สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (5)

เป็นเหตุการณ์ที่ตั้งคำถาม ท้าทาย หรือกระทั่งปฏิเสธโลกที่มีความหมายของเรา เราจึงเริ่มตระหนักถึงความมีความหมาย

ความตระหนักนี้อาจไม่ได้แสดงมาเป็นความตระหนักโดยตรง แต่อาจสะท้อนมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเป็นทุกข์ทุรนทุรายเนื่องจากโลกที่มีความหมายของเขาถูกสั่นคลอน บางคนอาจจะพยายามให้ความหมายแก่สิ่งแปลกแยกนั้นโดยอาศัยพื้นฐานความหมายของโลกเดิม บางคนอาจจะต้องเปลี่ยนความหมายของโลกใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการสั่นคลอนกระทั่งเกิดความตระหนักในความมีความหมายนั้นจะเป็นเรื่องลบไปเสียทั้งหมด การที่เรามีโลกที่มีความมีความหมายของเราและดำเนินชีวิตไปอย่างมั่นใจในความมีความหมายนั้นก็มิได้จะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป หากเราไม่ตระหนัก เราก็ขาดโอกาสทบทวนตรวจสอบ เป็นไปได้ว่าโลกที่อบอุ่นของเรานั้นอาจเป็นโลกที่แคบและตื้นเขิน สิ่งที่มีความมีความหมายกับเรานั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอย่างแท้จริง (เช่น อิทธิพลบริโภคนิยม) หรือไม่ก็เป็นไปได้ว่าโลกของเรานั้นอยู่บนพื้นฐานหลักการที่น่าพึงปรารถนาแต่ยังขาดพัฒนาการ (เช่น อุดมการณ์วิชาชีพ)

ข้อนี้เรามักสังเกตได้จากบุคคลอื่น เราอาจพบขอบเขตโลกของบุคคลได้ เมื่อพบสิ่งที่มีความหมายแต่ไม่มีความมีความหมายในโลกของเขา ยกตัวอย่างเช่น สำหรับนักศึกษาหลายคน สิ่งที่มีความมีความหมายคือ “คะแนน” ส่วนเนื้อหาวิชาที่นำไปสอบเพื่อให้ได้คะแนนนั้น แม้จะมีความหมาย คือสามารถทำความเข้าใจและถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ แต่ก็ไม่มีความมีความหมาย เนื่องจากเนื้อหาเหล่านั้นไม่มีที่อยู่ในชีวิตของตัวนักศึกษาเลย บุคลากรทางการแพทย์หลายคนอาจเข้าใจและอธิบายอุดมการณ์วิชาชีพได้ แต่อุดมการณ์เหล่านั้นอาจไม่ปรากฏร่องรอยในชีวิตของพวกเขาเลยก็ได้ บุคลากรทางการแพทย์อาจพบเห็นความทุกข์มากมายของผู้ป่วย และแน่นอนว่าพวกเขาสามารถเข้าใจความหมายสิ่งที่ประสบเหล่านี้ได้ว่าเป็นความทุกข์ แต่ความทุกข์เหล่านั้นอาจไม่มีความมีความหมายนอกเหนือไปจากภาระงานที่ต้องสะสางให้เสร็จ หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องกวนใจ ในภาษาทั่วไป เราอาจบรรยายเหตุการณ์เช่นนี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่บุคคลรู้ว่าบางอย่าง “มีอยู่” แต่สิ่งนั้นไม่มี “ความหมาย” ต่อเขา

เมื่อเห็นดังนี้ เราก็สามารถคิดถึงกรณีอื่นๆ ที่นำความแปลกแยกเข้ามาสู่โลกของเรา อันทำให้เกิดความตระหนักในความมีความหมายได้ เช่น ของพื้นๆ อย่างรางวัลก็สามารถทำให้คนตระหนักถึงความมีความหมายได้ เนื่องจากทำให้สิ่งที่ไม่มีความมีความหมายกลายเป็นมีขึ้นมา ครูที่ดีก็สามารถนำเสนอความแปลกแยกบางอย่างเข้ามาในโลกของเราได้อย่างเหมาะเจาะ นอกจากนี้ สำหรับบางคนก็มีลักษณะนิสัยส่วนบุคคลที่คอยแสวงหาความมีความหมายอยู่แล้ว ข้อนี้ก็ทำให้เขาเป็นผู้ตระหนักถึงความมีความหมายอยู่เสมอ ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป คำถามนำก็คือว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชี้ไว้หลายปัจจัย ในเบื้องต้น จะพิจารณาปัจจัยที่ไม่ค่อยอยู่ในความควบคุมก่อน ได้แก่ เหตุการณ์ภายนอก หรือ ลักษณะนิสัยของบุคคล

