จึงไปส่งลูกสาวที่สถาบันอีกแห่งหนึ่งให้ทันเรียนคาบ 8 โมงเช้า จากนี้เธอจะมีเวลาเป็นของตัวเองประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วจึงย้อนกลับมารับลูกชาย
เธอต้องมาให้ทันเวลาเลิกเรียนของพ่อลูกชายมิเช่นนั้นเขาจะหงุดหงิด แต่ที่ลูกชายเธอหงุดหงิดเพราะเขาต้องไปเรียนที่โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญด้านการติวภาษาอังกฤษตอน 9 โมงครึ่ง เธอเผื่อเวลาจราจรติดขัดไว้เพียงครึ่งชั่วโมงไม่นับเวลานั่งรอในรถหากลูกชายของเธอเป็นฝ่ายช้าเสียเอง บางทีเขาก็ช้าเพราะเทปเปิดเกินเวลา(เด็กต่างจังหวัดเรียนด้วยเทป เด็กกรุงเทพฯ ที่พ่อแม่ว่องไวจึงสามารถลงทะเบียนให้ลูกเรียนกับติวเตอร์ตัวจริงเสียงจริงได้ทันท่วงทีก่อนที่นั่งหมด) แต่บางครั้งเขาก็ช้าเพราะมัวล่ำลากับเพื่อนๆ
หลังจากส่งลูกชายรอบนี้แล้วเธอยังต้องตีรถกลับไปรับลูกสาวที่เลิกเรียนวิชาแรกไปส่งวิชาที่สอง ชีวิตครึ่งเช้าวันเสาร์ของเธอเป็นเช่นนี้ ครึ่งบ่ายวันเสาร์ รวมทั้งวันอาทิตย์อีกทั้งวันก็เป็นไปทำนองนี้ มีบ้างบางช่วงที่เร่งรีบอะไรต่อมิอะไรชนกันไปหมด บางครั้งมีช่วงว่างให้เธอได้พักผ่อนบ้าง หลายครั้งที่เธอก็เหนื่อยหน่ายกับสภาพที่เป็นแต่เมื่อมองไปที่จำนวนรถที่มาจอดรอลูกกันแน่นขนัดเต็มทั้งสองฟุตบาทเธอก็หวาดหวั่นอยู่ในใจเสมอว่าลูกๆของเธอจะสอบสู้ลูกๆของรถคันเหล่านั้นไม่ได้
หากเป็นหน้าหนาวยังพอทำเนา การปิดเครื่องรถรอลูกเลิกเรียนไม่ทรมานอะไรมากนัก สามารถเปิดหน้าต่างกระจกรถรับลมเย็นได้ ถึงเป็นเวลากลางคืนยุงก็ไม่มาก แต่ถ้าเป็นหน้าฝนถนนเฉอะแฉะ การจอดรถรอลูกแม้ไม่ร้อนแต่ยุงและแมลงจะกรูกันเข้ารถหากเปิดกระจกไว้กว้างเกินไป หน้าร้อนทารุณที่สุดไม่เปิดแอร์แล้วเปิดกระจกหายใจมักไม่สามารถทนร้อนได้นาน ครั้นปิดกระจกเปิดแอร์รอลูกเลิกเรียนซึ่งหลายครั้งพวกเขาก็เลิกช้าดังว่า เธอก็อดห่วงรายจ่ายค่าน้ำมันรถไม่ได้
คุณสมพรเหน็ดเหนื่อยกับภาระเสาร์อาทิตย์ตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่ลูกๆขึ้นสู่ชั้นมัธยมและจำเป็นต้องเรียนพิเศษหรือกวดวิชา ลูกทั้งสองคนยืนยันว่าที่โรงเรียนไม่สอนสิ่งที่โรงเรียนกวดวิชาสอนทำให้พวกเขาจำเป็นต้องไปเรียน ทั้งนี้ยังไม่นับว่าใครๆก็เรียน แต่เธอก็อดคิดถึงลูกชายของหัวหน้าแผนกที่เธอทำงานด้วยไม่ได้ รายนั้นส่งลูกไปเช่าหอพักเรียนที่สถาบันกวดวิชาในกรุงเทพฯ เกือบทุกวิชาทุกปิดภาคเรียน เธออยากทำแบบนั้นเหมือนกันแต่สามีของเธอว่าเราสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว อย่างไรก็ตามพอคุณสมพรคิดถึงลูกสาวของลูกจ้างชั่วคราวที่ที่ทำงานเดียวกัน รายนั้นได้รับเงินเดือนไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทไม่สามารถส่งลูกสาวไปเรียนพิเศษที่ไหนได้เลยไม่ว่าจะตอนหลังเลิกเรียนหรือในตัวเมืองเสาร์อาทิตย์
การศึกษาประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง
เมื่อประมาณสามสี่สิบปีก่อน ลูกจีนโพ้นทะเลคนหนึ่งซึ่งใช้แซ่ตามบิดามารดามีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือไปทำงานสำเพ็งเป็นกุลีหรือลูกจ้างนายห้างสักแห่ง อีกทางหนึ่งคือเข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ
กลุ่มที่เข้าโรงเรียนเรียนหนังสือจนจบปริญญาสามารถหางานทำและเลื่อนฐานะตนเองเป็นชนชั้นกลางได้ไม่ยาก หลายคนเป็นนายแพทย์ วิศวกร สถาปนิก อาจารย์มหาวิทยาลัยสาขาต่างๆ ฯลฯ เปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุลแล้วกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งสังคมไทยเรื่อยมา (คงเดาได้ว่าผู้เขียนเป็นผลผลิตของกลุ่มนี้)
จากชนชั้นกลางระดับล่าง คนกลุ่มนี้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นชนชั้นกลางระดับกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูงจำนวนมาก มีฐานะการเงินดีและมั่นคง สามารถส่งลูกหลานของตนเองให้มีการศึกษาดีเช่นที่ตนเองได้รับ
เมื่อประมาณสามสี่สิบปีก่อนเป็นเรื่องเป็นไปได้ที่ลูกคนจนสักคนจะเรียนหนังสือเก่งได้โดยไม่ต้องอาศัยโรงเรียนกวดวิชา เป็นความจริงที่ว่าเด็กขยัน ตั้งใจเรียนหนังสือ ซักถามครูเมื่อเข้าใจ จะสามารถพัฒนาตนเองให้เรียนเก่งได้ ทำคะแนนดี และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะดีๆของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
แต่เรื่องเช่นนี้เป็นไปไม่ได้เสียแล้วในปัจจุบัน
ปัจจุบันนักเรียนหนึ่งคนไม่สามารถทำข้อสอบให้ได้คะแนนดีได้ด้วยตนเอง มีความจำเป็นที่นักเรียนทั่วประเทศจำเป็นต้องไปเรียนพิเศษ ไปเรียนกับติวเตอร์ ไปเข้าค่ายติว ไปเรียนสถาบันกวดวิชาแทบจะทุกวิชาจึงจะสามารถทำคะแนนสอบได้ดีและทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดีด้วย จะมียกเว้นเพียงนักเรียนของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง 2-3 แห่งที่ไม่จำเป็นต้องกวดวิชาก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะดีๆกันได้
ไม่เป็นความจริงที่มีนักเรียนเก่งบางคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเพียงตั้งใจเรียนในห้องเรียนก็พอ
“มีต่อ”