อุ้มบุญ (31) การคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์ (ต่อ)

แต่ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

สำหรับการคุ้มครองตัวอ่อน ต้องแบ่งว่าตัวอ่อนจะคุ้มครองที่ระดับไหน อย่างไร ซึ่งควรจะมีการคุ้มครองในแต่ละระดับที่ต่างกัน แต่ระดับความคุ้มครองนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะใช้เกณฑ์ใดเป็นตัวกำหนด ในระดับเท่าใด แต่ควรใช้เกณฑ์ทุกเกณฑ์พิจารณาร่วมกัน ทั้งทางการแพทย์ ศาสนาจริยธรรม

ประเด็น – สถานะตัวอ่อน

ตัวอ่อนมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีชีวิต โดยทรัพย์ที่มีชีวิตคืออะไร ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะองค์ความรู้ของกลุ่มยังไม่ครบถ้วน ควรทำให้เกิดคำจำกัดความที่ชัดเจน โดยมีหลายๆ กลุ่มร่วมกันพิจารณาทั้งทางด้านนักกฎหมายและแพทย์ เพื่อให้ได้ที่จะสรุปที่ชัดเจนขึ้น

ประเด็น – ความเป็นเจ้าของตัวอ่อน

ผู้ควรมีสิทธิจัดการกับตัวอ่อน ไม่ควรเป็นผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือผู้บริจาค หรือผู้รับบริจาค แต่ควรจะเป็นกลุ่มองค์กรที่มีการรวมกันระหว่างทางด้านผู้มีความรู้ ทางด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านจริยธรรม ทางด้านสังคม ซึ่งมีลักษณะเป็นกรรมการ เพื่อให้ได้ข้อสรุปกำหนดวิธีการจัดการ และคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์เป็นกรณีๆ

กลุ่มที่แปด

ประเด็น – ควรคุ้มครองตัวอ่อนที่อยู่นอกครรภ์หรือไม่ และสถานะตัวอ่อน

ควรจะให้คำจำกัดความของตัวอ่อน โดยเห็นว่าเมื่ออสุจิผสมกับไข่ ช่วงที่เป็นระยะบลาสโตซิส เป็นระยะที่มีกลุ่มเซลล์นั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาเป็นลักษณะที่เป็นอวัยวะ จึงมีความเห็นว่า ในระยะดังกล่าวตัวอ่อนน่าจะเป็นเนื้อเยื่อ (Tissue) ยังไม่ถือว่าเป็นระยะที่มีชีวิต ฉะนั้นควรคุ้มครองตัวอ่อนเหมือนการคุ้มครองเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคุ้มครองก็ใช้เกณฑ์ของทางการแพทย์หรือเกณฑ์ของจริยธรรมที่มีอยู่ควบคุมดูแลเช่นเดียวกันกับหัวข้อเรื่องอวัยวะ

ประเด็น – ความเป็นเจ้าของตัวอ่อน

ประเด็นว่าผู้ใดจะมีสิทธิในการจัดการเหนือตัวอ่อนนั้น มีความเห็นว่าควรที่จะเป็นสิทธิของเจ้าของอสุจิและไข่ หรือทั้งสองคนก็เป็นสิทธิร่วมกัน หากเป็นผู้ได้รับบริจาคก็ให้สิทธิกับคนที่เป็นเจ้าของไข่เป็นหลัก ซึ่งเช่นเดียวกับการบริจาคตัวอ่อน

ประเด็น – เงื่อนไขในการใช้

สำหรับการใช้เพื่อการทดลองวิจัย เห็นว่าสามารถนำไปใช้ในการทดลองวิจัยได้ เพราะยังมีสถานะเป็นเพียงเนื้อเยื่อ ยังไม่เริ่มมีสภาพชีวิต แต่ต้องมีกฎเกณฑ์และมีข้อห้ามที่ชัดเจน และตกลงกันให้แน่นอน กฎเกณฑ์ เช่นทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล และมีข้อห้ามที่ชัดเจน เช่น ไม่มีการพัฒนาให้เป็นตัวอ่อนเพื่อกลายเป็นมนุษย์นอกครรภ์มารดา หรือว่าเอาไปผสมกับเซลล์ของสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์

ส่วนเรื่องการเก็บรักษาและการทำลาย ควรเป็นสิทธิของเจ้าของตัวอ่อน และกำหนดความต้องการว่าจะให้เก็บไว้เมื่อไร หรือทำลายช่วงไหน และสามารถให้ทำเป็นแบบแสดงความยินยอมล่วงหน้า (Inform consent) และหากมีต้องการแก้ไขภายหลังให้สามารถทำได้

