จะต่อว่าคนไข้เสมอถ้าคนไข้ผิดนัด คนไข้มารับยาอะไรแบบนี้ ก็จะบอกว่า เอ้า! เวลาหมอนัดทำไมไม่มา เค้าก็จะบอกว่าเกี่ยวข้าว เราก็จะถามต่อว่าได้เยอะไหม น้ำท่วมไหมอะไรแบบนี้ เพื่อ release ความกดดันของเค้า คือทำให้น้องดู จะไม่สอน ไม่ได้ช่วยเค้าเยอะหรอกแต่ทำให้ผู้ที่โดนต่อว่าน่ะรู้สึกผิดน้อยลง เค้ามีเหตุผลนะที่เค้าไม่มา เค้าเกี่ยวข้าวอยู่ไม่มีคนอยู่บ้าน อย่างตอนเย็นๆ ก็จะกลับบ้านค่ำๆ มาอะไรตอนนี้ รู้ไหมเวลานอกราชการ ทำไมไม่มาตั้งแต่ 4 โมงเย็น บางทีก็จะเป็นข้าราชการเนอะพาพ่อพาแม่มาตอนค่ำ เลิกงานแล้วถึงจะพามา เราก็บอกว่า ต้องรอหน่อยนะนอกเวลาหมอมีคนเดียว คือพยายามทำให้น้องเห็นน่ะทำให้น้องดู” (อีสาน 3)
การแสดงพฤติกรรมนี้เป็นการแสดงออกกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน คนไข้ เพื่อนร่วมงาน การแสดงพฤติกรรมนี้อาจมีสาเหตุมาจากแก่นของจิตวิญญาณด้าน “เข้าถึงเข้าใจผู้อื่น”การรับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจมากขึ้น และเข้าใจสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา (perspective taking) นอกจากนี้ พฤติกรรมนี้คล้ายคลึงกับสังกัปเรื่อง การปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างเคารพใน ความมีศักดิ์ (dignity) น่าจะเป็นสังกัปที่อธิบาย พฤติกรรมนี้ได้ดี ทั้งนี้เพราะการปฎิบัติต่อผู้อื่นโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของคนอื่น หมายถึง การแสดงความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างคนที่มีความแตกต่างกันทางระดับของสังคม เช่น เป็นเจ้านายลูกน้อง ราชการ-ชาวบ้าน แล้วปฎิบัติต่อกันโดย ไม่หลอกลวงกัน และรับฟัง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน