โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากับการสร้างผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากับการสร้างผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

ตอ. ๒๑

………………..

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐    ดำรงฐานะเป็นโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย (หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า เตรียมอุดมศึกษา) ที่พ่อแม่ใฝ่ฝันให้ลูกได้เข้าเรียนมาโดยตลอด    ในช่วงเวลาเกือบแปดสิบปีของการดำรงอยู่ และช่วงเวลายี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะมีอายุครบหนึ่งศตวรรษในปี พ.ศ. ๒๕๘๐    คณะผู้บริหาร และสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนคงต้อง ร่วมกันคิดยุทธศาสตร์พัฒนาโรงเรียนให้ดำรงฐานะแหล่งบ่มเพาะเยาวชนที่มีสมองชั้นเลิศ ออกไปเป็นผู้นำทำประโยชน์ให้แก่สังคม

ตอนที่ผมเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมฯ  ในช่วงปี ๒๕๐๑ – ๒๕๐๓ ผมสังเกตว่าเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ต่างจังหวัด และมีพ่อแม่เป็นคนฐานะธรรมดาๆ แบบเดียวกับผมเป็นส่วนใหญ่    ต่อมาเมื่อลูก ๔ คนของผม ทะยอยเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ในช่วง ๑๐ ปีระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๔๐ ผมถามลูกๆ ถึงลักษณะทางเศรษฐสังคม ของเพื่อนๆ และสรุปกับตนเองว่า    ลักษณะทางเศรษฐสังคมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมฯ เปลี่ยนไป ในทางที่นักเรียนเป็นลูกของคนฐานะดีเพิ่มขึ้น     ลูกชาวบ้านธรรมดา (อย่างผม) มีโอกาสเข้าโรงเรียนเตรียมฯ น้อยลง    ไม่ทราบว่าข้อสรุปนี้เป็นจริงหรือไม่    หากเป็นจริง มีสาเหตุใดบ้าง

ในช่วงเวลายี่สิบปีเศษที่ผ่านมา ได้เกิดโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม ๖ โครงการ รับนักเรียนได้ปีละ ๘,๒๐๐ คน    เด็กเหล่านี้ เรียนในโรงเรียนประจำ และได้ทุนเรียนและกินอยู่ฟรี    ทำให้เด็กสมองดีจากต่างจังหวัดใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนใน โรงเรียนเหล่านี้

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของสถานการณ์หรือบริบททางสังคมและระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป   ที่น่าจะมีผลต่อ ลักษณะของนักเรียนที่สมัครสอบแข่งขันเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมฯ     และมีผลทางอ้อม ต่อสถานภาพของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในการทำหน้าที่สร้างผู้นำให้แก่ประเทศ

แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่เป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (disruptive change) ต่อระบบ การศึกษา เหมือนปัจจัยที่จะกล่าวต่อไปนี้    ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพึงเอาใจใส่ทำความกระจ่าง สำหรับนำมา ใช้ในการปรับตัว     เพื่อดำรงฐานะ “โรงเรียนระดับมัธยมปลายที่พ่อแม่ใฝ่ฝันให้ลูกเข้าเรียน” ในกระแสการ เปลี่ยนแปลง

 

เป้าหมายของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

ที่จริงเป้าหมายลึกๆ ของการศึกษาคือการวางรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่นักเรียน  และวางรากฐานพลเมืองดี มีความสามารถและเป็นคนดี ให้แก่บ้านเมือง     เป้าหมายภาพใหญ่ระดับนี้ จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

เป้าหมายที่เปลี่ยนไป เป็นเป้าหมายที่ผูกโยงอยู่กับบริบทสังคม และเศรษฐกิจ ในปัจจุบันและในอนาคต    ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ในท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน และจะยิ่งเร็วขึ้นๆ ในอนาคต    รวมทั้งเปลี่ยนแปลงแบบคาดเดาทิศทางได้ยาก    รู้แต่ว่าจะเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน และ “วูค่า” ขึ้นเรื่อยๆ

