แล้วเราต้องการความช่วยเหลือจากคนที่เค้ามี “(เหนือ 2ขอข้อมูลเพิ่ม)
“เพราะว่า ตอนนั้นเป็น case แรกของเราด้วยที่ว่าเราผูกพัน ก็รู้ว่าเค้าจะต้องถึงเวลาแล้ว เค้าก็ปวด ญาติก็จะโทรมาว่าหมอปวดมากเลยทำยังไง เราก็โทรไปหาหมอ…คนไข้ปวดทำไงดี หมอ…ก็สั่งให้พยาบาลไปฉีด ตอนนั้นกรอบยามันก็ไม่ได้เยอะ ก็เป็นแค่รักษาจิตใจ มอร์ฟีนในอนามัยก็ไม่มีอยู่แล้ว แล้วคนไข้ก็ยืนยันว่าจะไม่ไปโรงพยาบาลเพราะว่าไปก็กำลังใจเสียทุกครั้งเลย เอ้า ยังอยู่อีกเหรอ แกเลยบอกทำไมทักแบบนี้ ทักว่าแกยังมีชีวิตอยู่อีกเหรอ แกก็เลยยืนกรานว่าจะไม่ไป เราก็เลยบอกอยู่ที่บ้านนี่แหละ เราก็ให้น้องพยาบาลที่เค้ามีทักษะนะคะไปคุยทางด้านจิตใจ ใช้ธรรมะ ทำยังไงจะลดความเจ็บปวด ไปหาหนังสือมาให้แกอ่าน เพราะว่าเราก็ไม่มีประสบการณ์ตรงนี้เหมือนกัน แกก็พยายาม แต่แกก็ยังปวด ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่าสงสารคนไข้มาก แล้วก็เหมือนกับทำอะไรไม่ได้ ช่วยเค้าไม่ได้ที่เราอยากจะช่วย แต่ว่าช่วงนั้นน่ะก็คิดว่าเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตเค้าแล้วน่ะ เราจะทำอะไรให้เค้าดี “(อีสาน 3)
“ตอนผมอยู่ปี 4 คนไข้ที่เป็นคนเก็บขยะ หอบลูกที่เป็นปอดบวมมา ผอม มีแต่หนังหุ้มกระดูก เราดูแลเค้า เราตามเค้า แต่นัยยะคือเราปี 4 แต่สุดท้ายเค้าก็เสียชีวิต แล้วเราก็เสียใจมากกว่าที่แม่เค้าเสียใจ เราไปเห็นลูกเค้าเสียชีวิตตอนที่แม่เค้ายังไม่ตื่นด้วยซ้ำอันนั้นจุดประกายอันแรกที่รู้สึกว่ารักชีวิตการเป็นหมอ ก็เลยมุ่งมั่นตั้งใจว่า เพราะว่าถ้าตอนนั้นนี่เราดูเค้าตลอดเค้าคงไม่ตาย พอดีเราไปนอนตอนตี 2 ถึง ตี 5 เนี่ย 3 ชั่วโมงนั้นเป็นเหตุทำให้เค้าหลุด ฉะนั้นผมก็จะมีนิสัยอย่างเนี้ยครับ ตอนที่อยู่ปี 5 ปี 6 ก็จะเหมือนกัน คือจะต้องดูตึกตัวเองจนคนไข้หลับหมดแล้ว เราถึงจะไปนอน จนทุกอย่าง stable ดีหมดแล้ว เราถึงจะไปนอน” (อีสาน 2)
ด้านตระหนักรับรู้ความตายนี้ มีประเด็นอภิปราย คือ ในอาชีพของการเป็นพยาบาล หมอหรืออาสาสมัครที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับการเจ็บป่วย ความทุกข์ การตายของผู้ป่วยนี้ ผู้มีจิตวิญญาณจะมีความอ่อนไหวต่อความตายสูงกว่าผู้ที่มีจิตวิญญาณต่ำ การที่กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้แสดงความอ่อนไหวต่อการสูญเสียคนไข้นี้ ถ้าอธิบายตามแนวคิดของประสบการณ์การเกี่ยวกับความตาย มีคำอธิบายได้ดังนี้ คือทฤษฎีด้านความผูกพัน (attachment theory) กล่าวได้ว่าการเป็นหมอ พยาบาลซึ่งมีความผูกพันกับคนไข้ หรือกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ให้การดูแลรักษา เมื่อคนไข้ที่เคยดูแลกันอย่างใกล้ชิด หรือมีความปรารถนาจะช่วยให้เขาดีขึ้น หรือหายจากอาการของโรค ต้องมาตายจากไปอย่างฉับพลัน หรือตายจากไปด้วยอาการของโรคอย่างทุกข์ทรมาน ทำให้สูญเสียความผูกพันนั้น และทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสียตามมา และนอกจากนี้ อาจอธิบายโดยแนวคิดของการสร้างความหมายใหม่ (meaning reconstruction) ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการมีประสบการณ์เกี่ยวกับความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้ผู้สูญเสียเกิดการสร้างความหมาย หรือมุมมองใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความตาย อย่างไรก็ตามการที่มีประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแก่นของจิตวิญญาณในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่มีจิตวิญญาณ อาจทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นด้านศาสตร์ของความตายและการตาย (death and dying) ที่จะพยายามทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูญเสียให้กลับฟื้นจิตใจให้เป็นปกติ และมีการเปลี่ยนแปลงการคิด มุมมอง และพฤติกรรมที่เป็นผลดีแก่ตนเองและคนไข้