ได้เริ่มมีการนำคำนี้เข้ามาใช้ในประเทศไทยและมีการระบุไว้ในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะในวงการแพทย์พยาบาลมีความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic care) เป็นอย่างมาก มีข้อค้นพบจากการวิจัยและผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพว่า จิตวิญญาณ เป็นปัจจัยทางบวกในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้ป่วย ให้สามารถฟื้นฟูร่างกาย จิตใจได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เอดส์ เป็นต้น ซึ่งใช้การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลแบบองค์รวมในเรื่องของการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและตอบสนองความต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุลทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณ (ธวัชชัย วงศ์กัณหา. 2546: ออนไลน์) ซึ่งการดูแลด้านจิตวิญญาณ (spiritual care) หมายถึง การดูแลเพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่ในความรู้สึกส่วนลึกของบุคคล เป็นความรู้สึกที่อยู่ลึกในใจเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยใช้ยึดเหนี่ยวเพื่อช่วยให้หายจากการเจ็บป่วยและเกิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง (เสาวลักษณ์ มณีรักษ์. 2545) นอกจากนี้ในคนปกติมีผลการวิจัยที่แสดงว่าจิตวิญญาณมีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาพจิตที่ดีเช่นกัน จิตวิญญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญและการพัฒนาจิตวิญญาณจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้ชัดเจนว่า เรากำลังจะพัฒนาอะไร อะไรคือจิตวิญญาณ และวิธีการพัฒนาจะทำได้อย่างไร
จากการดำเนินงานของแผนการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการพัฒนานาจิตปัญญา (จิตวิญญาณ) ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ในระบบสาธารณสุขโดยอาศัยกระบวนการหลักคือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งมีกิจกรรมหลักคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีประสบการณ์ตรงในการให้บริการทางการแพทย์ที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) ภายหลังจากการดำเนินกิจกรรม ผลจากการทำ AAR (After Action Review) พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับบุคคลและระดับองค์กร เนื่องจากความรู้ทางทฤษฎีทางด้านการดูแลและรักษาผู้ป่วยนั้นมีมากมาย การจะทำให้การปฏิบัติงานด้านสุขภาพมีการปฏิบัติงานอยู่บนพื้นฐานของจิตวิญญาณของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจะสามารถให้การดูแลด้านจิตวิญญาณแก่ผู้ป่วยได้อย่างดีนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของจิตวิญญาณในมิติต่างๆ การพัฒนาด้านจิตวิญญาณและการประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำว่า “จิตวิญญาณ” เป็นคำแปลในภาษาไทยและนำไปใช้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านสาธารณสุข ด้านศาสนา ด้านสังคม-วัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการตกลงในเรื่องการใช้คำแปลและให้ความหมายของคำว่า Spiritual อย่างเป็นเอกฉันท์
ในการให้ความหมายของจิตวิญญาณนั้น มีนักวิชาการหลายท่านได้ใช้คำแปลและความหมายที่แตกต่างกันไป ได้แก่ Pargment (1997,1999) กล่าวถึง Spirituality (น่าจะใช้คำว่าความศรัทธาทาง จิตวิญญาณ เพราะเมื่อใช้ร่วมกับ religiosity ซึ่งมีผู้ใช้ว่าความเคร่งครัดทางศาสนา) ว่าหมายถึง การค้นพบสิ่งที่ศรัทธา (พระเจ้า คำสอน ความจริงแท้ของชีวิต สิ่งเหนือธรรมชาติ ) โดยผ่านกระบวนค้นหา ยึดมั่น และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการปรับเปลี่ยนระดับของการศรัทธาได้เมื่อมีเหตุการณ์จากภายนอกมากระทบ ปกรณ์ สิงห์สุริยา (2552) อธิบายว่า สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ประกอบด้วยสมรรถนะทาง จิตวิญญาณ และสภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งสมรรถนะทางจิตวิญญาณ หมายถึง อำนาจที่จะยังให้เกิดผลบางอย่าง ส่วนสภาวะทางจิตวิญาณ หมายถึง สภาพของจิตวิญญาณที่เป็นผลของสมรรถนะทางจิตมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อม เช่น การที่เด็กคนหนึ่งฝึกสมาธิฝึกจิตกับหลวงพ่อในวัดจนเขาไม่แสดงอาการเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย เป็นการแสดงถึงสุขภาวะของเด็กที่เกิดจากสรรถนะทางจิตวิญญาณของเด็ก โดยที่สรรถนะทางจิตวิญญาณประกอบด้วย สมรรถนะทางความรู้สึก