4.3.1 เหตุการณ์ภายนอก

บุคคลอาจเห็นความมีความหมายเนื่องจากเหตุการณ์ภายนอกมากระทบตนเอง อันกระตุ้นให้ความคิดและความรู้สึกทำงานประสานกันกระทั่งเกิดการเห็นความมีความหมาย เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ที่ความคิดความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับอุดมคติวิชาชีพที่แพทย์มีอยู่ก่อน ถูกกระทบด้วยสิ่งที่เผชิญ ทำให้ตั้งคำถามและตระหนักถึงความมีความหมาย

…แต่ชีวิตผมเริ่มจริงๆ สมัยที่ไปใช้ทุน คือได้เห็น ได้เห็นงาน ได้เห็นชีวิตคนไข้ ได้เห็นการทํางานของคุณหมอหลายๆ คน ได้ทํางานร่วมกับพยาบาลหลายๆ คน ตรงนั้นเป็นส่วนที่บอกเราว่าเราจะทําอะไรต่อไปในชีวิตข้างหน้า ก็คือว่าพอเราได้เห็นอะไรบางอย่าง ได้ประสบเรื่องบางอย่าง เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่ พอมันไม่ใช่ เราต้องกลับมาถามเราตัวเองว่า แล้วเราจะทํายังงี้เหรอ ถ้าเราทําอย่างงี้ มันก็หมายความว่า สิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูก มันก็ต้องถูกสิ ผมมักจะคิดยังงี้ ผมเป็นคน มองอะไรยังงี้ ถ้ามันถูก แล้วเราทําได้หรือเปล่า ถ้าเราทําไม่ได้ มันก็ฝืนใจเราจริงๆ…

(ลปรร.ภาคเหนือ)

ภาวะแห่งการเข้าถึงความมีความหมายเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากฝั่งความรู้สึกก็ได้ เช่น ประสบความสุขใจหรือความปีติบางอย่าง เช่นข้อความที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นว่าความปีติอันเป็นรางวัลที่ไม่คาดฝันจากการทำงาน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เห็นว่างานที่ตนกระทำนั้นมีความหมาย แม้จะขัดกับนิสัยของตนก็ตาม

…ในวันที่จบก็เอาดอกไม้ที่เก็บ…มาให้เรา เรารู้สึกเลยว่า โอ้โห! มันเทียบไม่ได้กับเงิน ตอนนั้นนะคะ เป็นจุดเปลี่ยนของความคิดเลยว่า อุ๊ย! ทําให้คนอื่นนี่มันทําไมเรามีค่าขนาดนั้นเลยเหรอ เราเป็นแค่…ไม่ใช่หมอใหญ่ แต่ทุกคนก็รู้สึกรักเรา ดอกไม้ดอกนี้เงินซื้อไม่ได้นะคะในตอนนั้น แต่ความรู้สึก เรารู้สึกว่าทํางานแบบนี้มันใช่ มันคือตัวเรา ทําแล้วมันปีติ เหมือนเราได้สัมผัส จริงๆ เหมือนอย่างที่บอก เนื้อในไม่ใช่คนที่อยากจะออกมาเสียสละ ไม่ใช่ แต่ว่ารู้สึกว่าพอทําแล้วได้สัมผัส เหมือนสัมผัสเข้าถึงใจเขา เขาก็ให้ใจเรามา เรารู้สึกว่าเราปีติ แล้วก็มีพลัง แล้วหลังจากนั้นพอใครจะชวนมาทํากิจกรรมลักษณะนี้จะไปหมด ก็จะมีความสุขที่ได้ทํา มีพลังทุกครั้งที่ได้ทํา…

(ลปรร.ภาคอีสาน)