จะฆ่าตัวตายนะฮะ ตัวเราเองก็ต้องพยายาม push ตัวเองที่จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้นให้ได้มาก” (เหนือ 1)
“คือเราเห็นตรงนี้แล้วเราเกิดความขัดแย้งในใจ บางทีพูดแล้วอยากจะร้องไห้ บางทีทำไมเค้าไม่เข้าใจทุกข์ ไม่เห็นเหมือนที่เราเห็นอย่างนี้น่ะค่ะ ทำไมเพื่อนร่วมงานเรา ในองค์กรเราเนี่ยทำไมเค้าไม่เห็นทุกข์ ทำไมไม่คิดว่าถ้าเราเป็นเค้า ลองเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา ตรงนี้เราจะดูแลคนไข้แบบเมตตามากขึ้นเนอะ”(อีสาน3)
“เขาเป็นช่างซ่อมแล้วก็ฝ่ายโสตฯ เขียนป้าย เป็นลูกจ้างประจำ อายุ 50 กว่าปีแล้ว เกือบจะเกษียณแล้ว ตอนแรกก็เคยคุยว่า จะบำบัดมั้ย วันรุ่งขึ้นแกบอก แกจะขอย้าย เราก็ว่า อยากจะพาแกไปบำบัด หรือว่าเปลี่ยนจุดทำงาน ตามข้อเสนอของทีม กลายเป็นว่า…นี่น่ะครับ เขารู้ว่าเราไม่เข้าใจเขา วันต่อมา ก็เลย โอเค ยังไม่ต้องคุยเรื่องนี้แล้วหล่ะ วันนั้นมีงานแต่งงานของคุณหมอท่านนึง ก็เลยไปคุยกัน ก็ไปกอดแก ตอนนั้นบนโต๊ะก็มี…ขวดแบล็ค ขวดเบียร์ …ผมก็ไปกอด โอบหลังแกไว้ น้า…แกชื่อ น้า..เนาะคนที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง ผมรักน้า..นะ น้า…อยากให้ผมช่วยอะไรก็บอกแล้วกัน ผมไม่อยากให้น้า…ย้ายเนาะ แค่เนี้ยะ เจ้าหน้าที่ผมก็ไปร้องไห้…แล้ววันรุ่งขึ้นก็ขอย้ายตึกขึ้นมาทำงานข้างบน แล้วแกก็เปลี่ยนไป ทำงานได้ดีขึ้น แล้วก็กินเหล้าน้อยลง แทบไม่มีการกินเหล้าในเวลาราชการเลย แต่ก่อนแกจะกินตลอด”(อีสาน1)
“ที่โน่นเขาจะมีประเพณีหนึ่งเรียกว่า เหยา รายละเอียดต้องให้พี่…..เล่า พอเหยาเสร็จเขาก็เหลือเชื่อนะคะ คนไข้ดีขึ้น คือลักษณะของการเหยาเหมือนกับดนตรีบำบัด คือมีเครื่องดนตรี มีเพื่อนมาเยี่ยมมายาม มาเยอะเลย รู้สึกเขาจะคึกคักเต้นระบำรำฟ้อน เขาก็จะรู้สึกดี น้ำตาลก็ลด กำลังใจก็ดี เขาก็รู้สึกดีขึ้น ตรงนี้ หรือบางคนเขาเปลี่ยนจากยากินเป็นยาฉีด แล้วรู้สึกสุขภาพเขาจะทรุดโทรม ในหมู่บ้านเขา อสม. อาสาสมัครชุมชนเขาเนี่ยะ ก็ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ” (อีสาน 1)
“จากคนที่แบบตั้งมั่นเลยนะคะ ชั้นต้องอย่างนั้น ชั้นต้องอย่างนี้ ก็เลยต้องมาฟังเค้า แล้วก็เด็กรุ่นหลังจะเป็นอะไรที่ดูแลยากนะคะ ยากมากๆ เพิ่งมาเมื่อ 2 ปีนี้ จากที่ไปเรียนนี่อีกแหละค่ะ ก็ไปเรียนเสร็จ เค้าบอกว่า การที่ทำให้ใครเค้ามานั่งอยู่ในใจเรา เราต้องไปนั่งอยู่ในใจเค้าก่อน เราก็ เอ๊ อะไรไม่เข้าใจ ก็เลยต้องไปอ่านหนังสือ แล้วก็ไปถามเพื่อนเนอะ พี่ … เค้าเป็นอาจารย์จิตเวช ชั้นไม่เข้าใจต้องทำยังไงล่ะเธอ เค้าก็เลยเล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยประยุกต์เอามาใช้น่ะค่ะ” (เหนือ 2)
แก่นของจิตวิญญาณในด้าน “การเข้าใจเข้าถึงผู้อื่น” นี้ประกอบด้วย การรับรู้ปัญหาและความทุกข์ ไวต่อความคิดความเชื่อ ที่ปรากฏตามรายละเอียดข้างต้น เป็นคุณลักษณะที่ปรากฏในผู้ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรับรู้ความทุกข์ที่แสดงถึงการรับรู้ความทุกข์และปัญหาของคนใกล้ชิด คนไข้ ผู้ดูแลคนไข้ และเพื่อนร่วมงาน สำหรับเรื่องไวต่อความเชื่อของผู้อื่นนั้น จะปรากฏในลักษณะของการ รับรู้ความเชื่อทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาหรือดูแลผู้ป่วยได้ ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ความต้องการของคนไข้ และเพื่อนร่วมงาน แก่นของจิตวิญญาณด้านนี้อยู่ที่ ความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลต่อบุคคลด้วยกัน หรือเชื่อมระหว่างคนอื่น กับ self ประเด็นของจิตวิญญาณด้านแรกนี้อาจมองได้ว่าเป็นสังกัปที่คล้ายคลึงกับ ความเห็นใจ (sympathy) และ ความร่วมรู้สึก (empathy ) ซึ่งแตกต่างกันอยู่ที่ว่าตัวหลังเป็นความเข้าไปทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิด ที่ลึกซึ้ง ที่เหมือนเข้าไปร่วมความรู้สึกกับผู้ที่กำลังมีความทุกข์อยู่นั้น กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้แสดงออกทั้งสองประเด็น (ที่ปรากฏใน quotation) แต่มีลักษณะที่เป็นความร่วมรู้สึกมากกว่าการเห็นใจ ผลของการมีความร่วมรู้สึกจะทำให้แสดงพฤติกรรมช่วยเหลือ และความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างบุคคล (Davis, Mark H. , 2010) และ เป็นสังกัปที่คล้ายคลึงกับ perspective taking ซึ่งเป็นสังกัปที่แสดงถึง ความตระหนักและความพยายามของบุคคลในทำความเข้าใจกับ ความรู้สึก ความเห็น ความคิด ของบุคคลอื่นที่ตกอยู่ในสภาวะทางอารมณ์หนึ่งๆ และสามารถเข้าใจได้อย่างใกล้เคียง (Nicholas,E. and Waytz ,A.,2009) จะเห็นว่าการที่เข้าใจในความเชื่อของคนไข้และนำมาใช้อย่างเหมาะสมย่อมแสดงถึงความสามารถของกลุ่มตัวอย่างที่มิใช่เพียงแต่ร่วมความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังเป็นการตีความที่เหมาะสมอีกด้วย