การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา

บทความโดย

พิทักษ์  โสตถยาคม

นักวิชาการศึกษา กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

 

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กำหนดการประชุมระดมสมองเพื่อเชื่อมภาคีปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ (Think Tank) วาระพิเศษ “การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา” ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560 เวลา 9.00-12.00น. ณ ห้องประชุม 1 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีโจทย์เกี่ยวกับสื่อสร้างการเรียนรู้ของสังคม 3 ประการ ได้แก่ (1) จะทำอย่างไรให้สื่อและช่องทางการสื่อสารที่สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าด้วยเรื่องเป้าหมายและระบบการศึกษาที่ถูกต้อง (2) จะชวนและระดมพลังคนทำงานสื่อและคนสร้างสรรค์สื่อต่างๆ มาช่วยกันสร้าง content ที่จะช่วยสร้างสังคมเรียนรู้ได้อย่างไร และ (3) จะระดมสื่อเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการทำสื่อได้อย่างไร

การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ “การสื่อสาร” และส่วนที่สองคือ “ระบบการศึกษา” การสื่อสารในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนเดียวกันกับการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบของยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เป็นการรณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีความรู้นำ และอำนาจรัฐหนุน ซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง การสาธารณสุขที่ผ่านมาได้อย่างเห็นผล หากนำมาใช้ในการปฏิรูประบบการศึกษาได้สำเร็จ ก็จะเป็นการเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ไม่ยาก

หนึ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม คือ การทำความเข้าใจว่าระบบการศึกษาไม่ใช่แค่โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ แต่คือสังคมทั้งหมดในพื้นที่ (ประเวศ วะสี. 2554) กระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษาคือ ความงอกงามอย่างหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด การเรียนรู้ที่พัฒนามนุษย์ให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพคนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ด้วยวิธีการเรียนรู้อันหลากหลาย โดยใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ ไม่เฉพาะห้องเรียน การศึกษาเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมเปลี่ยนการศึกษาด้วยมรรควิธี หรือมรรควิธีแห่งการศึกษาเปลี่ยนประเทศไทย (ประเวศ วะสี. 2559)

จะเห็นได้ว่า การรณรงค์สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษาไทยเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกภาคส่วน และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้มากพอที่จะร่วมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สสค.ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ของเพียร์สัน (Pearson) เกี่ยวกับบทเรียนจากประเทศที่มีระบบการศึกษาดีเด่น เช่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ 5 ประการ ได้แก่ 1) ไม่มียาวิเศษในการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการปฏิรูปจริงจังต่อเนื่องหลายปี อย่างมีเป้าหมายเชิงระบบที่ชัดเจน 2) ครูเก่งคือปัจจัยสำคัญ พัฒนาครูให้มีขีดความสามารถในการจัดการเรียนรู้ได้คุณภาพสูง รักษาครูดีให้อยู่ในระบบ ส่งเสริมครูทำงานเป็นมืออาชีพและด้วยจิตสำนึกของครู 3) วัฒนธรรมการศึกษาที่ดี ค่านิยมในสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อคุณภาพการศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ประชาชนให้ความสำคัญกับการศึกษา พ่อแม่คาดหวังสูงต่อคุณภาพการศึกษา 4) ส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียนทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ในการให้ข้อมูลผลการเรียน และสานสร้างความเข้าใจเพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง 5) จัดการศึกษาเพื่อทักษะที่จำเป็นในปัจจุบันและโลกอนาคต (สุภกร บัวสาย. 2556)

หากเราเรียนรู้บทเรียนของประเทศที่ประสบผลสำเร็จข้างต้นมาพิจารณาวางแนวทางการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่การศึกษาไทย อาจช่วยให้ได้ข้อคิดที่จะกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทย สู่จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาที่ระบุไว้ใน (ร่าง) กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574 ก็เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นพลเมือง (เป็นคนดี มีวินัย เป็นพลเมืองที่ดี และมีคุณภาพของสังคม ประเทศ และของโลก) มีทักษะความรู้ความสามารถและสมรรถนะในการปฏิบัติงาน และดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข