คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 27

เมื่อมองจากมุมของบุคลากรแล้ว ดูเหมือนว่าจะเห็นว่าผู้ต้องขังมีอัตลักษณ์แล้ว นั่นคือ มีอัตลักษณ์ในฐานะผู้ต้องขัง ไม่ใช่อัตลักษณ์ของ “นางสาว ก.” ที่กลายเป็นผู้ต้องขังและกำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์กลับมาเป็น “นางสาว ก.” อีกครั้งหนึ่ง แม้อัตลักษณ์ที่ฟื้นกลับมาจะเป็น “นางสาว ก.” คนใหม่ หรือยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ฟื้นคืนเป็นอัตลักษณ์ใหม่ในฐานะ “นางสาว ก” ที่ยอมรับสภาพความเป็นผู้ต้องขัง หรืออีกนัยหนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นฟูอัตลักษณ์จากมุมมองของผู้ต้องขังดูจะไม่เด่นชัดนักเมื่อพิจารณาจากข้อมูลในมุมมองของบุคลากร

การมองผู้ต้องขังว่ามีอัตลักษณ์เป็นผู้ต้องขังนำสู่ผลสองประการ ได้แก่ มีบุคลากรบางส่วนที่มีท่าทีต่อผู้ต้องขังตามนิยามที่สังคมกำหนด นั่นคือ ผู้ต้องขังในฐานะ “คนไม่ดี” และปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ตามท่าทีอันประกอบด้วยอคติดังกล่าว ขณะเดียวกัน มีบุคลากรอีกส่วนที่ก้าวพ้นการมองอัตลักษณ์ของผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวไปได้ การสังเคราะห์แสดงให้เห็นว่าบุคลากรส่วนหลังนี้นิยามผู้ต้องขังในความสัมพันธ์กับสถานะของตนเอง ได้แก่ สถานะความเป็นนักวิชาชีพ หรือสถานะความเป็นข้าราชการ โดยสถานะดังกล่าวของบุคลากรส่วนนี้ประกอบด้วยความตระหนักซึ่งอุดมการณ์วิชาชีพหรือข้าราชการ ตามมุมมองของบุคลากรส่วนนี้ ผู้ต้องขังจึงเป็น “คนไข้(ที่เป็นผู้ต้องขัง)” ฯลฯ ที่พวกเขาต้องปฏิบัติต่อตามกรอบอุดมการณ์และมาตรฐานวิชาชีพ

ในแง่หนึ่ง สิ่งนี้เป็นข้อดีเนื่องจากช่วยให้สามารถมองพ้นไปจากคุณค่าเชิงลบที่ผู้ต้องขังมีในฐานะปัจเจกบุคคล ไปสู่คุณค่าสากลแห่งความเป็นมนุษย์ อันนำมาซึ่งการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแบบเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การเคารพสิทธิพื้นฐานไม่ว่าทางร่างกาย จิตใจ สังคม หรือกฎหมาย ซึ่งปรากฏในรูปของการที่บุคลากรส่วนนี้ต้องผ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่เป็นอคติและความไม่เข้าใจของเพื่อนร่วมงาน หรือข้อจำกัดของขั้นตอนและระบบการทำงาน เป็นต้น

ในอีกแง่หนึ่ง ประเด็นนี้นำสู่ข้อคำนึงบางประการ บุคลากรส่วนหนึ่งที่มองผู้ต้องขังในฐานะ “คนไม่ดี” จัดเป็นการมองแบบภาพเหมารวม แต่การที่บุคลากรอีกส่วนหนึ่งมองผู้ต้องขังในฐานะผู้รับบริการจากวิชาชีพ ก็อาจติดอยู่กับการมองแบบภาพเหมารวมได้ การมองภาพเหมารวมกรณีแรกนำสู่การมองข้ามผู้ต้องขังในฐานะที่มีคุณค่าความเป็นมนุษย์ การมองภาพเหมารวมแบบหลังไม่นำสู่สิ่งนี้เนื่องจากความเป็นนักวิชาชีพจะทำให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ภาพเหมารวมแบบหลังอาจจะทำให้มองผู้ต้องขังในมิติเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติของการเป็นปัญหาที่ต้องจัดการให้สำเร็จ (เช่น เป็นคนไข้ที่ต้องรักษา หรือเป็นบุคคลที่ต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรม) ข้อนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตในการสังเคราะห์ส่วนที่ 2 ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่บางครั้งในข้อมูลมีน้ำเสียงซึ่งทำให้ดูเหมือนแยกไม่ออกระหว่างการดิ้นรนส่วนบุคคลเพื่อทำงานสำเร็จเยี่ยงนักวิชาชีพที่ตนเองต้องการจะเป็นกับการดิ้นรนเพื่อสร้างประโยชน์หรือเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเทียบกับมุมมองของผู้ต้องขังเอง ภาพของอัตลักษณ์ดั้งเดิมของผู้ต้องขังในมุมมองของบุคลากรจึงดูจะไม่ปรากฏเด่นชัดเท่า จุดเน้นมักอยู่ที่การดูแลให้ผู้ต้องขังมีชีวิตอยู่ได้ต่อไป หรือปรับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ต้องขัง แต่ก็ยังปรากฏข้อมูลในส่วนของการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้ภาคภูมิใจตนเองจากความพยายามและความสำเร็จ

แม้แนวคิดเรื่อง “บูรณภาพ-ความซื่อสัตย์มั่นคงในหลักการ” จะช่วยเป็นทางออกได้ส่วนหนึ่ง องค์ประกอบอื่นที่ลืมไม่ได้คือความเห็นอกเห็นใจและการให้ความสำคัญกับปัจเจกภาพของผู้ต้องขัง สององค์ประกอบนี้ช่วยให้เห็นความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้ต้องขัง ที่น่าสนใจคือทั้งสององค์ประกอบนี้ในหลายกรณีมีบทบาทช่วยให้ปฏิบัติงานได้สำเร็จด้วยเช่นกัน ด้วย ”ความมีบูรณภาพ” ทำให้เห็นประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นประโยชน์ของตนเอง เมื่อผนวกกับความเห็นอกเห็นใจก็จะนำสู่การให้ความสนใจกับปัจเจกภาพของผู้ต้องขังได้