“แม่ชอบจังที่….” หรือ “พ่อภูมิใจมากเลยที่….” เป็นต้น
– กระตุ้นให้เด็กแก้ไขปัญหาเอง
การที่พ่อแม่คอยช่วยมากไปหรือเร็วไป ทำให้ลูกไม่รู้จักแก้ไขปัญหาเอง เมื่อประสบปัญหาลูกเลยไม่รู้จักคิด คอยแต่จะให้พ่อแม่แก้ปัญหาให้ หรือลูกอาจรู้สึกแย่ คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถก็เป็นได้
ขณะเล่นควรกระตุ้นให้ลูกคิดแก้ปัญหาเอง หากลูกจนมุม พ่อแม่อาจคอยช่วยแก้อ้อม ๆ หรือช่วยบางส่วน แต่ไม่ใช่ทำให้ทั้งหมด พยายามให้ลูกรู้สึกว่าเขาทำสำเร็จได้ด้วยตนเองและชื่นชมประกอบไปด้วย
– ให้ความสนใจต่อการเล่น
เป็นไปไม่ได้ที่พ่อแม่จะอยู่เล่นกับลูกตลอดเวลา ลูกต้องมีเวลาเล่นตามลำพังบ้าง แต่พ่อแม่ควรให้ความสนใจเป็นระยะ ๆ หลายครอบครัวให้ความสนใจกับลูกเฉพาะเวลาเกิดปัญหา เช่น ลูกแย่งของเล่นกัน ทะเลาะกัน หรือส่งเสียงดัง พ่อแม่ก็จะตะโกนดุหรือเข้ามาจัดการ นั่นคือการให้ความสนใจเชิงลบ ซึ่งถือเป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก สำหรับเด็กแล้วหากไม่ได้รับความสนใจเชิงบวก ซึ่งหมายถึงคำชมหรือการแสดงท่าทางชื่นชม การได้ความสนใจเชิงลบยังดีกว่าการไม่ได้ความสนใจใด ๆ เลย และนั่นก็คือต้นตอของการเกิดพฤติกรรมเกเรอย่างหนึ่ง ดังนั้นพ่อแม่ควรเข้ามาพูดคุยหรือชื่นชมเด็กเป็นระยะในพฤติกรรมหรือทักษะที่เด็กทำอย่างเหมาะสม
– สนับสนุนการเล่นสมมติและจินตนาการ
เด็กเริ่มเล่นจินตนาการตั้งแต่อายุ 18 เดือน และจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวัยประถมต้น จากนั้นอาจค่อย ๆ ลดน้อยลง การเล่นจินตนาการเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็ก เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาความคิด อารมณ์ และสังคม
การเล่นจินตนาการ จะช่วยให้เด็กมีความคิดที่หลากหลายไม่จำกัด
การเล่นบทบาทสมมติ จะช่วยให้เด็กเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น
พ่อแม่ควรสนับสนุนการเล่นผ่านเครื่องเล่นที่เป็นชุด ๆ เช่น ชุดเครื่องครัว ชุดเครื่องมือแพทย์ ชุดก่อสร้าง ชุดไม้บล็อก เป็นต้น นอกจากนี้การเล่นหุ่นเชิดและการมีโอกาสแต่งตัวเป็นสัตว์หรือตัวละครต่าง ๆ ก็จะช่วยเสริมจินตนาการของเด็กได้มากเช่นกัน
– หลีกเลี่ยงการแข่งขัน
พ่อแม่หลายคนอาจถือโอกาสเล่นเกมแข่งขัน เพื่อสอนกฎกติกาต่าง ๆ สำหรับเด็กอนุบาล กฎ กติกาเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ หรือแม้แต่เด็กประถมต้นเองก็ตาม แม้เด็กจะเข้าใจกฎแต่ถ้าเล่นกันจริง ๆ เด็กก็มักเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง ตนเองไม่มีความสามารถพอ พ่อแม่อาจตระหนักถึงประเด็นนี้ จึงอาจแกล้งทำเป็นแพ้บ้าง แต่หากทำบ่อย ๆ เข้า ลูกก็จะรู้และจะยิ่งรู้สึกไม่ดีทั้งต่อพ่อแม่และตนเองมากขึ้น
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงเกมหรือการเล่นที่เป็นไปในลักษณะการแข่งขัน หากเล่นเกมหรือกีฬาควรปรับเป้าหมายการเล่นให้เน้นที่ได้สนุกด้วยกัน หรือเลือกที่จะให้ความสำคัญในจุดอื่น เช่น พ่อลูกเตะฟุตบอลกัน พ่อควรเน้นความสำคัญที่ได้สนุกร่วมกัน หรือให้คำชมต่อทักษะบางอย่างที่ลูกทำได้ดีขึ้น เช่น ลูกโหม่งลูกบอลได้ดีขึ้น ลูกรู้จักเล่นเป็นทีมโดยรู้จักส่งบอลให้คนอื่นแล้ว เป็นต้น
– สนุกกับการเล่น
ขณะเล่นกับลูกพ่อแม่ควรผ่อนคลาย มีอารมณ์แจ่มใส ทำใจให้สนุก และรู้จักแลกเปลี่ยนทางอารมณ์กับลูก การแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปมักเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว นั่นคือเมื่อลูกหัวเราะ พ่อแม่หัวเราะตาม เมื่อลูกแก้ปัญหาได้ พ่อแม่สบตาชมลูกพร้อมทั้งยิ้มอย่างภาคภูมิใจไปกับเขาด้วย การใส่ใจที่จะแลกเปลี่ยนทางอารมณ์กันนี้ นอกจากจะทำให้บรรยากาศการเล่นสนุกขึ้นแล้ว ยังนับเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็กอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันมานานว่า “การเล่นเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก” แต่จากงานวิจัยในปัจจุบันทำให้ทราบมากขึ้นว่า การเล่นไม่ใช่เป็นวิธีการเรียนรู้เท่านั้น แต่การเล่นช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นฐานของโครงสร้างและการทำงานของสมอง การเล่นช่วยปรับในระดับอารมณ์ พฤติกรรม ตลอดจนบุคลิกภาพของคน ๆ นั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนชุมชน สังคม ประเทศชาติ ควรต้องหันกลับมาสนใจเรื่องการเล่นของเด็กและสนับสนุนอย่างจริงจังต่อไป