การพยายามที่จะทำให้ Lexical definition มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามความรู้ความเข้าใจที่มีมากขึ้นในเรื่องนั้น ๆ หรือเพื่อการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ความหมายที่เป็นที่ยอมรับกันมีความแม่นหรือตรงกับสิ่งที่กล่าวถึงมากขึ้น เช่น การนิยามความหมายของเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์
4. Theoretical definition หมายถึงการนิยามที่สร้างขึ้นโดยมีทฤษฎีเป็นฐานรองรับ เป็นการนิยามโดยอิงกับทฤษฎี ตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีทฤษฏีว่าชีวิตเกิดจากปฏิกิริยาทางชีวเคมี ก็อาจนิยามความหมายของชีวิตได้ว่าเป็นกระบวนการทางเคมี หรือเป็นผลมาจากกระบวนการเคมี เป็นต้น
การนิยามยังมีความแตกต่างระหว่าง Intrinsic vs Extrinsic definition โดย Intrinsic definition เป็นการสร้างคำนิยามโดยใช้คุณสมบัติภายในของสิ่งนั้นเป็นตัวบ่งบอกลักษณะเฉพาะที่ให้ความหมายของสิ่งนั้น ส่วนการให้คำนิยามโดยอาศัยลักษณะภายนอกคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นที่ดำรงอยู่ภายนอกมาเป็นคุณสมบัติที่นิยาม เรียกว่าเป็น Extrinsic definition
นอกจากนี้ คำจำกัดความยังแยกออกได้อีกสองนัยยะ คือ Denotative definition และ Connotative definition โดยความหมายของคำว่า Denotative definition หมายความว่า เป็นคำนิยามที่เมื่อกล่าวถึงแล้ว บ่งชี้ไปถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ส่วน Connotative definition หมายถึงคำนิยามที่บ่งถึงสิ่งกว้างๆ ที่พอจะเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว และมีเงื่อนไขสำคัญหลายประการที่จะทำให้การนิยามเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิยามในสิ่งที่เป็นนามธรรมและเป็นการนิยามความหมายของสิ่งที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันได้อย่างชัดเจน การนิยามจิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เป็นไปได้จะเป็นเพียงการเสนอ Stipulative definition ซึ่งเป็นคำจำกัดความเบื้องต้นเพื่อให้การถกเถียงอภิปรายกันเป็นไปได้ การสร้างคำนิยามที่เป็น Lexical definition เกี่ยวกับจิตวิญญาณยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากด้วยเหตุผลหลายประการคือ
1. การนิยามเพื่อให้ได้ความหมายที่เป็นที่ตกลงกันได้ในสังคมวงกว้างนั้น สังคมต้องมีประสบการณ์ร่วมในระดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากพอที่รู้จัก เข้าใจหรือเข้าถึงเรื่องจิตวิญญาณอย่างดีพอที่จะรู้ว่า จิตวิญญาณมีลักษณะอย่างไร มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร
2. หากการรับรู้หรือการตีความเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณมีความหลากหลาย ซึ่งมักเป็นสภาพที่พบเห็นโดยเฉพาะในสังคมที่มีความหลากหลายของจารีต ความรู้ ระบบความเชื่อและศาสนธรรม การมีนิยามแบบ Lexical definition อาจเกิดขึ้นได้เมื่อระบบความคิดหนึ่งได้สถาปนาตนเองจนมีอำนาจเหนือกว่าระบบอื่น ๆ ซึ่งทำให้การนิยามตามความคิดแบบอื่นถูกกีดกันหรือหมดสถานภาพไป
3. จิตวิญญาณที่เราพยายามนิยามอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงสิ่งอื่น ๆ ภายนอกตัวมันเองได้ชัดเจน เช่น เราไม่สามารถอธิบายจิตวิญญาณของมนุษย์ในแง่ที่เป็นคุณสมบัติของอวัยวะ หรือไม่ได้เป็นคุณสมบัติของช่วงชีวิต วัยแต่ละวัยได้ การที่จะสร้างนิยามจึงต้องเป็นลักษณะที่เรียกว่า Intrinsic definition ซึ่งหมายความว่าการนิยามจากลักษณะคุณสมบัติภายในของสิ่งนั้นเอง การนิยามจิตวิญญาณจึงมีลักษณะที่ยากที่จะนิยามผ่านความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกได้ เพราะจิตวิญญาณเป็นมิติที่เป็นด้านในของชีวิต เป็นส่วนของจิตใจที่แฝงเร้นอยู่นอกสามัญสำนึก ที่ Schutz เรียกว่า Penumbra