VUCA ย่อมาจาก V = Volatile, U = Uncertain, C = Complex, A = Ambiguous

ในสภาพเช่นนี้ การศึกษาแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปที่มีความชัดเจน ตามที่ใช้อยู่เดิม หมดยุคไปโดยสิ้นเชิง     เพราะการศึกษาแบบนั้น เน้นเรียนความรู้แห่งอดีต    และเน้นเรียนโดยเชื่อตามๆ กันมา     ผลคือผู้เรียนจะได้รับการบ่มเพาะให้เป็น “ผู้ตาม” หรือผู้ทำตามรูปแบบที่มีผู้กำหนดไว้ก่อนแล้ว     ขาดทักษะภาวะผู้นำ ที่เป็นความต้องการของคนทุกคนในปัจจุบัน และในอนาคต

เป้าหมายของการเรียนรู้ในปัจจุบันและอนาคตคือ ฝึกทักษะภาวะผู้นำและทักษะอื่นๆ (ที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑) ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาความรู้    หรือกล่าวให้ครบถ้วนได้ว่า  ต้องเรียนเพื่อฝึก ๓ ด้านในเวลาเดียวกัน  ตามตัวย่อ ASK

ASK ย่อมาจาก A = Attitude, S = Skills, K = Knowledge    อธิบายว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ ที่สำคัญที่สุดคือ A  หรือคุณลักษณะ/ลักษณะนิสัย (Character)  หรือการพัฒนาจิตใจ ให้เป็นมนุษย์ที่จิตใจสูง    มีความมั่นใจในตนเอง พร้อมๆ กับความถ่อมตนและเคารพผู้อื่น    มีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีคุณสมบัติ ความเป็นพลเมืองดี    คุณค่าของลักษณะนิสัยอธิบายอย่างละเอียดในหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง ซึ่งอ่านคำนิยมของผมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/576122

เป้าหมายรองลงมาคือ S  หรือทักษะต่างๆ  ที่รวมอยู่ใน “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” (โปรดดูหนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่  https://www.scbfoundation.com/stocks/5a/file/1381311572hbs6y5a.pdf)    โดยผมตีความว่าทักษะที่เป็นหัวใจคือ  ๓ร ๑ว   ซึ่งย่อมาจาก  ร – ทักษะสร้างแรงบันดาลใจ (ให้ตนเอง), ร – ทักษะการเรียนรู้, ร – ทักษะความร่วมมือ,   และ ว – การมีวินัยในตน

ส่วนเป้าหมายการมีความรู้ (K) นั้น    ไม่ได้หยุดอยู่แค่มีความรู้ที่ตอบข้อสอบแบบท่องจำได้    แต่ต้องมีทักษะ (S) ในการนำความรู้นั้นไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ    การเรียนความรู้จึงมีน้ำหนักน้อย  ต้องให้น้ำหนักที่ทักษะการใช้ความรู้    ซึ่งหมายความว่า ต้องเน้นการเรียนโดยการปฏิบัติ

 

ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

ผลการวิจัยด้านการทำงานของสมอง (Neuroscience)  ด้านศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ (Cognitive Science)   และด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ (Learning Psychology)    ค่อยๆ เผยความจริงว่าด้วยการเรียนรู้    ว่าไม่ตรงกับ ความเชื่อดั้งเดิม   ดังรวบรวมไว้ในหนังสือ How Learning Works : Seven  Research-Based Principles for Smart Teaching ที่ผมเขียนบล็อกตีความออกเผยแพร่ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/ambrose    และมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  ซึ่งสามารถดาวโหลดได้ที่ https://www.scbfoundation.com/stocks/15/file/1381235643fnpja15.pdf

