ในเรื่องของการประสานงานที่เหมาะเจาะของความคิดและความรู้สึก ข้อนี้ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าเราจะอยู่ในภาวะทางจิตวิญญาณอยู่เสมอได้อย่างไร นอกจากนี้ ถ้าภาวะร่างกายเป็นไปตามปกติ เราก็จะประเมินว่ามีสุขภาวะทางกาย (ในความหมายที่ว่ามีภาวะทางกายที่มีสุข) แต่ถ้าภาวะทางจิตวิญญาณเป็นอย่างที่เป็น คือ เข้าถึงความมีความหมายอยู่ในโลกอยู่แล้ว ไม่ว่า “โลก” นั้นจะกว้างหรือแคบ เราจะประเมินเช่นเดียวกันได้หรือไม่ว่ามีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
ในเมื่อข้อมูลในการวิเคราะห์ชี้ว่าผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อนจนกระทั่งจิตวิญญาณในฐานะของการเปลี่ยนแปลงจากความหมายสู่ความมีความหมายนั้นได้เกิดขึ้นกับพวกเขา คำถามเหล่านี้น่าจะทำให้เห็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของจิตวิญญาณ นั่นคือ ในการประเมินภาวะทางจิตวิญญาณว่าเป็น “สุข” หรือไม่นั้น จะต้องมีองค์ประกอบของ “พัฒนาการ” ประเด็นนี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ว่าความตระหนักในความมีความหมายเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
คำว่า “ประสานกันอย่างเหมาะเจาะระหว่างความคิดและความรู้สึก” หรือ “ตระหนักในความมีความหมาย” หรือแม้กระทั่ง “เปลี่ยนจากความหมายสู่ความมีความหมาย” ที่ใช้มานั้น เมื่อพิจารณาโดยอาศัยกรอบการแยกแยะ “ความคิด-ความรู้สึก” ร่วมกับพื้นฐานการวิเคราะห์ข้างต้นที่แสดงว่า “ความคิด” คือสิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นหลักเสมอ (โดย “ความคิด” นี้มีความหมายครอบคลุมความรู้ความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่รับรู้) เราก็อาจจะนำคำต่างๆ เหล่านี้มาอธิบายใหม่ได้ในความหมายของ “การรู้สึกถึงความคิด” (felt thought) หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่เรารู้สึก (when the thought is felt.) ถ้าเรายอมรับว่าปรกติเราอยู่ในภาวะที่มีความมีความหมายอยู่แล้ว ก็แปลว่าปรกติเราอยู่ในภาวะที่เรารู้สึกความคิดหรือความหมายอยู่เสมอ
ไม่ว่าขอบเขตของความคิดที่เราสามารถรู้สึกนั้นจะกว้างแคบเพียงใด อาจกล่าวได้ว่าความประสานเหมาะเจาะอันเป็น “ทุนเบื้องต้น” นี้ก็คือ “ตัวตน” ของเรา (ในความหมายของความเป็นตัวเรา หรือ อัตถิภาวะแห่งตัวเรา) สิ่งที่สังเกตเห็นได้ก็คือแม้ข้อมูลจะแสดงว่า “ความคิด” คือสิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นหลักเสมอ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ความเป็นตัวเป็นตนของเราจะมีได้ก็ด้วยความรู้สึก เพราะถ้าความคิดมี แต่เราไม่รู้สึก ความคิดนั้นก็มิได้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวเป็นตน หรือมิได้อยู่ในโลกอัตถิภาวะของเรา