4. จิตวิญญาณเป็นสิ่งที่อาจจะยากที่จะนำเสนอผ่านภาษาธรรมดาของมนุษย์ได้ เพราะกระบวนการด้านในที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยภาษาได้ยาก เราจึงมักจะเห็นพิธีกรรมหรือศาสนาต่าง ๆ มีการสื่อสารโดยใช้รูปแบบอื่นนอกเหนือจากภาษาพูด ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ที่อาจช่วยให้เราเข้าถึงมิติจิตวิญญาณได้
สำหรับความหมายของคำว่า สุขภาวะทางจิตวิญญาณ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 คำหลักๆ คือ คำว่า สุขภาวะ และจิตวิญญาณ ซึ่งคำว่าสุขภาวะนั้น หมายถึง ภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ภาวะทั้ง 4 ด้านต้องเชื่อมโยงบูรณาการกัน โดยมีปัญญาเป็นศูนย์กลาง (ประเวศ วะสี, 2551 อ้างถึงใน ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2552)
รอฮานิ เจอะอาแซ และคณะ (2552ก) ได้ให้นิยาม สุขภาวะในทัศนะอิสลาม หมายถึง ความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย สังคม จิตใจและจิตวิญญาณ โดยเน้นมิติทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) อิสลามไม่ใช่ศาสนาแต่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังนั้นสุขภาวะในทัศนะของอิสลามก็คือการดำเนินชีวิตตามวิถีทางอันดีของมุสลิมนั่นเอง มุสลิมจะถือว่าการมีสุขภาพดี ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีใน 3 มิติ คือ การมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮ์ คือมีความศรัทธาในผู้ทรงสร้าง การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม คือ สามารถปรับตัวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี และการมีความสัมพันธ์ที่ดีของมนุษย์ที่มีต่อตนเอง คือ การรู้จักดูแลและรับผิดชอบต่อร่างกายของตนเอง
องค์การอนามัยโลก (2537 อ้างถึงใน ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2552) ได้กำหนดความหมายของคำว่าสุขภาพครอบคลุม 3 มิติสำคัญ คือ ร่างกาย จิตใจ และสังคม โดย สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม มิได้หมายความเพียงการปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น ซึ่งต่อมาได้มีการเพิ่มมิติที่ 4 เรื่อง ความผาสุกทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) เข้าไปในคำจำกัดความของสุขภาพ
ส่วนความหมายของคำว่าจิตวิญญาณมีผู้ศึกษาและนิยามไว้หลากหลาย เช่น ประเวศ วะสี (2552) ได้ให้ความหมายจิตวิญญาณว่าหมายถึง สิ่งที่มีคุณค่าสูงส่งในทางจิตใจ มีมิติที่เหนือกว่าวัตถุ ในทางพุทธเรียกว่าโลกุตระสุข เป็นความสุขหรือสุขภาวะที่เหนือเนื้อหนังมังสาขึ้นไป เป็นส่วนสำคัญที่สามารถกำหนดมิติทางวัตถุภายนอกได้ แต่เมื่อรวมกับคำว่าสุขภาวะแล้ว สุขภาวะทางจิตวิญญาณ คือ การกล่าวความหมายที่ครอบคลุมไปในทุกมิติเชื่อมโยงบูรณาการกัน สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ประสบกับความสุข สงบ อิสระ อย่างประณีต ลึกซึ้ง จากการทำความดี ลดความเห็นแก่ตัว เห็นใจเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น โดยมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นประสบการณ์ที่เกิดความสงบ เกิดความสุขอย่างปราณีต ความกลัว ความรู้สึกต่าง ๆ หายไป เกิดขึ้นในบางช่วงบางขณะ มีความเป็นอิสระอยู่ในตัว เกิดความสุขลึกซึ้ง