Speech Therapy

พอดีมีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม “ถอดบทเรียน Speech Therapy ของสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ” ซึ่งเป็นการประชุมภายในหน่วยงาน เพื่อดึงเอาความรู้และขั้นตอนการฝึกพูดให้เด็กพิการออกมาทำเป็นคู่มือสำหรับเผยแพร่ในสังคม แล้วไปสะดุดกับความรู้เกี่ยวกับสมองที่บรรยายโดยอาจารย์วรวรรณ วัฒนาวงศ์สว่าง จากโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะเป็นข้อมูลที่ฟังแล้วสนุก และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้คนทั่วไปได้เข้าใจการทำงานของสมอง และเข้าใจผู้พิการมากขึ้น

เมื่อพูดถึงผู้พิการที่พูดไม่ได้ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคนหูหนวกเป็นใบ้ที่ต้องสื่อสารด้วยภาษามือ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วความบกพร่องทางการพูดมาจาก 5 สาเหตุ ได้แก่ ความพิการทางสมอง (เนื้อสมองบางส่วนถูกทำลาย) โรคออทิสติก (เนื้อสมองไม่ถูกทำลายแต่กระบวนการทำงานของสมองผิดปกติ) เชาว์ปัญญาบกพร่อง (เช่น Down Syndrome) การขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม (เช่น เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วย ipad) และความพิการทางหู เห็นได้ว่าสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากความพิการทางหูนั้นเกี่ยวข้องกับสมองทั้งสิ้น หลายคนคงพอจะทราบว่าการทำงานของสมองนั้น ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ๆ คือ ระบบรับเข้า ผ่านผิวหนัง ตา หู จมูก ลิ้น รวมไปถึงระบบข้อต่อ ระบบการทรงตัว และระบบความรู้สึกข้างใน (พวกความรู้สึกปวดฉี่ ปวดอึ หิว ฯลฯ) ระบบประมวลผล ได้แก่ การประมวลผลจากการฟัง การประมวลผลจากการมองเห็น และการประมวลผลจากการเคลื่อนไหว ระบบส่งออกซึ่งก็คือการตอบโต้การสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ดังนั้น ภาพของคนหูหนวกเป็นใบ้ที่คุ้นชิน ระบบประมวลผลของพวกเขายังดีอยู่เพราะสมองสมบูรณ์ 100% เพียงแต่พูดไม่ได้เพราะความบกพร่องทางหู

นอกจากนี้ สมองของมนุษย์ที่แบ่งออกเป็น 2 ซีก ยังทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป สมองที่เกี่ยวกับการพูดจะอยู่ซีกซ้ายเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าคนๆ นั้นจะถนัดมือซ้าย (เพราะสมองซีกขวาทำงานมากกว่า) แต่ 70% เรื่องภาษาก็มาจากสมองซีกซ้ายอยู่ดี ภายในสมองซีกซ้ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ สมองส่วนบนหรือสมองใหม่ ควบคุมเรื่องกล้ามเนื้อ แขน ขา ปาก และการพูด สมองส่วนล่างตรงขมับจะเป็นเรื่องความเข้าใจ การฟัง และการควบคุมอารมณ์ต่างๆ สุดท้ายคือสมองส่วนหลังสุดจะเป็นเรื่องของการมองเห็น การอ่าน และการเขียน ผู้พิการทางสมองที่พูดไม่ได้ส่วนใหญ่เป็นเพราะสมองซีกซ้ายของพวกเขาแหว่งไป และถ้าหากส่วนที่แหว่งหายไปนั้นเป็นสมองใหม่ เขาก็อาจจะพูดไม่ได้เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหรือปาก แต่ก็ยังประมวลผลได้ ฟังเข้าใจรู้เรื่องดี แต่ถ้าหากสมองส่วนที่แหว่งไปเป็นสมองส่วนล่างตรงขมับ เขาอาจจะพูดได้แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นสื่อสารมาเพาะประมวลผลไม่ได้ ส่วนบุคคลออทิสติกที่เนื้อสมองยังดีอยู่ แต่กระบวนการข้างในทำงานได้ไม่ดี สมองแต่ละส่วนไม่เชื่อมโยงกันที่เรียกว่า กระแสประสาทไม่เชื่อมโยง ทำให้คนกลุ่มนี้ประมวลผลไม่ได้ ตีความไม่ได้แบบคนปกติทำให้มีผลต่อการพูด

การฝึกพูด Speech Therapy เป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาคนที่มีปัญหาการพูดเนื่องมาจากสาเหตุทางสมองด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการทำกายภาพนวดปาก นวดลิ้น และอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพูด  การฝึกขยับกล้ามเนื้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพูด การฝึกเปล่งเสียง ทีละพยางค์ หรือ 2 พยางค์ติดกัน หรือเป็นประโยค โดยทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมองจำวิธีการพูดได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดคือทุกส่วนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปาก ลิ้น โคนลิ้น ขากรรไกร ฟัน เพดานปากบน-ล่าง ลิ้นไก่ กล่องเสียง ปอด และระบบหายใจ หมายความว่าถ้าระบบหายใจมีปัญหา ส่งผลกระทบกับการพูดแน่นอน ดังนั้น เด็กพิการบางคนที่นั่งผิดท่าหรือหายใจผิดวิธีจะต้องฝึกบุคลิกการนั่งให้ถูกต้อง การนอนที่ถูกวิธี หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบเสียก่อนถึงจะพูดได้ สุดท้ายอาจารย์วรวรรณยังทิ้งแนวคิดเรื่องความเชื่อมโยงกันทั้งระบบของร่างกายเอาไว้ว่าไม่ใช่แค่เพียงเรื่องพูดเท่านั้นที่ต้องอาศัยการพัฒนาทั้งระบบ ตัวอย่างเด็กที่มีปัญหาการอ่านและเขียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในโครงการวิจัยชิ้นหนึ่งของอาจารย์ ก็ยังถูกพัฒนาด้านการอ่านและเขียนด้วยกิจกรรมเด็ดผัก กวาดบ้าน ถูบ้าน และออกกำลังกายจนสามารถอ่านเขียนได้ปกติ และเข้าเรียนในโรงเรียนเหมือนคนทั่วไปมาแล้ว