สาระโดยสรุปในหนังสือเล่มนี้คือ การเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการสอนหรือถ่ายทอดความรู้    แต่เกิดจากการกระทำของผู้เรียน ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด    ครูช่วยได้เพียงช่วยให้นักเรียนได้มีกิจกรรม ที่ตนลงมือทำและคิด    ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ครูสอน” สอนวิชาความรู้  ไปเป็น “โค้ช” หรือ “ครูฝึก” ทำหน้าที่เอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์จากการทำงานหรือทำกิจกรรม (Action) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection)    โดยที่ครูยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น ต่อการช่วยเหลือให้ศิษย์เรียนแล้วรู้จริง รู้ลึก รู้เชื่อมโยง รู้บูรณาการทั้งสามด้านของ ASK   ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ บทบาทของครูที่เปลี่ยนไป

 

ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป

ห้องเรียนตามรูปแบบเดิมเป็น “ห้องสอน” ที่ครูยืนสอนอยู่หน้าชั้น ที่จัดโต๊ะนักเรียนเป็นแถว หันหน้าไปหาครู ที่เรียกว่าจัดห้องเป็น classroom   ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจัดเป็น “ห้องทำงาน” (Studio) ของนักเรียน    ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมเป็นกลุ่มหรือทีม    มีการค้นคว้าหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้ในการ “ทำงาน” ของตน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ

จะยิ่งดี หาก “ห้องเรียน” ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องที่โรงเรียน  แต่มีการพานักเรียนออกไปเรียนรู้ จากสถานที่จริง ชีวิตจริง ซึ่งจะทำให้สภาพการเรียนรู้มีลักษณะ “แท้จริง” (authentic)   เกิดการเรียนรู้จากสิ่งจริงแท้ (Authentic Learning)     ให้ความสนุก ตื่นเต้น และได้สัมผัสกับสภาพจริง    เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายมิติ  รวมทั้งการเรียนรู้แบบไร้การชี้แนะ (Unsupervised Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด    ตามที่เล่าในบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/615506

การเรียนแบบจริงแท้ที่สุดคือเรียนโดยการทำงาน    ซึ่งรูปแบบหนึ่งเสนอโดย Alan November ที่จะกล่าวถึงในตอนถัดไป

ห้องเรียนที่ดีอีกแบบหนึ่งคือ “ห้องเรียนกลับทาง” (Flipped Classroom)    ที่มีรายละเอียดในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง  ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่  https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/5137

 

บทบาทของนักเรียน/นักศึกษาที่เปลี่ยนไป

นักเรียนไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดความรู้ หรือผู้มาดูดซับความรู้    แต่แสดงบทบาทเป็นผู้สร้าง หรือร่วมสร้างความรู้ เพื่อการเรียนรู้อย่างซับซ้อนของตน    คือเรียนรู้ ASK ดังกล่าวข้างบน   รวมทั้งเผื่อแผ่เจือจานความรู้ที่ตนได้ แก่เพื่อน และแก่ผู้คนทั่วโลก    เพื่อฝึกนิสัยความเป็น “ผู้ให้”  ไม่ใช่เป็นนักเรียน “ผู้รับ” เท่านั้น

หนังสือเล่มหนึ่งที่เสนอรูปแบบการเรียนรู้โดยการทำงาน  ฝึกฝนกล่อมเกลาจิตใจการเป็นผู้เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แก่ผู้อื่นและแก่สังคม คือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Age เขียนโดย Alan November   ซึ่งผมได้ตีความเขียนบันทึกไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/november   สรุปได้ว่า มีสารพัดรูปแบบของการทำงาน    ที่ครูสามารถชักชวนนักเรียน/นักศึกษาทำ    เพื่อพัฒนา ASK ของตนเอง

 

เรียนให้รู้จริง (Mastery Learning)

การเรียนเพื่อรู้จริง ทำได้โดยการปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดเท่านั้น    ไม่สามารถทำได้โดย การรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป    วิธีการที่ครูทำหน้าที่เอื้ออำนวยช่วยเหลือให้ศิษย์เรียนแล้วรู้จริง อยู่ในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  ที่แนะนำไว้แล้วในหัวข้อ ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