และสมรรถนะทางความคิด ที่ทำงานประสานร่วมกันอย่างเหมาะเจาะภายใต้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งเร้า ทำให้เกิดความตระหนักในความหมายสรรถนะพิเศษแบบเหนือธรรมชาติ ในขณะที่ อารยา พรายแย้ม (2552) ใช้คำว่า ความเป็นจิตวิญญาณ (Spirituality) หมายถึง การใกล้ชิดกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง สามารถแสดงออกซึ่งคุณค่าภายในตัวเรา สิ่งที่ให้ความหมายและเป้าหมาย ความลี้ลับที่อยู่เหนือคำจำกัดความ ประเด็นที่ต้องการสมดุลและองค์รวม การเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ Yogi (1995) อธิบายจิตวิญญาณว่า เป็นลักษณะทางจิตแบ่งเป็น จิตวิญญาณบริสุทธิ์ (Pure) และประยุกต์ (Applied) พัฒนาการทางจิตวิญญาณจึงหมายถึงการเปลี่ยนจากจิตวิญญาณประยุกต์ไปเป็นจิตวิญญาณบริสุทธิ์ จิตวิญญาณประยุกต์ประกอบด้วย การหยั่ง รู้อารมณ์ ปัญญา ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ทั้งหมดนี้เมื่อพัฒนาแล้วจะเป็นจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ที่หมายถึง ความสงบที่เป็นนิรันดร(eternal silence) จิตวิญญาณเป็นลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของคน พฤติกรรมการเรียนรู้ พฤติกรรมการดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของการให้ความหมายของ Spirituality ในหลายมุมมองทั้งที่เป็นจากการถอดประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านสุขภาพ และจากมุมมองของนักวิชาการด้านจิตวิทยาตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเมื่อเกิดความไม่เป็นเอกภาพในคำแปลและการให้ความหมาย จึงทำให้การวัดและการประเมินมีลักษณะที่มีหลายมิติ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทในการศึกษาเพื่อจะทำการวัด การประเมินจิตวิญญาณนั้น นักวิชาการเชื่อว่าจิตวิญญาณมีความหมายที่แตกต่างกันได้ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือในประเด็นที่ต่างกัน เนื่องจากจิตวิญญาณมีหลายมิติ หมายความว่า องค์ประกอบมีความซับซ้อน และการให้ความหมายของจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับบุคคล วัฒนธรรม ศาสนา วัยวุฒิ ประสบการณ์ในชีวิต เป็นต้น
ในการวัดและการประเมิน การกำหนดตัวบ่งชี้สำหรับจิตวิญญาณ การพัฒนาจิตวิญญาณจึงจำเป็นต้องมีการประมวลความหมาย และวิธีการวัดควบคู่กับไปเพื่อให้เห็นถึงหลักการและที่มาของเครื่องมือ และสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้เครื่องมือในการวัดและการประเมินต้องมีลักษณะที่ให้ข้อมูลทั้งเชิงลึก และเบื้องต้น พร้อมทั้งทีคุณสมบัติที่เพียงพอแก่การตีความได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยการวัดและการประเมินต้องประกอบด้วย 1) ต้องวัดครบทุกด้านที่ประกอบกันเป็นจิตวิญญาณ 2) ต้องสามารถระบุระดับของการพัฒนาได้ 3) การวัดและการประเมินต้องให้สารสนเทศที่เพียงพอแก่การพัฒนา 4) ต้องกำหนดขอบเขต และข้อจำกัดที่เหมาะสม และ 5) จิตวิญญาณเป็นคำที่มีความหมายทั้งในมุมของความเป็นสากลคือมีลักษณะร่วมกันของความหมาย และยังต้องคำนึงถึงความหมายที่แต่ละวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ดังนั้นในการนิยามจิตวิญญาณจึงต้องมีการใช้ข้อมูลทั้งที่เป็นสากลและข้อมูลที่เป็นเฉพาะกลุ่มเพื่อให้มีความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับจิตวิญญาณจากความสำคัญของจิตวิญญาณต่อภาวะของความสุขในบุคคล ความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม และความเป็นจริงที่ว่าทุกคนมีคุณลักษณะนี้อยู่แล้วไม่มากก็น้อย การพัฒนาจิตวิญญาณที่จะนำมาซึ่งความสุขดังกล่าวนี้น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนให้สมบูรณ์ และการจะทำให้เกิดผลที่ดีนั้นต้องอาศัยการวิจัยพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนของความหมาย การวัดและการประเมินเพื่ออาจเป็นประโยชน์ในการเป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาจิตต่อไป
