(1) ความผูกพันด้านปฏิสัมพันธ์ (Interactional Commitment) หมายถึง ปริมาณของความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในเครือข่ายทางสังคมซึ่งทำให้ได้แสดงบทบาทหรือมีเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
(2) ความผูกพันด้านอารมณ์ (Affective Commitment) หมายถึง การประเมินค่าทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในเครือข่ายทางสังคมจาก การแสดงบทบาทหรือมีเอกลักษณ์ เช่น รู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นมีความสำคัญ มีความใกล้ชิด ทำให้มีความสุข เป็นต้น
2) ความเด่นของเอกลักษณ์ (Identity Salience) ความเด่นของเอกลักษณ์ หมายถึง ความเป็นไปได้ (Probability) ในการแสดงเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งออกมาบ่อยครั้ง หรือนำเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้ (Burke; & Reitzes. 1991: 247; citing Stryker. 1968; พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์. ม.ป.ป.: 87; อ้างอิงจาก Stryker. 1980: 61) ซึ่งสอดคล้องกับสเตทส์และเบอร์ค (Stets; & Burke. n.d.: 12) ที่ได้อธิบายว่าเป็นเอกลักษณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าถูกกระตุ้นหรือให้แสดงออกมาอยู่บ่อยๆ ครั้งในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แนวคิดเกี่ยวกับความเด่นของเอกลักษณ์พัฒนามาจากความเห็นว่าตัวตนมีความหลากหลายแง่มุม (Multifaceted) และตัวตนจะประกอบไปด้วยชุดของเอกลักษณ์หลาย ๆ เอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันจำนวนมากตามบทบาทที่กำหนด ดังนั้นบุคคลจึงมีเอกลักษณ์ได้มากมายตามบทบาทต่าง ๆ ที่เขาครอบครอง (Stryker. 1992: 873) จากการที่บุคคลมีเอกลักษณ์เป็นจำนวนมากตามบทบาทที่เขาครอบครอง เอกลักษณ์ทั้งหลายเหล่านี้จึงถูกจัดลำดับที่ลดหลั่นกัน (Identity Hierarchy) ในลักษณะที่เอกลักษณ์บางชนิดอาจได้รับการเลือกใช้บ่อยกว่าเอกลักษณ์อื่น ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น บุคคลมีเอกลักษณ์เป็นอาจารย์ พ่อ สามี ข้าราชการ ฯลฯ เอกลักษณ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็จะถูกจัดเรียงลำดับตามความสำคัญและเอกลักษณ์หนึ่งจะมีแนวโน้มที่จะถูกนำออกมาใช้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ มากกว่าเอกลักษณ์อื่น ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากข้อเสนอที่ว่ายิ่งเอกลักษณ์นั้น ๆ อยู่ในระดับความเด่นที่สูงเพียงใด ก็ยิ่งจะได้รับการเลือกใช้ในสถานการณ์นั้น ๆ มากขึ้นเพียงนั้น และอย่างไรก็ตามเมื่อมีความซ้ำซ้อนทางโครงสร้างระหว่างสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ในระดับสูง เอกลักษณ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มว่าจะถูกนำเข้ามาปรากฏในสถานการณ์หนึ่ง ๆ มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะปรากฏว่ามีเอกลักษณ์มากกว่าหนึ่งเอกลักษณ์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกันเสมอไป ในกรณีที่มีความขัดแย้ง ตำแหน่งของเอกลักษณ์ในลำดับความเด่นส่วนหนึ่งจะเป็นตัวกำหนดบทบาทที่จะกระทำและพฤติกรรมก็จะถูกแสดงออกในลักษณะนั้นๆ (พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์. ม.ป.ป.: 87) ดังนั้น แนวคิดความเด่นของเอกลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในทฤษฎีเอกลักษณ์ของบุคคลที่มีต่อความพยายามที่จะทำบทบาทและการปฏิบัติในแต่ละบทบาทได้เป็นอย่างดี (Desrochers; Andreassi; & Thompson. 2005: Online; citing Burk; & Reitzes. 1981)
