มีข้อมูลที่เน้นมิติด้านความคิด นั่นคือ เป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับ “จิตวิญญาณ” ในฐานะของภาวะอันประกอบด้วยความตระหนักรู้ในความมีความหมายบางอย่าง แต่ข้อมูลดังกล่าวปรากฏในลักษณะของการบรรยายความหมายหรือระบบความคิด โดยแสดงความซาบซึ้งอยู่ในที หรือไม่ก็ปรากฏในลักษณะของการตกผลึกความคิด ลักษณะของข้อมูลจึงดูเหมือนเน้นในด้านความคิดมากกว่า ขณะที่ความเชื่อมโยงกับมิติด้านความรู้สึกไม่ค่อยมีความชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นการยืนยันความมีความหมายของโลกทัศน์แบบพุทธ
…การสร้างความดีความงามใส่ตัวเป็นสิ่งสำคัญ เราเป็นแก้ววิเศษ แต่คนอื่นมองหาบ่เห็นหรอกครับ ในแก้วนี้…จิตใจของเราเป็นใหญ่ เฮาสิเดินไปทางใด โลกเกิดขึ้นด้วยใจ ใจนี่คือสิ่งที่ประเสริฐสุด ก้าวใด ถ้าใจไม่คิด ย่างขาก็บ่เดิน เมื่อเป็นเช่นนั้นเปิ้นจึงว่า ใจนี่แหละครับ โลกมันจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เอาใจนี่นะครับเป็นตัววัด…วัดในสิ่งแวดล้อม วัดในวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ภูเขาเลากา เงินทอง เรือกสวนไร่นา สิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมะ…
(ลปรร.ภาคอีสาน)
4.2 สรุป
เบื้องต้นได้แยกแยะ “สมรรถนะ” และ “ภาวะ” โดยพื้นฐานที่สุด แบ่งเป็น (1) สมรรถนะและภาวะทางกาย (2) สมรรถนะและภาวะทางจิต สำหรับ (2) สามารถแยกย่อยได้เป็น (2.1) สมรรถนะและภาวะทางความคิด (2.2) สมรรถนะและภาวะทางความรู้สึก สำหรับสมรรถนะและภาวะทางสังคมนั้น ถือเป็นเบื้องต้นว่าอย่างน้อยก็สามารถอธิบายได้ด้วย สมรรถนะและภาวะทางจิต
ข้อมูลที่วิเคราะห์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจลักษณะสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (1) พบว่ามี “สมรรถนะทางจิตวิญญาณ” ในฐานะที่เป็น “สมรรถนะพิเศษ” บางอย่างที่ไม่ใช่สมรรถนะทางจิต อาจเรียกว่า “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” (supernatural) โดยสมรรถนะนี้ หากพัฒนาแล้ว สามารถมีผลต่อภาวะทางจิตและกายได้ ทั้งนี้ในข้อมูลมิได้บ่งชัดว่ามี “ภาวะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” ใดเกิดในฐานะผลของ “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” นี้หรือไม่ อาจเป็นไปได้ว่า “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” สามารถส่งผลโดยตรงต่อภาวะทางจิตและกาย ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตและกาย หรืออาจเป็นไปได้ว่า “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” ก่อให้เกิด “ภาวะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” บางอย่าง โดยสิ่งนี้ส่งผลอีกต่อหนึ่งต่อภาวะทางจิตและกาย หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้ว่า “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” ส่งผลต่อ ภาวะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติและภาวะทางจิตและกายพร้อมๆ กัน (2) พบว่ามี “สมรรถนะทางจิตวิญญาณ” อันเป็นผลจากการทำงานประสานกันอย่างเหมาะเจาะระหว่างสมรรถนะทางความคิดและความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเป็น “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ” ภาวะที่เกิดจากสมรรถนะประเภทนี้อยู่ในลักษณะของ “ความตระหนักในความมีความหมาย” การทำงานอย่างเหมาะเจาะนั้น เกิดจากการมีเหตุการณ์ภายนอกบางอย่างมากระทบ ทำให้เกิดความสะเทือนใจ กระตุ้นให้เกิดความคิดบางอย่าง ก่อผลด้านอัตถิภาวะ คือ ทำให้เปลี่ยนการเห็นความมีความหมายของโลก อาจจะเปลี่ยนจากการเห็น “ความหมาย” สู่การเห็น “ความมีความหมาย” หรือเปลี่ยนมุมมองชีวิตทั้งหมด
