ประเด็นหลัก(theme)
I. สร้างเสริมแรงบันดาลใจสู่ จิตวิญญาณ
ประเด็นรอง( subtheme)
1.ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ
2. ต้นแบบ ภาพลักษณ์ของจิตวิญญาณ
3.การสนับสนุนและบรรยากาศ
ประเภท
• ทางการปฏิบัติทางพุทธศาสนา
• พบเห็นความทุกข์และความตาย
• การเผชิญปัญหาในชีวิตของตัวเอง
• การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีจิตวิญญาณ
• ต้นแบบจากครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด
• ต้นแบบจากบุคคลในสังคม
• การสนับสนุนจากที่ทำงาน
• การสนับสนุนจากครอบครัว
• บรรยากาศในการทำงาน
ประเด็นหลัก(theme)
II. แก่นของจิตวิญญาณ
ประเด็นรอง( subtheme)
1. ความหมายและเป้าหมายของชีวิต
2. การตระหนักรู้เกี่ยวกับความตาย
3. ศรัทธาในความจริงที่เหนือธรรมชาติ
4. เข้าถึงเข้าใจตัวเอง
5. เข้าถึงเข้าใจผู้อื่น
6. เข้าถึงคุณค่าของจิตใจ(มิใช่วัตถุ)
ประเภท
• การมีอุดมการณ์
• ความเข้าใจในชีวิต
• เชื่อในพลังจิต
• ความเชื่อทางศาสนา
• ความเชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา
• มีสติ
• เข้าใจตนเอง
• คิดทบทวนตัวเอง
• จิตรับรู้ความทุกข์
• ใส่ใจและไวต่อความคิดความเชื่อ ของผู้อื่น
ประเด็นหลัก(theme)
III. ผลของจิตวิญญาณ
ประเด็นรอง (subtheme)
1. ช่วยเหลือโดยเมตตา-กรุณา
2. ทำภารกิจในชีวิตอย่ามีพลัง
3. ปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้อื่น
ประเภท
• ช่วยเหลือเพราะความเห็นใจในความทุกข์
• ช่วยเหลือเพราะมีน้ำใจ
• ปฏิบัติหน้าที่อย่ามุ่งมั่นไม่ย่อท้อ
• กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง
ประเด็นหลัก(theme)
IV. คุณภาพชีวิต
ประเด็นรอง( subtheme)
1. ความสุขใจ
2. ความภาคภูมิใจในตนเอง
ประเภท
• ความสุขจากความรู้สึกของผู้อื่น
• ความสุขที่ได้ทำตามความเชื่อของตนเอง
• ด้านการทำงาน
I. สร้างเสริมแรงบันดาลใจสู่จิตวิญญาณ
ลักษณะร่วมของประเด็นหลัก “สร้างเสริมแรงบันดาลใจสู่จิตวิญญาณ” คือ เป็นสิ่งทีสร้าง หรือรักษาให้บุคคลเกิดพลัง หรือความปรารถนาที่พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเอง โดยปัจจัยที่สร้างแรงบันดาลใจ ได้แก่ การมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ต้นแบบและภาพลักษณ์ของจิตวิญญาณ ในขณะที่ปัจจัยเสริมเป็นสนับสนุนและบรรยากาศ โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
1. ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ
ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ความหมายที่ร่วมกันของประเด็นนี้ คือการที่กลุ่มตัวอย่างได้เรียนรู้จาก การปฏิบัติงานหรือการดำเนินชีวิต ที่ทำให้เกิดความชอบ ความต้องการที่จะพัฒนาจิตวิญญาณให้มีมากขึ้น แบ่งเป็น ประสบการณ์จากการปฏิบัติทางศาสนา การพบเห็นความทุกข์การเผชิญปัญหาในชีวิต และการแลกเปลี่ยนกับผู้มีจิตวิญญาณ ตามที่ปรากฏข้อมูลที่อธิบายในแต่ละเรื่องตามลำดับดังนี้