การที่ครูเอาใจใส่ตรวจสอบ (ประเมิน) และช่วยเหลือให้ศิษย์ทุกคนบรรลุการเรียนรู้แบบรู้จริงในทุกชั้น ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้     จะช่วยให้พื้นฐานความรู้ของศิษย์แน่น    เอาความรู้เดิมไปเชื่อมต่อความรู้ใหม่ได้ง่าย   ทำให้การเรียนรู้เป็นของสนุกและให้ความภาคภูมิใจ    ทำให้เกิดความพึงพอในในการเรียนหรือรักเรียน

ตรงกันข้าม นักเรียนที่เรียนแล้วรู้ครึ่งๆ กลางๆ ไม่รู้จริง     พื้นฐานความรู้จะไม่แน่น  เอาความรู้เดิม ไปต่อความรู้ใหม่ได้ยาก   การเรียนรู้จะน่าเบื่อและเป็นความทุกข์    แรงจูงใจต่อการเรียนจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ    จนล้มเลิกการเรียนหรือออกจากการเรียนกลางคันในที่สุด    ผมเชื่อว่า กว่าครึ่งของนักเรียนที่หลุดออกจาก การศึกษาพื้นฐานของไทยปีละสามแสนคน มีสาเหตุพื้นฐาน (root cause) มาจากการเรียนแบบรู้ครึ่งๆ กลางๆ นี้

ผมได้อธิบายเรื่อง mastery learning ประกอบ PowerPoint เป็นเวลา ๕ นาที ที่ https://www.gotoknow.org/posts/557842

 

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ซึ่งหมายความว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานเป็นระยะๆ    โดยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการ เชื่อมต่อใยประสาทในสมอง    และทำให้เกิดภาวะผู้นำขึ้นภายในตน    แสดงออกทางการแสดงบทบาท ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในโอกาสต่างๆ

รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง  ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ https://www.scbfoundation.com/stocks/5d/file/14474044665jjz45d.pdf

จะเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้ ผู้เรียนต้องเรียนจากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์ตรง    ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (Critical Reflection)    ยิ่งถ้าประสบการณ์ก่ออารมณ์ความรู้สึก รุนแรง โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือความเชื่อขั้นรากฐานจะเกิดง่ายขึ้น    และการปฏิบัติรวมทั้ง การสะท้อนคิดนั้น ต้องทำเป็นกลุ่ม ที่สมาชิกมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน    ที่ไทยเราเรียกว่าเรียนกันในกลุ่ม กัลยาณมิตร

ที่กล่าวว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ คือทักษะการเรียนรู้ นั้น     ขอย้ำว่า    ต้องเป็นทักษะเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

 

เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจและความมานะบากบั่น

การเลี้ยงดูโดยพ่อแม่และท่าทีที่ถูกต้องของครู   ที่สร้างนิสัยมานะบากบั่น ผ่าน “กระบวนทัศน์เชื่อพรแสวง” (Growth Mindset)   ไม่ใช่ “กระบวนทัศน์เชื่อพรสวรรค์” (Fixed Mindset) มีคุณค่ายิ่งต่อชีวิตของนักเรียนในอนาคต    รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือเลี้ยงให้รุ่ง

ในมิติที่ลึก มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์    ที่จะนำมาใช้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (และยาก) ได้ ต้องมี Growth Mindset ดังในบันทึกชื่อ พรสวรรค์มีจริง แต่ต้องนิยามใหม่  https://www.gotoknow.org/posts/613530   และมี Grit ดังในบันทึกชื่อ พลังความชอบระดับหลงใหลและความมุมานะบากบั่น  https://www.gotoknow.org/posts/613528

พ่อแม่ (และครู) มักทำผิด ที่ยกย่องความฉลาดของลูกหรือของศิษย์ ซึ่งจะชักจูงให้เด็กค่อยๆ ก่อ Fixed  mindset ขึ้นในตน    สิ่งที่ถูกคือยกย่องความมานะพยายาม    ต้องยกย่องกระบวนการสู่เป้าหมาย ไม่ใช่ยกย่องตัวเป้าหมายหรือผลงาน    รายละเอียดอยู่ในบันทึกชื่อ เคล็ดลับในการเลี้ยงเด็กฉลาด  https://www.gotoknow.org/posts/608522

