[เรียนจาก ‘โลก’] เทคโนโลยีแห่งการเรียนรู้

เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาวิชาพละ

ที่โรงเรียนมัธยมปาร์กเกอร์ (Parker Middle School) นักเรียนกระตือรือร้นเป็นพิเศษโดยเฉพาะในวิชาพละ พวกเขาวิ่งไล่วอลเลย์บอลที่กระจายอยู่ทั่วพื้น และกระโดดตบระหว่างชมการแข่งขันกีฬา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เครื่องวัดแคลอรี่และการเต้นของหัวใจที่ข้อมือโชว์สีแดง เพราะการโชว์สีแดงหมายถึงระดับการเต้นของหัวใจที่อยู่ในระดับเผาผลาญไขมัน มันเป็นเทคโนโลยีที่โรงเรียนนำเข้ามาใช้เมื่อ 6 สัปดาห์ก่อนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนออกกำลังกาย แม้ว่าโรงเรียนจะแนะนำให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจในระดับกลางเพื่อร่างกายที่แข็งแรง แต่นักเรียนกลับสนุกกับการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้ถึงระดับการเผาผลาญไขมัน ซึ่งนั่นทำให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพร่างกายของตนเองและมีร่างกายที่ Fit & Firm มากขึ้น ถือว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้พัฒนาในวิชาพละศึกษาได้อย่างชาญฉลาด ทำให้การเรียนการสอนวิชาพละบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ที่มา : https://www.usnews.com/news/best-states/pennsylvania/articles/2017-03-06/schools-use-technology-to-improve-gym-classes

เรียนผ่านคอมพิวเตอร์ในวันหิมะตก

นักเรียนที่โรงเรียนเทศบาลในจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถเรียนหนังสือที่บ้านได้เมื่อสภาพอากาศไม่เป็นใจ เมื่อปีที่แล้วโรงเรียนมัธยมในเมืองกลาสโกว์ รัฐเคนตั๊กกี้ ก็มีโปรแกรมเรียนที่บ้านในวันที่หิมะตกหนักจนต้องปิดโรงเรียนเช่นกัน แบรด จอห์นสัน ครูใหญ่ของโรงเรียน กล่าวว่า มันเป็นโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จมาก นักเรียนสามารถสื่อสารและส่งงานอาจารย์ผ่านทางออนไลน์ได้ และครูก็สามารถกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้นอกโรงเรียนได้โดยผ่านการใช้เทคโนโลยี สิ่งสำคัญที่สุดคือครูจะต้องอยู่กับคอมพิวเตอร์และพร้อมที่จะตอบคำถามอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาปฏิสัมพันธ์และการติดตามของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ในประเทศไทยจะไม่ได้ประสบปัญหาสภาพอากาศหิมะตกหนักอย่างในรัฐจอร์เจีย แต่เทคโนโลยีการเรียนผ่านระบบออนไลน์ก็เป็นสิ่งใหม่ ที่เราควรนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาในบ้านเราต่อไป

ที่มา : https://www.usnews.com/high-schools/blogs/high-school-notes/articles/2017-01-30/teachers-keep-teens-learning-on-cyber-snow-days?int=k-12-rec

Instagram สำหรับครูมัธยม

Instagram นอกจากจะเป็น application ที่วัยรุ่นชอบแล้ว ยังเป็นทรัพยากรที่ดีสำหรับครูโรงเรียนมัธยมด้วย เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูเชื่อมต่อกับการศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกได้ เจนน่า คอปเปอร์ ครูสอนอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมวิลมิงตันแอเรีย ในรัฐเพนซิลวาเนีย ค้นหาไอเดียการสอนและโอกาสสำหรับนักเรียนจาก Instagram สิ่งที่ควรรู้ก่อนการเริ่มใช้เครื่องมือชนิดนี้ก็คือ การมี 2 บัญชี อันหนึ่งสำหรับชีวิตส่วนตัวและอันหนึ่งสำหรับเนื้อหาการศึกษา ช่วยให้เชื่อมโยงกับนักการศึกษาคนอื่นๆ และนักเรียนได้ง่ายมากขึ้น การใช้แฮชแท็ก เช่น #iteachhighschool ช่วยให้พบเครือข่ายที่เฉพาะเจาะจง และการโพสต์เนื้อหาทุกครั้งต้องมีรูปภาพ ซึ่งรูปภาพช่วยเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี แต่อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องการโพสต์ภาพของนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

ที่มา : https://www.usnews.com/high-schools/blogs/high-school-notes/articles/2017-01-09/3-facts-for-high-school-teachers-about-connecting-sharing-ideas-on-instagram?int=k-12-rec