“…โชคดีตรงที่ว่าพอเข้าใจแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาแล้วอยากศึกษาเนี่ย ครั้งแรกเดินเข้าตลาดในโคราชนะคะ เรียนอยู่โคราช พอฟัง อจ. บรรยายชั่วโมงนั้นเกิดอาการปีติขึ้นมา เราไม่รู้ไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร แต่มีความต้องการอย่างนั้น ต้องการหนังสือธรรมะมาศึกษาสักเล่ม เพราะเราไม่เคยศึกษามาก่อน ถึงแม้จะเคยทำบุญแต่เราไม่เข้าใจ ไปในตลาดไปได้หนังสือเล่มแรกก็คือหนังสือท่านพุทธทาส เล่มแรกเลยนะคะ เดินไปเจอเลย โดยที่ไม่ได้ดูหนังสือเล่มอื่นเลย หยิมมาเป็นหนังสือท่านพุทธทาส ท่านสอนเรื่องอานาปานสติ แล้วก็เริ่มฝึกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฝึกเองนะคะเพราะเราไปอยู่หอ ..ก็ทำอย่างนี้จนเรียนจบ “ (อีสาน 2)
“ตัวเองเรียนโรงเรียนปอเนาะมา โรงเรียนปอเนาะเนี่ย เขาจะสอนให้เด็กฝึกในเรื่องการทำของจิตใจ ก็ตั้งแต่เรารู้ความตั้งแต่เด็กๆเลย เราก็จะเข้าโรงเรียนพวกเนี่ย โรงเรียนตากีลาพวกเนี้ย เขาจะสอนในเรื่องของการทำความดีสู่พระเจ้าอะไรแบบนี้ ก็เขาจะสอน เราจะชินมันอยู่ทุกวัน จนเราโตเราก็ไปเรียนโรงเรียนปอเนาะ …จะสอนเกี่ยวกับศาสนา หลักการปฏิบัติ หลักการใช้สติ หลักการอะไรแบบนี้ พอปิดเทอมก็จะฝึกให้เด็กเข้ากลุ่ม ให้เด็กปฏิบัติธรรมใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนนั้นจน ม.6 ก็เข้าทำศาสนกิจปฏิบัติธรรมทุกเทอม… มันทำให้เรารู้สึกว่าเราซึมซับในเรื่องแบบนี้ เวลาเจอเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรค เราจะจัดการกับมันได้เร็ว อย่างเช่นเวลามีปัญหา ณ ปัจจุบันนี้นะคะ เหมือนเวลาการเดินทางอย่างนี้เราก็กลัว แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราให้ความกลัวอยู่เหนือความรู้สึก มันก็จะทำให้อยู่ไม่ได้เนอะ อยู่ไม่ได้ เราก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้ชนะความรู้สึกนี้” (ใต้ 1)
“แต่สิ่งที่อยากจะขอบคุณก็คือการที่ได้มาทำงานกับออทิสติกเนี่ยนะคะ มันเป็นเรื่องที่ยาก การที่จะช่วยเด็กออทิสติกซักคนนึง ครอบครัวออทิสติกซักครอบครัวนึงน่ะ มันเป็นอะไรที่เรื้อรัง และความทุกข์ที่เราได้เห็น หรือความอดทนของผู้ปกครองที่เราได้เห็นน่ะ นั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เรามีตรงนี้” (เหนือ 1)
