การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวฃี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลกรด้านสาธารณสุข (22)

“ไม่มีใครแย่แต่กำเนิด แต่ว่ามันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้ชีวิตคนเป็นแบบนั้น แม้กระทั่งฆาตกรก็ยังมีสิ่งที่ดีๆ ดังนั้นมันเหมือนกับว่ามันมีสิ่งแวดล้อม มันมีเหตุ มีปัจจัย อะไรที่มันเอื้อให้เค้าเป็นแบบนั้น ไม่มีใครที่เกิดมาแย่ เกิดมาก็ถือมีดถืออะไรออกมาจากท้องแม่ ไม่ใช่หรอกค่ะ แต่เราต้องเข้าใจเค้าอย่างแท้จริง ถ้าเข้าใจแบบผิวเผินแล้ว แบบ.. อันนี้เราไม่ถูกชะตา แล้วเราก็ไม่ชอบ โอเค เรามีสิทธิที่จะไม่ชอบได้ เราก็มีเรื่องที่เรารับไม่ได้ในบางเรื่องเหมือนกัน แต่ถ้าเรามองย้อนไปดูจริงๆ แล้วเนี่ย เด็กกลุ่มที่เกเรน่าสงสาร เพราะว่ามันมีเหตุ มีปัจจัย ดังนั้นพอความสงสารเกิดขึ้น เราก็อยากจะช่วยเค้า อยากช่วยคนที่ไม่ดีนี่แหละ ให้เค้ามีความสุขในโลกนี้ด้วย”( เหนือ 1)

“ก็คือจริงๆ แล้วเนี่ยมีความเชื่ออย่างเดียวไม่มีความเชื่ออื่นเลยว่า ทุกคนที่เกิดมาเป็นคนดีโดยกำเนิด เป็นผ้าขาว จะขาวมากขาวน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เค้าได้รับลงไป บางคนอาจจะดำเยอะ เปื้อนเยอะ ตรงนี้มันอาจจะใช้เวลาในการซักเวลาในการแช่ ใช้เวลาปรับเปลี่ยน ถึงแม้เค้าจะไม่ขาวจั๊วะอย่างตอนที่เกิดมาเนี่ย แต่เค้าก็ดูแบบเก่าแต่สะอาด สำหรับการแสดงต่อผู้อื่นนี่คือทำให้เรามองคนในด้านบวก แล้วก็เข้าใจเค้ามาขึ้น คือคิดว่าทุกสิ่งที่มันเกิดมาเนี่ย ต้องมีเหตุและผล (อีสาน 3)”

“ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์ คนกลุ่มนี้จะมีส่วนหนึ่งที่เค้าเปิดเผยตัวเอง ก็ก่อนการเยี่ยมทุกครั้งต้องมีการสอบถามความสมัครใจของเค้า ไม่ใช้ยินยอมเนอะ ยินยอมเหมือนกับล็อคคอว่ายอมหรือเปล่า ถามความสมัครใจว่ายินดีไหมถ้าเราจะไปเยี่ยมที่บ้าน เค้าก็ถามว่า ใครไปบ้างละ บางครั้งเค้าเปิดเผยแต่ที่โรงพยาบาล แต่ที่บ้าน รอบบ้านไม่มีใครรู้เลย เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่ มันไวหน่ะค่ะ ตรงนี้เราจะระวังกันมากค่ะ (ใต้ 3)

“คนไข้ที่เค้ามาผ่าตัดกับเรา แล้วเค้ามีแผลยาวเป็นฟุตๆ ศอกๆ เลยอย่างเนี๊ยะ แล้วคุณไปบังคับเค้า คุณไปทำอย่างนี้ คุณต้องให้โอกาสเค้า เค้ารู้สภาพตัวเค้าเองค่ะว่าเค้าจะขยับได้ ณ วินาทีไหน ไม่ใช่เราเป็นคนบอก แต่เราเพียงแค่ให้เค้ารู้ว่าสิ่งที่ดีที่เค้าจะได้รับถ้าเค้าดีคืออะไร”(กลาง3)