ดังนั้นความเด่นของเอกลักษณ์ จึงหมายถึง ความเป็นไปได้ในการนำเอกลักษณ์ใดเอกลักษณ์หนึ่งมาใช้ในการแสดงออกกับบุคคลอื่นๆ ในสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน
3) ความรู้สึกสำคัญ (Psychological Centrality) หรือ ความสำคัญของเอกลักษณ์ พบว่าได้มีผู้ใช้คำอื่นๆ แทนความหมายเดียวกันในงานวิจัย เช่น Identity Centrality (Lee. 2002) , Importance of identity (Burke; & Reitzes. 1991) ดังนั้นในการวิจัยนี้ผู้วิจัยจึงใช้คำว่า ความสำคัญของเอกลักษณ์ จากเอกลักษณ์ของบุคคลซึ่งถูกจัดลำดับที่ลดหลั่นกัน (Identity Hierarchy) ตามความเด่นและความสำคัญ สไตรเกอร์ (Stryker. 2007: 1092) ได้กล่าวถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ว่า หมายถึง การรับรู้ความสำคัญของเอกลักษณ์ที่บุคคลครอบครองอยู่ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับความรู้สึกสำคัญนั้นจะถูกระบุด้วยการที่บุคคลอ้างถึงความต้องการหรือความชอบตามความคิดเห็นของตนเอง โดยสันนิษฐานว่าเป็นระดับ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในความเด่นของเอกลักษณ์ตั้งแต่แรก ความสำคัญของเอกลักษณ์จึงเป็นพื้นฐานการเห็นคุณค่าของกิจกรรมที่แสดงออกถึงการมีเอกลักษณ์นั้นๆ (Stryker; & Serpe. 1994: 19)
ดังนั้นความสำคัญของเอกลักษณ์ จึงหมายถึง การรับรู้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของกิจกรรมที่แสดงออกถึงการมีเอกลักษณ์นั้นๆ ของบุคคล
4) การเลือกบทบาท (Role Choice) จากทฤษฎีเอกลักษณ์ของสไตรเกอร์ (Stryker. 1992: 873; Stryker. 2007: 1092) ได้กล่าวถึงว่าความผูกพันมีผลต่อความเด่นของเอกลักษณ์ และความสำคัญของเอกลักษณ์ และความเด่นของเอกลักษณ์ กับความสำคัญของเอกลักษณ์มีผลต่อ การเลือกบทบาท ดังนั้นการเลือกบทบาทจึงเป็นผลลัพธ์ของความเด่นของเอกลักษณ์และความสำคัญของเอกลักษณ์ โดยสไตรเกอร์ (Stryker. 1992: 873) ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ การเลือกที่จะปฏิบัติตามความคาดหวังในบทบาทใดบทบาทหนึ่งมากกว่าบทบาทอื่นๆ ในทฤษฎีเอกลักษณ์ของสไตรเกอร์นั้นนอกเหนือจากการใช้คำว่า Role Choice ว่าเป็นผลลัพธ์ของความเด่นของเอกลักษณ์และความสำคัญของเอกลักษณ์ แล้วสไตรเกอร์ยังได้ใช้คำอื่นๆ ด้วย ได้แก่ Role Choice Behavior (Stryker. 1992; Stryker; & Burke. 2000) Role Behavior (Stryker. 1987) และ Role Performance (Stryker; & Serpe. 1982; Stryker. 1987; 1992) ซึ่งกลุ่มคำเหล่านี้ถูกใช้แทนกันในการกล่าวถึงว่าเป็นผลลัพธ์ของความเด่นของเอกลักษณ์และความสำคัญของเอกลักษณ์ ในทฤษฎีเอกลักษณ์ของสไตรเกอร์ ดังนั้นการเลือกบทบาทหรือพฤติกรรมตามบทบาท หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาตามเอกลักษณ์ที่บุคคลครอบครองซึ่งอยู่ในลำดับความเด่นและความสำคัญสูงสุดซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถูกคาดหวังจากการมีสถานภาพนั้นๆ
