การศึกษาที่แท้เริ่มด้วยการลองผิดลองถูกและ After Action Review(AAR)โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย
ครูด้วยกันเองควรจับกลุ่มกันเพื่อสนทนาเรื่องนักเรียนทุกวัน หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้อะไร เราจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ที่ออกแบบและทดลองทำไปแล้วนักเรียนได้รู้สิ่งที่ต้องรู้จริงหรือเปล่า และนักเรียนได้เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ถามตนเองว่าครูยังสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้อีก นี่คือการพูดคุยแบบที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR ครูที่ดีจะพูดคุยเรื่องลูกศิษย์ทุกวัน
การสอบจะมิใช่ทำไปเพื่อวัดผลได้ตก แต่ทำเพื่อประเมินและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของเด็กๆ ทักษะทั้งสามจะเดินคู่ขนานกันไปตลอดชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนหนึ่งคนจากอนุบาลจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปลาย การสอบเพื่อวัดความรู้ในศตวรรษที่ 20 วิวัฒน์เปลี่ยนแปลงไปสู่การสอบเพื่อวัดทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21
ทั้งหมดนี้สามารถทำได้จริงเพราะโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งทำแล้ว ครูส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้โดยเริ่มด้วยการจับคู่ช่วยกันเปลี่ยนวิธีสอนหนังสือแล้วประเมินตนเองว่านักเรียนได้อะไรด้วยการพูดคุยแบบAARในทุกวัน การเริ่มเล็กๆ เป็นคู่ๆ จะนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มครูเพื่อการศึกษาในศตวรรษใหม่ได้อย่างแน่นอน
ปรับกระบวนทัศน์สู่การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มีวิชาที่นักเรียนควรได้เรียนเพียง ๗ วิชา อ้างอิงจากหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่:การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่ง วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์ แปลจากหนังสือ 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn และหนังสือวิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
สามวิชาแรกคือวิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และการเขียน
อีกสี่วิชาถัดมาคือวิชาที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และ ความเป็นพลเมือง เด็กและเยาวชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเงินของตนเองด้วยตนเองให้ดีที่สุด รู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพและการเงินที่มีหลากหลายทั้งจริงและลวง พูดง่าย ๆ ว่าเอาแต่เรียนเก่งแต่ไม่มีปัญญาดูแลสุขภาพและการเงินของตัวเองมัวแต่คิดพึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอก็จะเอาตัวรอดยาก
นอกจากนี้ควรรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ซึ่งทรัพยากรลดลงและโลกร้อนมากขึ้นทุกขณะ เราควรมีชีวิตอย่างไรและอยู่กับหายนะภัยอย่างไร
ที่คนพูดถึงน้อยคือเรื่องความเป็นพลเมือง (citizen) เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองมักหมายถึงการอยู่ร่วมกับความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หรือศาสนาหรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ด้วยเหตุที่โลกไร้พรมแดนทำให้ชาติพันธุ์และความเห็นต่างมากมายปรากฏตัวขึ้นในทุกภูมิภาคและชายแดนของทุกประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากเรียนเก่งแต่พูดจาหมิ่นชาติพันธุ์อื่นหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างก็น่าจะเอาชีวิตรอดได้ยาก
กระบวนทัศน์ใหม่ของเรื่องนี้คือ เรื่องความแตกต่างและการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง วิธีที่ทำได้คือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนอย่างถอนรากถอนโคน จัดการศึกษาเสียใหม่ให้นักเรียนชั้นเด็กเล็กได้เรียนรู้เป็นกลุ่มด้วยกระบวนการที่เรียกว่า active learning นั่นคือครูเลิกสอน แต่จ่ายโจทย์ปัญหาให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกของทีมมีเด็ก ๆ ที่แตกต่างหลากหลาย
ระหว่างการทำงานเป็นทีมโดยมีครูคอยโค้ช จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เรียนรู้จักเพื่อนในทีมที่แตกต่างและพัฒนาไปด้วยกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ ความร่ำรวยหรือยากจน เก่งหรือไม่เก่ง ขยันหรือขี้เกียจ ขี้อายหรือขี้ประจบ นิสัยดีหรือไม่ดี อยู่นิ่งหรือไม่นิ่ง เรียนรู้ช้าหรือเรียนรู้เร็ว พิการหรือไม่พิการ นำมาอยู่ในทีมเดียวกันเสีย นี่คือการผนวกชีวิตจริงของเด็ก ๆ เข้าสู่การศึกษาในศตวรรษใหม่