ข้อพิจารณาเกี่ยวกับนิยามสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ (1)

ความรู้และความสามารถในการเรียนรู้และเห็นว่าหากบุคคลมีสุขภาวะทางปัญญาก็จะสามารถมีสุขภาวะด้านอื่น ๆ ด้วย ในทางกลับกัน สุขภาวะด้านอื่น ๆ ที่พัฒนาบนพื้นฐานของสุขภาวะทางปัญญานี้ ในที่สุดและจะย้อนกลับมาสนับสนุนสุขภาวะทางปัญญาด้วย โดยนัยนี้ ถือว่ารูปแบบ ๑ สามารถผนวกรวมกับรูปแบบ ๒

รูปแบบ ๓ : เห็นว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณเป็นหนึ่งในบรรดาสุขภาวะด้านอื่น ๆ ผลรวมของสถานะของสุขภาวะด้านต่าง ๆ เหล่านี้คือประสบการณ์ด้านสุขภาวะที่บุคคลกำลังมีอยู่ ประเด็นสำคัญก็คือว่าบุคคลที่มีสุขภาวะนั้นไม่จำเป็นต้องปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง สถานะของสุขภาวะบางด้านของบุคคลอาจจะไม่ดีได้ แต่เมื่ออยู่ร่วมกับสุขภาวะด้านอื่น ๆ ที่มีสถานะดี ก็ทำให้มีผลรวมที่จัดว่าบุคคลนั้นมีสุขภาวะได้ ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมให้บุคคลสามารถจัดการหรืออดทนต่อสุขภาวะด้านหนึ่งที่มีสถานะไม่ดี อาจกระทำด้วยการส่งเสริมสถานะด้านอื่น ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งระดับของสุขภาวะที่เป็นผลรวม

รูปแบบที่ ๔ : มีทัศนะบางส่วนคล้ายคลึงกับ ประเวศ วะสี คือเห็นว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณแยก ออกมาต่างหากจากสุขภาวะด้านอื่น ๆ โดยมีฐานะพิเศษ คือ สามารถส่งอิทธิพลจัดการกับสุขภาวะด้านอื่น ๆ ทั้งหมด เบื้องต้นอาจเห็นได้ว่ารูปแบบที่ ๔ นี้ คล้าย ๆ กับรูปแบบที่ ๒ คือ สุขภาวะด้านจิตวิญญาณดูเหมือนเป็น “ผล” ของสุขภาวะด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม มีองค์ประกอบที่ทำให้รูปแบบ ๔ มิอาจเป็นหรือแม้แต่ผนวกรวมรูปแบบ ๒ เข้ามาได้ องค์ประกอบนั้นคือ “ความเป็นองค์รวม”

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มองสุขภาวะด้านจิตวิญญาณในฐานะที่เป็น “องค์รวม” ที่มากไปกว่า”ผลรวม” ของสภาวะด้านอื่น ๆ ในที่นี้ คำว่า “องค์รวมที่มากไปกว่าผลรวม” น่าจะเข้าใจในความหมายที่ว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะมีอิทธิพลจากสุขภาวะด้านอื่น ๆ แต่ในอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเอกเทศไปจากสุขภาวะด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ความเป็นเอกเทศอาจปรากฏในลักษณะที่ว่าคนมีสถานะของสุขภาวะด้านจิตวิญญาณในระดับที่สูงในขณะที่สถานะของสุขภาวะด้านอื่น ๆ อยู่ในภาวะที่ขาดหายหรืออยู่ในระดับต่ำ “ความเป็นองค์รวม” ที่กล่าวถึงในรูปแบบ ๔ นี้จึงต่างจาก “ความเป็นผลรวม” ที่กล่าวถึงในรูปแบบ ๓ เนื่องจากสำหรับอย่างหลัง สุขภาวะโดยรวมขึ้นอยู่กับสถานะของสุขสภาวะด้านต่าง ๆ มิอาจจะมีลักษณะแปลกแยกออกไปอย่างที่สุขภาวะด้านจิตวิญญาณของรูปแบบที่ ๔ นี้สามารถเป็นได้

(ด้วยเหตุนี้แม้ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ จะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณเป็นมิติหนึ่งของสุขภาวะของบุคคล แต่การยึดถือสถานะความเป็นองค์รวมของจิตวิญญาณทำให้เห็นว่าน่าจะทำความเข้าใจตามรูปแบบ ๔ มากกว่า)

____________________________________________

1 ประเวศ วะสี. (๒๕๕๑). สุขภาวะทางปัญญา.มติชนรายวัน, ๑๔ มิถุนายน.

2 Komatra Chuengsatiansup. (2003). Spirituality and health: an initial proposal to incorporate spiritual health in health impact assessment. Environmental Impact Assessment Review 23, pp. 3 – 15.

3 ภิรมย์ กมลรัตนกุล และวิโรจน์ เจียมจรัสรังสี. (๒๕๔๙). แนวคิดใหม่เกี่ยวกับ “สุขภาวะ” และ “การสร้างเสริมสุขภาพ”. จุฬาลงกรณ์เวชสาร ๕๐(๕). น. ๒๙๑ – ๓๐๐.