 

บทบาทของครูที่เปลี่ยนไป

บทบาทของครูที่ต้องเปลี่ยนไปมี ๓ ส่วนคือ บทบาทต่อนักเรียน  บทบาทต่อตนเอง และ ต่อเพื่อนครู

บทบาทของครูต่อนักเรียน ต้องเปลี่ยนจาก “ครูสอน” ไปเป็น “ครูฝึก” ดังกล่าวแล้ว    โดยครูต้องพัฒนาทักษะการเป็นครูฝึกของตน ได้แก่ทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน  หรือทักษะการตั้งโจทย์ชิ้นงานให้ทีมนักเรียนทำเพื่อเรียนรู้    ทักษะการกระตุ้นความใฝ่รู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจ ต่อการเรียนรู้ของศิษย์    ทักษะการตั้งคำถามเพื่อยั่วยุท้าทายนักเรียน    ทักษะการชมความอดทนมานะพยายาม    รวมทั้งทักษะการยับยั้งตนเองให้ไม่ตอบคำถามของศิษย์ที่ถามเนื้อความรู้ที่เขาควรค้นหาเองได้    และทักษะในการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน (Embedded Formative Assessment)  และการสะท้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback) ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

บทบาทต่อตนเองคือ ต้องพัฒนาตนเองเป็น “ครูนักเรียนรู้” พัฒนาฉันทะและทักษะในการเรียนรู้ ของตนเอง โดยพัฒนาจากการทำหน้าที่ “ครูฝึก”  นั่นเอง

บทบาทการเรียนรู้นี้ จะง่ายขึ้นทันที หากครูต่างก็แสดงบทบาทเป็นกัลยาณมิตรร่วมเรียนรู้ต่อกันและกัน    ในกระบวนการที่เรียกว่า ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC – Professional Learning Community) ซึ่งมีรายละเอียดที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/dufour

อาจมีส่วนที่ ๔ คือบทบาทต่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองนักเรียน ที่ครูต้องหาทางทำความรู้จักและร่วมมือกัน ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือแก้ปัญหาของนักเรียน

 

เปลี่ยนจุดเน้นของการประเมิน

การศึกษาไทยในปัจจุบันเน้นการประเมินเพื่อตัดสินได้ตก    ละเลยคุณค่าของการประเมินเพื่อพัฒา หรือเพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์   รายละเอียดของหลักการและวิธีการประเมินเพื่อพัฒนา มีในบันทึกชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจ  https://www.gotoknow.org/posts/tags/ประเมินเพื่อมอบอำนาจ    และในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้

โดยสรุป ครูต้องประเมินนักเรียนในชั้นเรียนทุกคนอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย (แต่ง่าย) ที่มีระบุรายละเอียดในบันทึกและในหนังสือ    แล้วกล่าวคำสะท้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback)  เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์     แต่ต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น ต้องฝึกให้นักเรียนประเมินซึ่งกันและกันเป็น    และประเมินตัวเองเป็น    ประเมินทั้งผลลัพธ์การเรียนรู้ของตนเอง และประเมินวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้     นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องการคิดของตนเอง (Metacognition)   สู่ทักษะในการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเอง     ทำให้นักเรียนมีทักษะในการกำกับการเรียนรู้ของตนเอง    และปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้  (Self-Regulated Learner)  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

กล่าวโดยสรุป โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนอื่นๆ ที่เป็นโรงเรียนในฝันของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่อยากให้ลูกหลานของตนได้เข้าเรียน อยู่ในยุคที่ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว    เพื่อให้สามารถดำรง ความเป็นโรงเรียนในฝันในกระแสการเปลี่ยนแปลง    ข้อเสนอข้างบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยน แปลงใหญ่ ที่จะต้องทำ เพื่อการทำหน้าที่สร้างผู้นำแห่งอนาคต

………………………….