การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (2)

“กระบวนทัศน์” (paradigm) ที่ชี้ว่าการรับรู้โลกย่อมผ่านกรอบบางอย่างเสมอ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสังเคราะห์ต้องอาศัยแนวคิดต่างๆ ที่หยิบยืมมาจากตะวันตก แม้แนวคิดเรื่อง “จิตวิญญาณ” เอง ในที่สุดแล้ว ก็ต้องอาศัยนิยามของตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาที่ผ่านมาในประเทศไทยก็คือควรแปลคำว่า “spiritual” ว่าอย่างไร

ความพยายามค้นหากรอบแนวคิดเกี่ยวกับ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” ในบริบทการศึกษาครั้งนี้ ย่อมต้องเริ่มจากการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” ก่อน โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคำสำคัญ ได้แก่ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “จิตวิญญาณ” ภายในกรอบความเข้าใจว่าทั้งสองสัมพันธ์กับ “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ในบางลักษณะ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ที่อาศัยมีฐานคติเกี่ยวกับคำสำคัญและความสัมพันธ์ของคำสำคัญเหล่านี้ เผชิญข้อท้าทายจากธรรมชาติของบริบทการศึกษาเอง และข้อท้าทายจากข้อมูลซึ่งไม่แสดงคำสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างคำสำคัญเหล่านี้อย่างชัดเจน ดังนั้น ผลการสังเคราะห์ครั้งนี้จึงอยู่ในรูปการไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการเสวนากับแนวคิดของตะวันตก มากกว่าที่จะอยู่ในรูปของการนำเสนอกรอบแนวคิด จึงกล่าวได้ว่าแม้จะมีผลการสังเคราะห์กรอบแนวคิดบางอย่าง รายงานฉบับนี้เน้นอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนไตร่ตรองในการปฏิบัติงานมากกว่าที่จะเป็นผลลัพธ์

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นข้อเปรียบเทียบต่อไป จะขอยกตัวอย่างการพัฒนาจิตวิญญาณในโรงเรียนของตะวันตกก่อน ในสหราชอาณาจักร มีพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษาประเทศอังกฤษ ค.ศ. 1988 (The British Education Reform Act 1988) ซึ่งกำหนดให้หลักสูตรของโรงเรียนบรรจุเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณไว้ นอกเหนือไปจากการพัฒนาด้านจริยธรรม วัฒนธรรม สติปัญญา อารมณ์และร่างกาย โดยนัยนี้ ก็กล่าวได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มุ่งพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์เช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนเนื้อหาต่อๆ ไป จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์ที่สมบูรณ์” “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “จิตวิญญาณ” ชัดเจนยิ่งขึ้น

เพื่อให้สามารถดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติกำหนด จึงได้มีคู่มือสำหรับครูระดับประถมและมัธยม คู่มือดังกล่าวให้แนวทางไว้ว่าในการพัฒนาจิตวิญญาณนั้น ครูควรส่งเสริม/สนับสนุนสิ่งต่อไปนี้

-ให้นักเรียนพยายามตอบปัญหาพื้นฐานของชีวิตด้วยตนเอง (เช่น เกิดมาทำไม) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักเรียนเริ่มมีความสนใจในการทำความเข้าใจตนเองมากขึ้น

-ให้นักเรียนตระหนักถึงตัวตน ศักยภาพ จุดแข็งจุดอ่อน และความปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมาย

-ให้นักเรียนได้มีความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติต่างๆ ที่จะช่วยในการแสวงหาความหมายของชีวิต

-ให้นักเรียนมีสุขภาวะในด้านนามธรรม (non-material well-being) อันได้แก่ความตระหนัก ในคุณค่าที่เกินไปกว่าคุณค่าทางวัตถุ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ1

ข้อสังเกตก็คือว่าในการพัฒนาจิตวิญญาณนั้น จุดเน้นอยู่ที่เรื่องของเป้าหมายหรือความหมายของชีวิต นักเรียนจะเป็นผู้ขบคิดและตัดสินใจเลือกเป้าหมายหรือความหมายของชีวิตของตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ให้การสนับสนุน คือ ให้ข้อมูลความรู้ ทักษะ ช่วยชี้แนะว่ามีทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีคุณค่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัตถุ และช่วยให้เด็กได้รู้จักตนเอง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ในที่สุดจะช่วยสนับสนุนการขบคิดและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่ได้อ่านข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว เชื่อได้ว่าต้องเกิดความฉงนขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อยเมื่อได้พิจารณาตัวอย่างจากสหราชอาณาจักรข้างต้น

——————————-

1wringe (2002:158)