“ได้เข้ามาเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล เพราะว่า ประสบการณ์ของตัวเองนะคะ เมื่อปี 46 แฟนของ..นะคะ ฟังแล้วอย่าน้ำตาไหลนะคะ เมื่อปี 46 นะคะ ตอนวันที่ 28 สิงหา วันนั้น..แฟนก็ทำงานอยู่ที่บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ ประมาณบ่ายสามโมง..ก็ได้รับข่าวร้ายจากเพื่อนบอกว่า ขาของแฟนของ..เข้าไปในเครื่องจักร ด้านขวานะคะ ส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่าต้องตัดขาทิ้งค่ะ แล้วตอนนี้เค้าก็อยู่ได้ด้วย ความในครอบครัว กำลังใจในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง ตัว..เองให้กำลังใจ หรือว่าลูก ตอนนี้เค้าก็มีกำลังใจดีขึ้นแล้วค่ะ ช่วงระยะนี้ก็ 5 ปีกว่าแล้วค่ะ ทำให้..มีแรงบันดาลใจตรงนี้ว่า ถ้าแตงเข้าไปเป็นจิตอาสาโรงพยาบาลเราได้อะไรบ้าง เวลาไปทำงานตรงนี้รู้สึกสบายใจ” (ใต้ 1)
“ต่อมาก็มีปัญหาอีก พอจบแล้วตอนแรกตั้งใจจะเป็นแพทย์โรคหัวใจเด็ก สมัครเรียนเรียบร้อย เสร็จ คุณพ่อก็ไม่สบาย ตอนนั้นเพิ่งรู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก็มาเจอตัวเองอีกบทบาทนึงก็คือในฐานะญาติพาคุณพ่อไปหาหมอ ก็จะเจอหมอ ทุกคนคงรู้นะฮะ ความใส่ใจเนี่ยมีทั้งมากและน้อยแตกต่างกัน ก็เลยมีความรู้สึกว่า เวลาเรา ถึงเราจะไม่ใช่คนป่วยแต่ในความรู้สึกของญาติคนป่วย เราอยากรู้อะไร หรือเราอยากจะต้องการอะไรจากคนเป็นหมอที่มารักษาคุณพ่อของเราเนี่ย มันก็ได้น้อยบ้าง ได้มากบ้างตามแต่หมอแต่ละคน มันก็มาส่งผลกระทบกับความรู้สึกของผมอีกว่า เอ๊ะ แปลกนะ จริงๆ ตอนผมอยู่ รพ.แพทย์เนี่ย อจ.ก็มักจะสอนผมว่าให้เห็นใจคนไข้ ดูแลคนไข้ ทำอย่างนู้นอย่างนี้ สารพัดอย่าง แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีน่ะฮะ มันไม่มีอย่างนั้นจริงๆ มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่า เอ๊ะ ถ้าวันนึงเนี่ยผมมีโอกาสทำอะไรตรงนี้เนี่ย ผมก็จะพยายามทำให้มันดีที่สุด” (เหนือ 1)
“จนกระทั่งมาอยู่ที่โคราช เหตุการณ์ที่กระแทกใจก็คือ คุณหมอตุ๊-วิจิรา กับคุณหมอแหยง-สำเริง แหยงกระโทกเนี่ยะ จัดอบรมปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เอาความทุกข์ของคนไทย ของคุณหมอโกมาตร (จึงเสถียรทรัพย์) นี่มาเปิด นั่งดูก็อิน… (ลากเสียง) น้ำตาไหล รู้สึกว่า เราไม่เคยไปดูไปรู้เลยว่า เวลาคนไข้ที่เรารักษากลับบ้านไปเนี่ยะ ไม่เคยไปรู้หรอกว่า เขามีผลกระทบอะไรจากคำพูดของเราบ้าง” (อีสาน 1)
ในความเป็นจริงการมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของบุคคลสาธารณสุขจะมีตลอดเวลาเนื่องจากวิชาชีพต้องเผชิญกับความทุกข์ ความตายของคนไข้อย่างใกล้ชิด ทำให้ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของคนไข้ ญาติ คนไข้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้บุคคลคิดหาวิธีการช่วยเหลือเพื่อให้คนไข้พ้นทุกข์ โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบาก มีการฝึกฝนตนเองโดยใช้หลักทางศาสนา หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลที่มีแนวคิดเช่นเดียวกันเพื่อการเรียนรู้ในการดูแลคนไข้ และญาติคนไข้ ตลอดจนบุคคลแวดล้อมให้มีความสุข