ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอนที่ 5

การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนนั่นเอง

1) การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว

ครอบครัวเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเป็นอย่างมาก ในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูเด็กแบบประชาธิปไตยซึ่งคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและให้ความเท่าเทียมกันในครอบครัว ตลอดจนเคารพสิทธิของเด็กโดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน จะทำให้เด็กเป็นคนกล้าคิดกล้าแสดงออก การนำกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้เลือกฟังเพลงหลากหลายประเภท เช่น เพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง เพลงของภาคต่าง ๆ เพลงป๊อป เพลงคลาสสิก เพลงทำนองของชาติต่าง ๆ และให้มีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว และให้อิสระแก่เด็กที่จะเต้นรำตามจินตนาการและเล่นบทบาทสมมุติตามจังหวะและตามทำนองดนตรีที่ได้ยิน ซึ่งกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวเช่นนี้ นอกจากจะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยพัฒนาอารมณ์สุนทรีย์จากการที่เด็กได้ซึมซับความไพเราะของเพลงแต่ละประเภทไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่ได้ใส่ใจในการเลือกเพลงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ ส่งเสริมจริยธรรม จรรโลงใจ สุภาพ ไม่หยาบคาย จะเป็นการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้เกิดในความคิดและจิตใจของเด็กผ่านบทเพลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

2) สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

โรงเรียนถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็กรองลงมาจากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับดนตรีว่าเป็นสื่อที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรมีการจัดโรงเรียนให้มีสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งควรมีลักษณะและรูปแบบดังนี้

1.โรงเรียนที่มีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กควรมีระบบการศึกษาที่ยึดตัวเด็กเป็นสำคัญโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ของเด็ก เป็นต้นว่ามีบริเวณในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว เช่น มีมุมดนตรีที่มีเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทให้เด็กสามารถหยิบไปเล่นได้ มีพื้นที่ว่างให้เด็กกระโดดโลดเต้นประกอบเสียงเพลงได้

2.เป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยและความแตกต่างระหว่างบุคคล และควรมุ่งเน้นให้เด็กได้ “เรียนอย่างมีความสุข สนุกกับการคิดค้น พัฒนาตนอย่างสร้างสรรค์”

3.ในการนำกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนั้นคุณครูควรเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ดนตรีให้มากที่สุด ทั้งการฟังเพลง การร้องเพลง การเคลื่อนไหวและจังหวะ การเล่นเครื่องดนตรี การอ่านโน้ต และการแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงด้วยตนเอง

บทบาทของผู้ใหญ่ใส่ใจเรื่องดนตรี

การใช้ดนตรีในการพัฒนาเด็กและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะเกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย ดังนี้

กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องในการระบบบริการสาธารณสุข

แนวปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสาธารณสุข สามารถช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ มีดังนี้

1.จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาดนตรีบำบัด วิชาดนตรีเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก สำหรับแพทย์และพยาบาล

2.จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบบริการสาธารณสุขให้เห็นความสำคัญและมีความรู้ความเข้าใจด้านดนตรีสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ

3.สนับสนุนให้มีการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านดนตรี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยเพื่อให้มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์

4.จัดให้มีโครงการแจก CD เพลงสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ (ถ้าทำได้คู่กับ Bookstart)

5.จัดการอบรมหรือให้มีกิจกรรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เรื่องการใช้ดนตรีในการเลี้ยงดูลูกเพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี หรือกิจกรรมดนตรีบำบัดเพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดลูกเพื่อให้คุณแม่มีทัศนคติและความรู้สึกที่ดีต่อการมีลูก