ประเด็นเรื่องเกณฑ์ต่างๆ ของแพทยสภา ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กฎเกณฑ์แพทยสภาที่ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะข้อกำหนดในเรื่องการนำตัวอ่อนไปใช้ น่าจะพัฒนาเกณฑ์ของแพทยสภา ในเรื่องนี้ขึ้น เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับอะไรพึงทำได้อะไรพึงทำไม่ได้ การใช้เพื่อการรักษาน่าจะทำได้ เป็นต้นหรือในเรื่องอื่นๆ ที่ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ในประเทศแคนาดา มีกำหนดห้ามเอาตัวอ่อนไปผสมกับเซลล์ของสัตว์อื่น เป็นต้น

กลุ่มที่เก้า

ประเด็น – ควรคุ้มครองตัวอ่อนที่อยู่นอกครรภ์หรือไม่

ควรคุ้มครอง แต่จะใช้กฎเกณฑ์อะไร ซึ่งเห็นว่าจะใช้กฎเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งอาจจะไม่เหมาะสม ควรตั้งเป็นคณะกรรมการจากหลายสาขาขึ้นพิจารณา เพื่อที่จะไม่ได้ผิดพลาดไปในทางใดทางหนึ่ง

ประเด็น – สถานะตัวอ่อน

การพิจารณาสถานะของตัวอ่อน ต้องอาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ว่าตัวอ่อนมีหลายระยะ ระยะที่ทางการแพทย์สามารถ manipulate ได้นอกครรภ์มารดาคือประมาณสิบอาทิตย์ เพราะฉะนั้นเราควรแบ่งที่สิบอาทิตย์ ตัวอย่างการแบ่ง เช่น ในประเทศเยอรมัน ในระยะหนึ่งเซลล์ ยังคงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถนำไปแช่แข็งหรือทำลายได้ทั้งสิ้น ถ้าอยู่ในระยะสองเซลล์ขึ้นไปถือว่ามีชีวิต เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์ที่กำหนดจะถือว่าเป็น Potential life บุคคลอื่นจะทำอะไรไม่ได้ ต้องตัวเซลล์นั้นเองมีสิทธิตัดสินใจ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคณะกรรมการมาช่วยตัดสินใจ สำหรับประเทศไทย จึงควรมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคณะต่างๆ เช่น สังคม กฎหมาย ทางการแพทย์ และศาสนามาร่วมกันตัดสินในส่วนที่เป็น Potential life นี้

ประเด็น – ความเป็นเจ้าของตัวอ่อน

ในประเด็นผู้ใดควรมีสิทธิในการจัดการตัวอ่อนนั้น เห็นว่าสำหรับประเทศไทย ผู้ที่จะมารับการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีนี้ เป็นผู้จ่ายเงินเอง ผู้รับบริการหรือคู่สมรสนั้นจึงควรมีสิทธิ ถ้าหากว่าผู้มีสิทธิคือคู่สมรสนั้นหย่าร้างกัน จะเกิดปัญหาเพราะว่าสามีก็มีสิทธิ ภริยาก็มีสิทธิ ก็คงจะต้องทิ้งไว้อย่างนั้นให้เด็กเป็นคนตัดสินใจ เด็กที่อยู่ในที่แช่แข็งนั่นแหละเป็นผู้ตัดสินใจ

ในการพิจารณาจึงได้แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกถือเอาระยะเวลาเป็นตัวตัดสิน และส่วนที่สองตั้งคณะกรรมการมาตัดสิน ตัวอย่างเช่น ถ้าเกินสิบปีขึ้นไปแล้ว ในทางกฎหมายอาจจะพิจารณาเช่นเดียวกับเรื่องการครอบครองที่ดินโดยครอบครองปรปักษ์ คือถ้าเข้าไปอยู่ในที่ดินนั้นสิบปี ผู้ครอบครองก็ยังมีสิทธิที่จะเป็นของของที่นั้นได้เลย เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ถ้าหน่วยงานใดรับเป็นผู้แช่แข็ง เด็กคนนั้นอยู่ในความครอบครองและ ไม่มีใครมาทักท้วงอะไรเลยสิบปี ก็น่าจะสามารถตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจได้

การใช้ตัวอ่อนในการวิจัยและการเก็บรักษาตัวอ่อน อยู่ในสิทธิของคู่สมรสนั้น หากคู่สมรสยินยอมสามารถนำไปใช้ได้ ส่วนตัวเด็กนั้น ต้องยอมรับว่าถ้าเราตั้งคำนิยามว่ามีชีวิตมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ ก็มีสิทธิตามนั้น แต่เนื่องจากยังพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหมือนคนใบ้ คนหูหนวก ตาบอด ซึ่งทำอะไรไม่ได้ ก็คงจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของคู่สมรส และคณะกรรมการ