นอกจากการมีเป้าหมายในชีวิต การมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่เป็นส่วนประกอบของแก่นของจิตวิญญาณในประเด็นนี้แล้ว การเข้าใจชีวิตที่เกิดจากการสังเกตสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเรา กับคนอื่นๆ แล้วทำให้เข้าใจในความหมายของการเกิด การคงอยู่ การดับไปของชีวิต เข้าใจ กฎของธรรมชาติ ก็เป็นลักษณะที่ปรากฏในกลุ่มตัวอย่างทุกภาค ดังตัวอย่างเช่น

“แล้วก็ความทุกข์ยากที่เราเห็นตั้งแต่ผู้ปกครองที่ คือจะว่าไปเนี่ยไม่เห็นอนาคตเลย คือถึงเค้าจะดีขึ้นแต่เค้าก็ยังต้องอยู่ในความดูแลตลอดชีวิตก็ว่าได้ ดังนั้นความทุกข์ยากที่เห็นจากผู้ปกครองบางท่านซึ่งเป็นแพทย์เป็นรองศาสตราจารย์อย่างเงี้ยนะคะ มีลูกเป็นออทิสติก คุณพ่อก็บอกว่าเมื่อลูกเกิดมาเนี่ย แล้วรู้ว่าเป็นออทิสติกเนี่ย ผมคาดหวังอะไรไม่ได้เลย คืออนาคตของเค้าเนี่ยเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนเลยนะคะ เพราะว่ามันไม่มีวันที่จบสิ้นน่ะค่ะ เค้าต้องอยู่กับปัญหาทั้งชีวิต แต่ยังไงก็ตามความทุกข์ยากที่มันเข้ามาตรงนี้น่ะ ทำให้เรามีความรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเนี่ยคนเรามันไม่ได้มีอะไรมากมายหรอก ถ้าคิดได้ เค้าก็สามารถที่จะอยู่ได้ อยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย “(เหนือ2)

“และก็ได้มีโอกาสทำงานเป็นแพทย์แผนไทย ที่บอกว่าส่วนใหญ่จะอยู่กับคนไข้ทั่วๆ ไป เป็นเรื่องของการดูแลทั่วๆ ไปแต่ว่าได้มีโอกาสทำโครงการกับคุณธันวาก็คือผู้ป่วยอัมพาต ทีนี้ก็จะเห็นสัจธรรมค่อนข้างมากนะครับ” (เหนือ 1)

“เพราะว่ามี case ที่ได้ดูแลกันมาแล้วเพิ่งเสียไปเมื่อเดือนที่แล้ว ที่เป็นความดัน เบาหวาน อัมพาต แล้วงานศพเค้าก็โทรเชิญเราไปงานศพ นี่ย้ายมาแล้วนะคะ แต่เค้าก็ชวนเราไป มันมีคำพูดนึงที่เคยไปอบรม ที่เค้าเจริญมรณสตินะคะ ที่บอกว่า ความตายเนี่ยไม่ได้หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจ หรือสิ่งที่น่ากลัวเสมอไปนะคะ แต่ว่าความตายในที่นี้หมายถึงการที่ได้ทำหน้าที่ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง อันนี้เราค้นพบคำตอบ”(อีสาน 3)

“ตัวเองมองตัวเองด้วยมากๆเลยว่า มองชีวิตว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรที่ว่าแก้ไขไม่ได้ และไม่มีอะไรที่ว่าดีที่สุด ทำยังไงให้ชีวิตต่อไปชีวิตวันนี้ แล้วก็ชีวิตคนที่อยู่กับเราชีวิตรอบๆข้างเรามีความสุขค่อยๆไป ค่อยๆไป ดิฉันมองก็คือว่า เริ่มปลงเยอะตอนนี้ ปลงชีวิต ทำให้ตัวเองดูสงบ แล้วก็เยือกเย็นขึ้น เมื่อก่อนนี้ตัวเองใจร้อน แฟนยังบอกเลยว่าเมื่อก่อนถ้ามีอะไรจะตัดสินใจ ฉึบ ๆๆ เลย ผิดไม่ผิดแล้วแต่ แต่ว่าฉันตัดสินใจแล้ว เรามองว่า ตั้งแต่ทำเยียวยาจิตใจทำให้ตัวเองดูเป็นคนมากขึ้น ดูมองคนอื่นเป็นคนมากขึ้นนะคะ ไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนไม่มองเป็นคนนะ แต่ว่ามองให้ลึก มองให้ครบวงจรชีวิตของคนนะคะ แค่นี้ละค่ะ”(ใต้ 2)