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้ได้องค์ความรู้ในเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและบริบทของคนไทย ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้นำข้อมูลจากการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ของบุคคลกรด้านสาธารณสุขจากภาคต่าง ๆ จำนวน 12 ครั้ง ที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) จัดขึ้นมาให้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนิยามของจิตวิญญาณ และนำเอาระเบียบวิธีวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเข้ามาใช้ โดยในขั้นตอนของการกำหนดความหมาย ตัวบ่งชี้จิตวิญญาณ ได้ใช้วิธีการตามแนวการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวทฤษฎีการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory methodology) ร่วมกับการสังเคราะห์ผลการวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องจิตวิญญาณ รวมทั้งใช้หลักเกณฑ์และวิธีการของการสร้างเครื่องมือวัดทางจิตวิทยามาทำการร่างตัวอย่างของแบบวัดจิตวิญญาณ เพื่อที่จะสามารถนำองค์ความรู้และร่างแบบวัดจิตวิญญาณที่ได้ไปประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ความหมายของจิตวิญญาณ จากมุมมองทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้แก่ มุมมองทางสังคมแบบตะวันตก สังคมตะวันออก หรือสังคมที่มีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน
2. เพื่อศึกษาลักษณะ วิธีการ เทคนิค ที่ใช้เพื่อการวัดและการประเมิน(assessment) จิตวิญญาณ
3. เพื่อเสนอทางเลือกที่เหมาะสมในการวัดและการประเมินจิตวิญญาณ
4. เพื่อร่างตัวอย่างของตัวชี้วัดและเครื่องมือในการประเมินที่เหมาะสมกับบริบทของการทำงานในสังคมไทย
ขอบเขตการศึกษา
ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้กำหนดของเขตของการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือสุขภาวะทาง จิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติงานและบุคลากร โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้
1. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ โดยเลือกฐานข้อมูลในประเทศและ ฐานข้อมูลต่างประเทศ ใช้ฐานข้อมูลวารสารของสำนักพิมพ์ และสมาคมทางวิชาการ ด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา และการศึกษา
2. วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ของบุคคลกรด้านสาธารณสุขจากภาคต่างๆ จำนวน 12 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) จัดขึ้น ด้วยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวทฤษฎีการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory methodology)
3. สังเคราะห์นิยามและองค์ความรู้จากข้อมูลและกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ทั้งหมด ร่วมกับสังเคราะห์นิยามและองค์ความรู้จากการประมวลเอกสารเพื่อสร้างตัวชี้วัดจิตวิญญาณ
4. สร้างตัวอย่างของเครื่องมือพัฒนาจิตวิญญาณ เครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนา จิตวิญญาณ โดยทำการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาทั้งความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
นิยามคำศัพท์
จิตวิญญาณ หมายถึง ลักษณะเกี่ยวกับจิตของบุคคล ประกอบด้วย การตระหนักรู้ ความเชื่อ คุณค่า และลักษณะอื่นๆของจิต โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้จิตวิญญาณมีความแตกต่างจากจิตด้านอื่นๆ คือการมีเป้าหมายที่ศรัทธา (sacred things) และการมีลักษณะที่เหนือธรรมชาติ (transcendent)
การวิเคราะห์เนื้อหา หมายถึง วิธีการอย่างเป็นระบบที่ใช้เพื่อการถอดเนื้อหาเป็นความหมาย และ โครงสร้างของสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
การวัดและการประเมิน (assessment) หมายถึง การใช้วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูลของบุคคลและการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ร่วมกัน เพื่ออธิบายลักษณะของบุคคลนั้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้องค์ความรู้ในเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
2. ได้ตัวชี้วัดสำหรับการวัดและการประเมินด้านจิตวิญญาณสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข
3. ได้ตัวอย่างเครื่องมือประเมินและคู่มือการใช้เครื่องมือวัดและประเมิน สำหรับการประเมิน ด้านจิตวิญญาณสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข
ระยะเวลาดำเนินงาน
ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัยประมาณ 5 เดือน ( 1 พฤศจิกายน 2552 – 31 มีนาคม 2553)
ผลการดำเนินงาน
ผลที่ได้ตามตัวชี้วัด/เป้าหมายของโครงการ
1. ผลการสังเคราะห์องค์ความรู้จากการประมวลเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณในต่างประเทศ
2. ผลการวิเคราะห์องค์ความรู้จากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรด้านสาธารณสุข
3. เครื่องมือวัดและประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้
4. บทความทางวิชาการ 3 เรื่อง