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเน้นเรื่องคณะกรรมการมาก คณะกรรมการนี้ ถ้าในหลักการทำงานถ้าการทำงานมีอยู่ที่เดียวก็คงมีปัญหาและไม่เหมาะในทางปฏิบัติ จึงควรมีคณะกรรมการกระจายไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถพิจารณาได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดีคณะกรรมการนี้จะต้องได้รับฝึกอบรมมาก่อนที่จะทำ

นอกจากนี้มีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องสิทธิในตัวอ่อนว่า ศาลได้เคยมีคำพิพากษาตัดสินไว้แล้วในปี 2497ว่า ลูกไม่ใช่ทรัพย์สินของแม่ที่จะเขียนจดหมายยกมอบกรรมสิทธิ์ในเด็กให้ใครก็ได้ การจะให้อำนาจปกครองต้องไปจดทะเบียน ข้อพิจารณาในกลุ่มนี้จึงยืนยันว่ารัฐต้องเข้าคุ้มครอง โดยต้องมีคณะกรรมการ

กลุ่มที่สิบ

ประเด็น – ควรคุ้มครองตัวอ่อนที่อยู่นอกครรภ์หรือไม่

การคุ้มครองตัวอ่อน ต้องใช้เกณฑ์ทางการแพทย์ร่วมกับจริยธรรม

ประเด็น – สถานะตัวอ่อน

สถานะตัวอ่อน พิจารณาแล้วว่าเป็น Potential Life เพราะว่าหากพิจารณาเป็นทรัพย์สิน จะทำให้มีปัญหาเรื่องการซื้อขายได้

ประเด็น – ความเป็นเจ้าของตัวอ่อน

ผู้มีสิทธิจัดการตัวอ่อนคือเจ้าของไข่กับอสุจิ คือสามีภริยา

ประเด็น – เงื่อนไขในการใช้

การบริจาคตัวอ่อนก็ น่าจะทำตามแนวปฏิบัติ (Medical Guideline) ที่มี และจะสามารถตรวจคัดกรองก่อนว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่

เรื่องการทำลายตัวอ่อนนั้น ขณะนี้ในตอนที่สามีภริยาจะแช่แข็งตัวอ่อน จะลงนามใบยินยอมอยู่แล้ว โดยระบุว่าถ้าสามีเสียชีวิตตัวอ่อนจะตกอยู่กับใคร ถ้าภริยาเสียชีวิตสิทธิตกอยู่แก่ใคร ถ้าเสียชีวิตทั้งคู่สิทธิตกอยู่แก่ใคร เช่นว่าจะให้ทำลายหรือจะให้ทำอย่างไร

การใช้ตัวอ่อนในการวิจัย ควรจะเป็นเรื่องของสถาบัน เนื่องจากขณะนี้ทุกสถาบันจะมีคณะกรรมการจริยธรรม (Ethical Committee) อยู่แล้ว ในการทำวิจัยหรือศึกษาทดลองใดๆ ก็จะต้องคณะกรรมการดังกล่าวของสถาบันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมในเรื่อง ประกาศของแพทยสภาคือ ในแต่ละสถาบันที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ART) มีการกำหนดว่าสถาบันนั้นจะต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมทำงานอยู่ภายในสถาบัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหาคณะกรรมการจริยธรรมประจำสถาบันจะเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ แพทยสภาดูแลสถานประกอบการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยผ่านทางราชวิทยาลัยสูติฯ โดยราชวิทยาลัยสูติฯ ก็จะมีอนุกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้กำลังร่างกฎเกณฑ์อยู่ โดยได้เชิญประชุมสถาบันที่ประกอบการ ART 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างแนวปฏิบัติ (Practice Guideline) เกี่ยวกับเรื่องแช่แข็งตัวอ่อน เช่น ระยะเวลาการแช่แข็งไม่เกินห้าปี ซึ่งกำหนดอยู่ในแนวปฏิบัติที่กำลังร่างใหม่นี้

การออกฎหมายในต่างประเทศ ในต่างประเทศกว่าจะออกกฎหมายจะใช้เวลาทิ้งไว้นานพอสมควรคือ จะมี practice guideline ออกมาก่อนแล้วกฎหมายก็ค่อยออกไปอิงตาม โดยอาศัย practice guideline ส่วนหนึ่ง

ตัวอย่างในต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งคือการกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เรื่องอายุ ในต่างประเทศ กำหนดอายุได้ เพราะว่าการรักษา ART รัฐบาลเป็นคนจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อใช้เงินภาษีราษฎรให้เกิดประโยชน์สูงสุด