สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (18)

ปัจเจกภาพอันเป็นสิ่งที่บุคคลเป็นอยู่ อันเป็นขอบเขตที่กำหนดโดยความหมายที่รู้สึกนั้น อาจขยายออกได้เมื่อบุคคลรู้สึกหรือพยายามรู้สึก “ความคิด” ที่เขามิได้รู้สึกในขณะนี้ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ก็กล่าวได้ว่า “โลก” ของบุคคลเปลี่ยนไป การรู้สึกความหมายที่ไม่เคยรู้สึก นับเป็นการทำให้สิ่งที่เป็นอื่นกลายเป็นตัวตน หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการก้าวพ้นตัวตนเดิม (self-transcendence)

ณ จุดนี้จึงสรุปได้ว่า “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” คือภาวะที่เกิดจากการกลายเป็นสิ่งที่เป็นอื่นหรือการก้าวพ้นตัวตนได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นการขยายขอบเขตแห่งความมีความหมาย นิยามนี้สามารถเชื่อมโยงสู่ปฏิทรรศน์ (paradox) ที่พบในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการ tuning นั่นคือ ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เป็นอื่น ยิ่งก้าวพ้นตัวตน บุคคลก็ยิ่งเป็นตนเอง ยิ่งมีความดื่มด่ำลึกซึ้ง ยิ่งมีความตระหนักในความเป็นตัวเป็นตน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ดังกล่าวแล้วว่าในเบื้องต้นเราอยู่ในภาวะของความมีความหมายอยู่แล้ว แต่ข้อนี้ก็มิได้ทำให้กล่าวได้โดยทันทีว่าเรามีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ การศึกษาข้อมูลพบกรณีที่ผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เผชิญกับ “ความมีความหมายมากเกินไป” เช่น มีความรู้สึกร่วมกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่กำลังประสบทุกข์ราวกับว่าตนประสบเสียเอง ในกรณีเช่นนี้ ปรากฏว่าเกิดการเสียสมดุลระหว่างความคิดและความรู้สึก ทำให้มิอาจปฏิบัติงานได้

โดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้นี้ต้องอาศัยการเสริมพลังด้านความคิดของตน เพื่อมิให้ตนเองถูกครอบงำจากความรู้สึกร่วมนั้นกระทั่งมิอาจทำงานได้ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า บุคลากรผู้นี้อาศัยความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์วิชาชีพเพื่อก้าวพ้นตัวตนที่กำลังถูกครอบงำด้วยความรู้สึกทุกข์ไปกับผู้ที่ตนดูแล

ประเด็นสำคัญที่เรียนรู้ได้จากกรณีนี้ก็คือองค์ประกอบสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณอีกประการน่าจะเป็นเรื่องของ “ทิศทาง” อันจะช่วยให้บุคคลสามารถกำหนดได้ว่าจะก้าวพ้นจากตัวตนไปในทางใด ในขณะเดียวกัน “ทิศทาง” ก็จะช่วยให้บุคคลพิจารณาได้ว่าเมื่อใดเป็นเวลาที่ควรจะก้าวพ้นตัวตน “ทิศทาง” ดังกล่าวย่อมอยู่ในส่วนของ “ความคิด” ข้อนี้จึงยืนยันการวิเคราะห์ที่ว่า “ความคิด” คือสิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นหลักเสมอ โดย “ความคิด” ที่กำหนด “ทิศทาง” นี้ก็เป็นเรื่องของคุณค่า อันเป็นฐานแห่งการกำหนดเป้าหมาย ในข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่พบบ่อยก็คือ “อุดมการณ์วิชาชีพ” “การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” รวมถึงคุณค่าอันกำหนดด้วยคำสอนทางศาสนาต่างๆ