สัพเพธรรมา เชื่อว่า จิตหรือจิตวิญญาณ เป็นสรรพสิ่งที่มีจริงในธรรมชาติอยู่แล้ว เรียกว่า สัพเพธรรมา ขณะที่บางท่านเชื่อว่าเป็นสายพันธุกรรมซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเช่นกัน
3. ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ มาจากภาษาตามวัฒนธรรม มีบางกลุ่มคิดว่า คำว่า “จิตวิญญาณ”น่าจะมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ภายใต้ความคิดของชาวคริสต์ ที่เรียกว่า God the spirit 3 ได้แก่ God the father (พระบิดา) God the sun (พระบุตร) และ God the spirit (พระจิต)
4. ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ ในมุมมองของวิทยาศาสตร์แนวใหม่ หากที่ใช้ฐานคิดวิทยาศาสตร์แนวใหม่ (พงค์เทพ สุธีรวุฒิ, 2548 อ้างถึง Capra 1975; 1996) เชื่อว่า ชีวิตทั้งหลายในระดับต่างๆ ล้วนดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ ในลักษณะของระบบชีวิตที่โยงใยอยู่ด้วยกันเป็นข่ายใย โดยที่ระบบนิเวศเป็นระบบที่ใหญ่และสำคัญมากที่สุด การเข้าถึงความจริงในระบบนิเวศ จะทำให้เข้าใจในระบบชีวิตทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าการจัดระบบองค์การของระบบนิเวศ คือหลักการจัดองค์การของระบบชีวิตทุกระบบ มนุษย์ในฐานะระบบชีวิตหนึ่งของระบบใหญ่ จึงต้องจัดแบบแผนชีวิต ระเบียบสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนของระบบนิเวศ
5. ที่มาของจิต หรือจิตวิญญาณ มาจากสนามพลังงาน บางกลุ่มเชื่อว่า จิตวิญญาณ คือจิตที่เป็นพลังงาน แม้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ว่าเป็นพลังงานประเภทใดจากแหล่งใด แต่เป็นความพยายามอธิบายโดยใช้หลักฐานที่มีอยู่บ้างโดยคิดว่าอาจจะเป็นพลังงานใหม่ที่จิตมนุษย์เองเป็นผู้สร้างขึ้นและเป็นพลังงานที่มีอิสรภาพ หรืออาจจะมาจากสนามพลังงานภายนอก เช่น สนามควอนตรัม หรือพลังงานที่เกิดขึ้นจากจักรวาลซึ่งบางท่านเรียกว่า แดนสุญญตา เป็นต้น
ฟาริดา อิบราฮิม (2534) ได้เสนอโครงสร้างที่ควบคุมหน้าที่การทำงานของคนให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุข คือ โครงสร้างในส่วนจิตวิญญาณ คนที่มีพัฒนาการในจิตวิญญาณดี จะมีมโนธรรม คุณธรรม และจริยธรรม จนสามารถควบคุมตนเองให้มีสมาธิ ใช้ปัญญาในการแสวงหาความรู้แก่วิญญาณด้วยเหตุด้วยผล มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน เพราะมองสรรพสิ่งด้วยกระบวนการแก้ปัญหา มองด้วยความเข้าใจชีวิตและความทุกข์ รู้เหตุรู้ผล ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยความรู้เท่าถึงการณ์ เพราะรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น และรู้จักสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี
นอกเหนือจากนี้ ยังมีนักวิชาการด้านปรัชญาที่สำคัญท่านหนึ่งคือ สุวรรณา สถาอานันท์ (อ้างถึงใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2549) ได้จำแนกแนวคิดจิตวิญญาณตามลักษณะการอธิบายความจริงออกเป็น 3 ลักษณะที่แตกต่างกัน คือ
แบบที่ 1 เป็นแนวคิดแบบนับญาติกับธรรมชาติ ชีวิตของมนุษย์เชื่อมต่อกับโลกธรรมชาติทั้งหมดในฐานะเป็นญาติกัน ทัศนะแบบแรกนี้เป็นการมองธรรมชาติในลักษณะที่เปรียบเสมือนบุคคลหรือบุคลาธิษฐานของอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราสามารถนับญาติหรือถือเป็นสายเลือดของบรรพบุรุษได้ ซึ่งปรากฏเป็นสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ในคติพื้นบ้านไทยก็อาจจะเป็นเทพหรือเทวดา เช่น รุกขเทวดา แม่โพสพ ผี หรือ เทวาอารักษ์ต่าง ๆ
แบบที่ 2 เป็นแนวคิดแบบพระเจ้าสร้างโลก กล่าวคือเป็นทัศนะที่ถือว่าพลังเหนือธรรมชาติ เป็นที่มาของโลกที่เราเห็น แนวคิดดังกล่าวปรากฏเด่นชัดในศาสนาแบบเอกเทวนิยมทั้งหลาย เช่น คริสต์ อิสลาม และยิวที่อธิบายว่าสรรพสิ่งก่อกำเนิดขึ้นโดยเจตจำนงของอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติหรือพระเจ้า ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าและพระผู้สร้างมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง เป้าหมายสุดท้ายของวิธีคิดแบบนี้ชีวิตทางจิตวิญญาณที่สูงส่งที่สุดคือ ชีวิตที่ไปร่วมและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
แบบที่ 3 เป็นแนวคิดแบบพุทธศาสนา เป็นการอธิบายให้เห็นว่าธรรมชาติเป็นผลของเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นเป็นสรรพสิ่งอันมีกระบวนการทางจิตที่ทำให้เราเห็นหรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามการปรุงแต่งของจิตอยู่ ทัศนะดังกล่าวจึงถือว่า สิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยเหตุปัจจัย ทั้งในส่วนที่เป็นรูป (วัตถุ) และนาม (จิต) การเข้าถึงชีวิตอันประเสริฐเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราขจัดตัณหากับอวิชชาที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจและเห็นธรรมชาติอย่างที่มันเป็นได้ ในแง่นี้ ชีวิตทางจิตวิญญาณที่สำคัญที่สุดคือการหลุดพ้นออกไปจากการยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่อยากให้มันเปลี่ยน แต่โลกจริง ๆ นั้นเปลี่ยนตลอดเวลา ความทุกข์ของเราเกิดขึ้นเพราะวิธีคิดของเราขัดกับธรรมชาติ วิธีที่จะหลุดพ้นไปสู่ชีวิตที่ประเสริฐก็คือ สมาธิ วิปัสสนา เพื่อให้เข้าถึงธรรมสัจจะของชีวิต
แบบที่ 4 เป็นแนวคิดที่มองว่าโลกธรรมชาติคือวัตถุสสาร เป็นทัศนะอธิบายความเป็นจริงของโลกธรรมชาติด้วยสัญลักษณ์เชิงสสารที่ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตวิญญาณ และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งไม่มีความหมายในทางจิตใจ แนวคิดนี้เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่โดยตัวของมันเองแล้วมิได้ตอบคำถามว่าชีวิตที่ประเสริฐเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์เพียงแต่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทางกายภาพ ชีวิตที่ประเสริฐหากมีจริงก็เป็นรูปแบบหนึ่งของปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นในระบบประสาท และหากชีวิตเช่นนั้นจะเป็นที่ประสงค์ก็อาจสามารถสร้างให้เกิดได้ หากเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีพอที่จะผลิตเครื่องมือหรือเภสัชสารที่กระตุ้นปฏิกิริยาเคมีเช่นนั้นให้เกิดขึ้นในสมองได้