สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (1)

2. วัตถุประสงค์

เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์กรอบแนวคิดเรื่อง “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” จากข้อมูลของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

3. ข้อตกลงเบื้องต้น

การสังเคราะห์กรอบแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณนี้อาศัยข้อมูลจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังต่อไปนี้

กลุ่มภาคกลาง

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1 วันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 2 วันที่ 18-19 กันยายน 2551

# กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 วันที่ 30-31 ตุลาคม 2551

กลุ่มภาคใต้

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1 วันที่ 6-7 สิงหาคม 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 2 วันที่ 10-11 กันยายน 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 วันที่ 15-16 ตุลาคม 2551

กลุ่มภาคเหนือ

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1 วันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 2 วันที่ 29 – 30 กันยายน 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3 วันที่ 27-28 ตุลาคม 2551

กลุ่มภาคอีสาน

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1 วันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 2 : วันที่ 24 – 25 กันยายน 2551

#  กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 : วันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2551

การสังเคราะห์ความรู้นี้อาศัยเฉพาะข้อมูลจากเอกสารการถอดเทปกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ที่จัดทำโดยแผนงานฯ ข้อมูลส่วนนี้อาจมีที่ไม่สมบูรณ์ไปบ้างเนื่องจากเทปบันทึกเสียงขาดตอน อย่างไรก็ตาม ความไม่สมบูรณ์นี้มีเพียงส่วนน้อย และเชื่อว่าไม่กระทบต่อผลการสังเคราะห์ความรู้

4. ผลการสังเคราะห์ความรู้

4.1 ความหมายของ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ”

การแบ่งประเภทสุขภาวะของบุคคลขึ้นกับความเข้าใจว่า “ความเป็นบุคคล” นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยพื้นฐานแล้วความเข้าใจดังกล่าวจะอยู่ในรูปที่ว่าความเป็นบุคคลประกอบด้วยมิติด้านจิต ด้านกาย และด้านสังคม สำหรับด้านจิตนั้น ยังแบ่งได้อีก 2 มิติย่อย ได้แก่ ด้านความคิดและด้านความรู้สึก ทั้งนี้ หากพิจารณาในระดับที่ย่อยลงไปอีก จะเห็นว่าความเป็นบุคคลระดับพื้นฐานประกอบด้วยมิติด้านจิตและด้านกายเท่านั้น ขณะที่มิติด้านสังคมสามารถทอนย่อยเป็นมิติด้านจิตได้

บนพื้นฐานแห่งการจำกัดความเป็นบุคคลให้อยู่ที่มิติพื้นฐาน คือ ด้านจิตและด้านกายนี้ เราอาจอาศัยมุมมองการแบ่งระหว่าง “สมรรถนะ” กับ “ภาวะ” เพื่อทำความเข้าใจมิติทั้ง 2 นี้ให้ชัดเจนขึ้น อันจะสามารถนำมาเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นเรื่องสุขภาวะต่อไป “สมรรถนะ” หมายถึง อำนาจที่จะยังให้เกิดผลบางอย่าง ส่วน “ภาวะ” หมายถึง สภาพของสิ่งอันบรรยายได้ในเชิงคุณภาพ (เช่น สุข-ทุกข์)

ถ้าเข้าใจว่ามิติด้านจิตมีส่วนที่เป็น สมรรถนะและส่วนที่เป็นภาวะ ก็จะกล่าวได้ว่ามี (ก) สมรรถนะทางจิต และ (ข) ภาวะทางจิต ด้วยวิธีเดียวกัน เรากล่าวได้ว่ามี (ก) สมรรถนะทางกาย และ (ข) ภาวะทางกาย และในส่วนของจิตนั้น ก็ยังแยกย่อยได้เป็น (ก) สมรรถนะทางความคิดและภาวะทางความคิด (ข) สมรรถนะทางความรู้สึกและภาวะทางความรู้สึก ในเรื่องของความเป็นบุคคลนั้น กล่าวได้ว่าสมรรถนะมีบทบาทสำคัญในการยังให้เกิดภาวะที่มีคุณภาพใดคุณภาพหนึ่ง และแน่นอน ยามที่กล่าวว่าภาวะเป็นผลจากการทำงานของสมรรถนะ การทำงานที่ว่านั้นก็อยู่ในบริบทแห่งปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายรวมถึงเหตุการณ์ด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า “สุขภาวะ” คือ ผลจากการทำงานของสมรรถนะในปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น “สุขภาวะทางกาย” ก็คือสภาพของร่างกายที่ดี อันเป็นผลจากการทำงานของสมรรถนะทางกายในปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน หากสมรรถนะทางกายเสื่อมเสียไป ก็ย่อมส่งผลให้เกิด “ทุกขภาวะทางกาย”

การแบ่งประเภทสุขภาวะตามการวิเคราะห์ข้างต้น หากนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่อง “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” จะได้ผลอย่างไร คำถามประการแรกที่มีคือ “อะไรคือสมรรถนะที่นำสู่ภาวะนี้” ในกรณีของสุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางกาย และแม้กระทั่งสุขภาวะทางสังคมนั้น คำถามดังกล่าวไม่ปรากฏ เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดว่าสมรรถนะใดมีบทบาท นั่นคือ สมรรถนะทางจิตและทางกาย โดยสมรรถนะทั้ง 2 นี้ก็มิได้เป็นที่สงสัยว่ามีอยู่หรือไม่ คำตอบที่เป็นไปได้คือ (ก) สมรรถนะที่ยังผลต่อภาวะทางจิตวิญญาณก็คือสมรรถนะที่มีอยู่อย่างไม่สงสัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมรรถนะทางจิต หรือ (ข) บุคคลมีสมรรถนะอย่างหนึ่งต่างหากจากจิตและกาย และสมรรถนะนั้นก็คือ “สมรรถนะทางจิตวิญญาณ” สมรรถนะนี้อาจเป็นอีกด้านหนึ่งของสมรรถนะทางจิตนอกเหนือจากความคิดและความรู้สึกก็ได้