ลักษณะของจิตวิญญาณด้านความหมายและเป้าหมายของชีวิต ในนี้เป็นแก่นของจิตวิญญาณที่ปรากฏในข้อมูลของทุกภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการเข้าใจความหมายของชีวิตมีความหลากหลาย ผลจากงานวิจัยนี้ เมื่อเทียบกับสังกับของการมีเป้าหมายในทางจิตวิทยา พบว่ามีพื้นฐานคล้ายกัน คือ เป้าหมายเป็นการกล่าวถึงอนาคต เป้าหมายเป็นรูปธรรมเป็นตัวแทนทางความคิด(cognitive representation) หรือตัวแปรแฝงที่สังเกตไม่ได้แต่เป้าหมายต้องประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 2 ส่วนคือ เนื้อหาของเป้าหมายและความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย เนื้อหาของเป้าหมายอาจเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรรม เป็นรูปธรรม ในขณะที่ รักเพื่อนมนุษย์ เป็นนามธรรม เราจะรู้ได้ว่าเรามุ่งสู่เป้าหมายก็เมื่อเราแสดงพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ที่เรียกว่า goal-directed behavior ( Elliot , 2008) จากผลการวิจัยนี้แสดงว่าผู้มีจิตวิญญาณแสดงถึงการมีเป้าหมายทั้งในแง่ของเนื้อหาและความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายในรูปแบบของพฤติกรรม อย่างไรก็ตามพบว่า เนื้อหาที่เป็นเป้าหมายของกลุ่มตัวอย่างนี้ เน้นเป็นด้านคุณธรรม เป็นส่วนใหญ่คือ การเห็นคุณค่าของคน การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการมีเป้าหมายของการมีความหมายในชีวิต หรือ จัดเป็นเป้าหมายของบุคคล(personal goal) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมายด้านความสำเร็จ เป้าหมายส่วนบุคคล และเป้าหมายด้านความสัมพันธ์ (Elliot and Friedman, 2007)

ลักษณะด้านการเข้าใจความหมายของชีวิต เป็นอีกส่วนหนึ่งของแก่นของจิตวิญญาณด้านแรกนี้ ที่ไม่อาจแยกส่วนออกจากการมีเป้าหมายในชีวิต กล่าวคือกลุ่มตัวอย่างได้แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจชีวิต จากการเรียนรู้ในประสบการณ์ที่ทำงานตามเป้าหมายของเขา การเข้าใจความหมายของชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เมื่อบุคคลมีเป้าหมาย และมีความมุ่งมั่นสู้เป้าหมายนั้น ในทางจิตวิทยา พบว่า “การเข้าใจความหมายของชีวิต” จากงานวิจัยนี้ พบว่ามีความใกล้เคียงกับ การหาความหมายของชีวิต(search for meaning in life) ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า เป็นการที่บุคคลค้นหาความหมายให้กับชีวิตของตนเอง โดยต้องการตอบคำถามว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร อะไรที่มีความสำคัญสำหรับตัวเรา ตัวเราควรจะทำอะไร การหาความหมายของชีวิตนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการทางจิตของบุคคล คือ ถ้าใครมีความเข้าใจในความหมายของชีวิตตนเอง และพบความสำคัญของความหมายนั้น ก็จะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี และคนที่ค้นหาความหมายของชีวิต อาจมีผลทำให้ทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับความหมายมากขึ้น (Michael F. Steger and Todd B. Kashdan , 2007) เมื่อนำมาอธิบายข้อค้นพบของงานวิจัยนี้อาจกล่าวได้ว่า คนที่มีเป้าหมายในชีวิต พบการมีความหมายของชีวิตจากการทำเพื่อสังคม ก็จะส่งผลให้ทำพฤติกรรมอย่างพึงพอใจ มีความสุขใจ และมีแนวโนม้ที่จะทำพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางสังคมเพิ่มขึ้น