(3) พบว่าในส่วนของสมรรถนะอันเป็นผลจากการทำงานประสานงานกันอย่างเหมาะเจาะระหว่างสมรรถนะทางความคิดและความรู้สึกนี้ “วัฒนธรรม” ในฐานะโลกทัศน์ความเข้าใจความเป็นจริง (หรือการให้ความหมายแก่ความเป็นจริง) สามารถมีบทบาทได้ โดยพบบทบาทใน 2 ลักษณะ คือ (3.1) วัฒนธรรมบางลักษณะช่วยให้ “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ” สามารถส่งผลในแบบที่คล้ายกับ “สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” ได้ คือ มีผลก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิตและกายในลักษณะที่การทำงานประสานกันของความคิดและความรู้สึกไม่น่าจะก่อให้เกิดได้ (3.2) วัฒนธรรมบางลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีพื้นฐานจากศาสนา สามารถช่วยให้บุคคลเห็นความมีความหมายของเหตุการณ์ที่มากระทบชีวิตตนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เป็นสัจธรรมของชีวิต ได้แก่ การเกิดแก่เจ็บตาย และ (4) ในส่วนของ “จิตวิญญาณ” ในฐานะ “ความตระหนักในความมีความหมาย” นั้น พบว่ามีที่เน้นมิติด้านความคิด “ภาวะทางจิตวิญญาณ” แบบนี้อาจเป็นความชื่นชมในระบบคิดที่มี หรืออยู่ในรูปการตกผลึกความคิด เป็นไปได้ว่าภาวะเช่นนี้มิได้เกิดจากความสะเทือนใจเพราะมีเหตุการณ์อะไรมากระทบ บุคคลที่ช่างคิดหลายคนอาจมีภาวะทางจิตวิญญาณแบบนี้ได้
ข้อ (2) (3.2) และ (4) แสดงว่า “ความตระหนักในความมีความหมาย” มีหลากหลายรูปแบบ อาจอยู่ในรูปที่เกิดจากการคิดใคร่ครวญกระทั่งเกิดผลในการชักจูงความรู้สึกของตนเองไม่มากก็น้อยแบบข้อ (4) การคิดนี้อาจเป็นการใคร่ครวญโลกทัศน์ที่มีอยู่ หรือเป็นการใคร่ครวญเพื่อสร้างโลกทัศน์ของปัจเจกบุคคลเอง “ความตระหนักในความมีความหมาย” อาจมิได้อยู่ในรูปของกิจกรรมทางความคิดของปัจเจกบุคคลเช่นนี้ก็ได้ เช่นในแบบ (3.2) ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลด้านความคิดทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตทางศาสนา หรืออาจอยู่ในรูปที่มีทั้ง 2 ลักษณะร่วมกัน เช่นที่ปรากฏในตัวอย่างของข้อความที่เป็นตัวอย่างของ (2) คือกรณีของ น.ศ.แพทย์ที่มีความใคร่ครวญและอยู่ในโลกทัศน์ทางวิชาชีพด้วย ข้อ (1) และ (3.1) แสดงให้เห็นว่าสมรรถนะต่างๆ มีผลต่อภาวะข้ามประเภทกัน เบื้องต้น อาจจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ประเด็นที่น่าแปลกใจ แม้สมรรถนะทางกาย ก็มีผลต่อภาวะทางความคิดหรือความรู้สึกได้ (เช่น ถ้าเจ็บขา ก็อาจขาดสุขภาวะทางความรู้สึก) การที่สมรรถนะพิเศษมีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิตและกายก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เนื่องจากเรามักได้ยินเรื่องของอำนาจพิเศษของการทำสมาธิ และอิทธิพลของวัฒนธรรมต่อการให้ความหมายก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่น่าแปลกใจก็คือมีกรณีของอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่ส่งผลคล้ายๆ กับที่พบในกรณีของสมรรถนะพิเศษ
ทั้งนี้ สำหรับสุขภาวะทางสังคมนั้น จะเห็นบทบาทและรายละเอียดในส่วนต่อไป