คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 25

การปกป้องหรือรักษาสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องโทษ แม้ในกรณีของการฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำผิดนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นการช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลของตน แต่จริงๆ แล้วจัดเป็นการเคารพสิทธิพื้นฐานเช่นกัน เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้ได้รวดเร็ว สามารถเทียบได้กับเรื่องสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่เด็กและเยาวชนพึงได้ สำหรับกรณีของผู้ใหญ่นั้น หากเราให้การศึกษาอื่นๆ เพิ่มเติม ก็จัดเป็นเรื่องของการช่วยเสริมสร้างคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลเพิ่มเติมขึ้นไป

ที่น่าสนใจประการหนึ่งคือในเรื่องของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคู่ความ จำเลย หรือผู้ต้องโทษนั้น มีมิติของการเคารพความเป็นผู้กระทำของบุคคลเหล่านี้ด้วย ความเป็นผู้กระทำนั้นมีองค์ประกอบประการหนึ่งคือความรู้ความเข้าใจ อันเป็นฐานของการตัดสินใจเลือกและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความเข้าใจของผู้ต้องโทษ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ หากหวนไปพิจารณาการสังเคราะห์ความรู้ในส่วนของผู้ต้องขัง จะพบว่าการเผชิญความจริง เช่น การยอมรับความผิดที่กระทำ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาคุณค่าในตนเอง

ตัวอย่างคำกล่าวของผู้พิพากษาที่ให้ความสำคัญกับความเข้าใจของผู้ต้องโทษ เช่น

…แต่บางครั้งเขาก็ไม่เชื่อถือเรา…เราต้องสื่อสารกับเขาด้วย อย่างเช่นตัวคำสั่ง การพิจารณาของผมไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้ขยายระยะเวลาให้การ หรือยกเลิกคำสั่งจากคำขอที่ขอ ผมก็ต้องเขียนละเอียดกว่าตัวอื่น ว่าทำไมผมถึงให้และไม่ให้…ผมว่าการสื่อสารสำคัญ เขาต้องเข้าใจว่าเขาได้รับความยุติธรรมทั้งในคำพิพากษา ขั้นตอนกระบวนยุติธรรมศาล ถ้าหากคิดอย่างนี้แล้ว ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เรามีประเด็น เล็ก ๆ น้อยๆ หรือเปล่า แต่เราจะไม่ปล่อยให้ขั้นตอนไหนเลยให้เขาสงสัยในความยุติธรรมของเรา (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แสดงถึงองค์ประกอบอื่นซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการให้ข้อมูลและความเข้าใจเช่นกัน นั่นคือ ข้อมูลที่แสดงถึงความเคารพในการตัดสินใจ เช่น การอธิบายข้อมูลทางเลือกเชิงข้อกฎหมายและให้คู่ความได้ตัดสินใจเอง

…ใครที่เดือดร้อนเราก็อยากจะช่วยและทำให้มันได้ แก้ปัญหาให้เขาได้ ทำให้เขามีความสุขได้ไม่มากก็น้อย ถ้าอยู่ในวิสัยที่เราทำได้ก็ทำให้เต็มที่ เลยเกิดจากเรื่องเล่าในคราวที่แล้ว ว่าทำไมผมต้องนั่งคุยกับเขาเพื่อให้เขาไกล่เกลี่ยกันได้ ผมใช้เวลาใช้ความอดทน ก็ตอบได้จากสิ่งที่ผมเล่า ช่วยให้เขาพ้นปัญหาตรงนี้ไป หาทางออกช่วยเขา ถ้าเป็นทางที่มีประโยชน์เขาก็เลือก ถ้าไม่ประโยชน์อันนี้ก็แล้วแต่เขา มีทางแนะนำ 3-4 ทาง อันไหนมีประโยชน์ที่สุดก็เลือกเอา …(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)

ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือพบว่าในอันที่ผู้พิพากษาจะมองเห็นจำเลยหรือผู้ต้องโทษในฐานะมนุษย์ซึ่งมีความเป็นพื้นฐานกว่าความเป็นปัจเจกบุคคลนั้น กลับปรากฏคำพูดที่แสดงว่าในอันที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้พิพากษาต้องรู้จักปัจเจกภาพของคนเหล่านี้ นั้นคือ ต้องมีการสัมผัสจำเลยหรือผู้ต้องขัง เช่น

…วิธีที่นิยมคือไปหาผู้ต้องขังในเรือนจำเอง ได้เห็นหน้าเห็นตา บางทีเราจะเห็นว่าเขายากจนจริงหรือเปล่า บางทีก็ต้องสบตากัน ต้องดูกัน ว่าเขามีความน่าสงสารจริงหรือเปล่า บางทีไม่สามารถสัมผัสด้วยเอกสาร มันต้องเห็นกัน (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

หรือ

…แต่พอเราไปอยู่ตรงจุดนั้นเราเห็น พอเราเห็นเรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เรารู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้รับความดูแล มิหนำซ้ำเจอทนายหลอกไปอีก ต้องโน่นนี่นั่น ต้องประกันตัวทำเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย และมีนายประกันอยู่ข้างล่างอีก และนายประกันก็เก็บกินอยู่ตรงนี้อีก คุณอยากประกันฉันสอบสวน 30,000 บาท ไม่เหมารวบชั้น ซึ่งผมเห็นผู้พิพากษาส่วนใหญ่ขึ้นมา ไม่ว่าข้อหาหนักหรือเบา ยักยอกเยอะหรือไม่เยอะ มีแต่หมายขัง…ถามว่าทุกคนอยากไปสัมผัสไหม ผมว่าธุระไม่ใช่ พอเรามีความรับผิดชอบต่อสังคมก็เกิดจุดนี้ขึ้นมา ว่าเราจะทำอย่างไรให้กระบวนการของเราดีขึ้น และก็อยากจะรักษาชื่อเสียงของสถาบันเราด้วยว่าเราต้องมีความน่าเชื่อถือ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)