ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอนที่ 2

กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง ทั้งช่วยฝึกให้ใช้ความคิดและจินตนาการอย่างเต็มที่ในช่วงวัย 2-5 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองมาก ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองและไม่ชอบการถูกบีบบังคับ และในช่วงวัย 4-7 ปี ถือเป็นวัยแห่งการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นวัยที่ชอบการคิดค้นหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับตนเอง ดนตรีช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น เมื่อเด็ก ๆ ฟังเพลงแล้วสามารถคิดท่าเต้นใหม่ ๆ ด้วยตนเองได้ หรือการที่เด็กได้คิดค้นวิธีเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ หรือแต่งเนื้อเพลงหรือทำนองเพลงด้วยตนเอง ดังนั้น กิจกรรมดนตรีจึงสามารถตอบสนองธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้ได้อย่างดี เพราะเด็ก ๆ ทุกคนชอบดนตรี การให้เด็กได้แสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระประกอบดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเต้น การโยกตัว การกระโดด หรือการร้องเพลงที่เด็ก ๆ สามารถแต่งเนื้อร้องหรือทำนองขึ้นเอง จะทำให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่กระบวนการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ได้ต่อไป

ดนตรีแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับเด็ก

ดนตรีที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมต้องเป็นดนตรีที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หมายถึง ดนตรีที่ทำให้เด็กสามารถแสดงออกตามความพร้อม การรับรู้และตามความสนใจของเด็กแต่ละคนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกปิดกั้น ซึ่งเพลงหรือดนตรีที่ดีสำหรับเด็กควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เป็นเพลงที่มีองค์ประกอบของเพลงที่ดี ลักษณะของดนตรีมีทำนองจังหวะที่ไม่เร่งรัดเกินไป ไม่กระแทก ไม่รุนแรง มีเนื้อร้องที่ดีและเหมาะสมกับเด็ก ไม่หยาบคาย

2. เป็นเพลงที่มีความสดใสและจริงใจ เนื้อเพลงมีความเหมาะสมกับวัยของเด็ก เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ บ้าน ธรรมชาติ และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ทำให้เด็กรู้สึกสัมผัสได้ ไม่ควรเลือกเพลงที่มีเนื้อหาเกินวัยเพราะจะส่งผลต่อความคิดและจิตใจที่บริสุทธิ์ของเด็กได้ เช่นเพลง “ฉันรักผัวเขา” เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ฟังได้ แต่ไม่เหมาะสมกับเด็ก

3. เป็นเพลงที่ส่งเสริมจริยธรรม ที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น เพลงที่ส่งเสริมความซื่อสัตย์ ความรัก ความสามัคคี การรู้จักให้และแบ่งปัน เพลงบางเพลงที่มีเนื้อหาโหดร้ายและทำให้จิตใจเด็กแข็งกระด้างและมีอารมณ์รุนแรงจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาให้แก่เด็ก เช่นการทดลองนำเพลงที่กล่าวถึงสัตว์ 2 ประเภท คือ หนูกับแมว มาเปิดให้เด็กอนุบาล 2 ฟัง โดยในเนื้อเพลงบอกเล่าเรื่องราวว่าหนูวิ่งหนีแมว ส่วนแมวตามล่าหนูไปจนทันและสามารถตะปบจับเอาหนูตัวนั้นมากิจได้ในที่สุด ขณะเปิดเพลงนี้สังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ ที่นั่งฟังอยู่ทุกคน ขมวดคิ้วฟังเพลงนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กไม่มีความสุขที่ได้ฟังเลย

4. เป็นเพลงที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คือเพลงที่ทำให้เกิดความคิดริเริ่ม เช่น เพลงแปลงกาย ให้เด็กแปลงกายเป็นสัตว์หรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น เพลงบอกให้เด็กแปลงกายเป็นกังหันลม เด็กบางคนอาจเหวี่ยงแขนเป็นวงกลมเหมือนกังหันที่กำลังหมุน หรือเด็กบางคนอาจหมุนตัวไปรอบ ๆ ก็ได้ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีกฎเกณฑ์บังคับว่าทำแบบนี้ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ถูก ต่างกับเพลงที่ส่งเสริมด้านความจำ เช่น เพลง ก-ฮ เพลงนับเลข หรือเพลงที่ออกคำสั่งให้ทำท่าทางตามเนื้อหา จะไม่ได้ฝึกกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของเด็กแต่อย่างใด

ดนตรีเป็นอาหารสมอง

ดนตรีเปรียบเสมือน “อาหารสมอง” ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยตรง เพราะกิจกรรมดนตรีเป็นกิจกรรมที่ทำให้สมองทั้งสองซีกของเด็กเกิดการทำงานอย่างสมดุล คือช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวาให้ทำงานไปพร้อม ๆ กัน ขณะฟังดนตรีเด็กจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลายและปล่อยความคิดจินตนาการไปตามบทเพลง ซึ่งส่งผลดีต่อสมองซีกขวา ส่วนตัวโน๊ตหรือจังหวะเคาะของดนตรีที่คล้ายกับการอ่านหนังสือแต่ละตัว ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายด้านภาษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จึงต้องกล่าวว่าดนตรีมีผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กอย่างแท้จริง