นอกจากนี้สไตรเกอร์ยังได้กล่าวถึงว่าการถ่ายทอดทางสังคมจะมีผลต่อระดับความผูกพันที่มีกับเครือข่ายทางสังคมของตนที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (Stryker. 1980: 64) โดยการถ่ายทอดทางสังคมนั้น งามตา วนินทานนท์ (2545: 11-12) ได้ให้ความหมายการถ่ายทอดทางสังคมว่าเป็นกระบวนการเชื่อมโยงบุคคลเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของเขา บุคคลจะเรียนรู้และซึมซับเอาความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมและปทัสถานของสังคมที่เขาเป็นสมาชิกอยู่เข้าไว้เพื่อเป็นพื้นฐานใน การกำหนดแนวความคิดและพฤติกรรม การถ่ายทอดทางสังคมเป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างและส่งผลต่อบุคคลในลักษณะที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใด แต่อาจมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างไป จึงเป็นกระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลที่สงวนไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตนและค่านิยมของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย และพงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์ (2530: 4) ให้ความหมายว่า การถ่ายทอดทางสังคมเป็นกลไกในการผลิตซ้ำทางสังคมและวัฒนธรรม (Social and cultural reproduction) และเป็นกลไกแห่งการควบคุมทางสังคม คือ จากกระบวนการถ่ายทอดทางสังคมทำให้กลุ่มหรือสังคมนั้นสามารถถ่ายทอดค่านิยม ขนบธรรมเนียม ความเชื่อและสิ่งอื่น ๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่งได้ จึงถือว่าการถ่ายทอดทางสังคมเป็นกลไกในการผลิตซ้ำทางสังคมและวัฒนธรรม และด้วยการที่สมาชิกของกลุ่มหรือสังคมนั้นถูกชักนำให้ปฏิบัติตามวิถีทางของกลุ่มโดยสมัครใจ จากการทำให้บรรทัดฐานและค่านิยมต่าง ๆ ของกลุ่มกลับกลายเป็นบรรทัดฐานและค่านิยมของตนเองโดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในแง่นี้การถ่ายทอดทางสังคมจึงเป็นกลไกแห่งการควบคุมทางสังคมนอกจากนี้ สุพัตรา สุภาพ (2546: 48-51) ได้ให้ความหมายว่า การถ่ายทอดทางสังคมเป็นกระบวนการทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ทางตรงเป็นการถ่ายทอดทางสังคมที่ต้องการให้บุคคลปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนที่กลุ่มสังคมนั้นกำหนดไว้ เป็นการบอกว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ อะไรผิด อะไรถูก ฯลฯ ซึ่งเป็นการชี้ทางและแนะแนวทางในการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างจงใจและเจตนา ส่วนทางอ้อมเป็นการถ่ายทอดทางสังคมที่ไม่ได้บอกกันโดยตรง บุคคลได้รับประสบการณ์หรือประโยชน์จากการสังเกตหรือเรียนรู้จาก การกระทำของผู้อื่น การถ่ายทอดทางสังคมนี้จึงเป็นกระบวนการที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ได้เรียนรู้คุณค่า กฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนที่กลุ่มหนึ่ง ๆ กำหนดหรือวางไว้เพื่อเป็นแบบแผนของ การปฏิบัติต่อกันและให้บุคคลได้พัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง โดยสรุปแล้วการถ่ายทอดทางสังคม หมายถึง กระบวนการที่เชื่อมโยงบุคคลเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของเขา โดยกระบวนการนี้บุคคลอาจได้รับทั้งจากทางตรงและทางอ้อมทำให้บุคคลได้เรียนรู้และซึมซับเอาเจตคติ ค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมที่เขาเป็นสมาชิกอยู่เข้าไว้เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวความคิดและ การแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้อง เหมาะสมตามความคาดหวังของสังคมที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่และทำให้บุคคลพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง