คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 22

ความตระหนักเรื่องภาพลักษณ์ดังกล่าวเป็นส่วนที่ผลักดันให้ทำเพื่อความถูกต้องและประโยชน์ของประชาชน เช่น

…ก็เกิดภาพข้างนอกมองเข้ามาว่าคุณทำเพื่อประโยชน์ของคุณเองหรือเปล่า ท่านให้แต่นโยบายมาแต่ไม่ให้หลักการมา พอไม่ให้หลักการมาก็เกิดช่องว่าง ทุกคนก็มองประโยชน์ตัวเอง ผมก็เลยบอกว่าหัวหน้าครับเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ไหวนะครับ เขามองกลับมาแน่ว่าศาลเราหาแต่ประโยชน์ เอาแต่ค่าตอบแทน เบิ้ลงาน เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับ รู้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่สนิทกับทนายเจ้าหน้าที่ก็พูด …ถ้าให้เบิ้ลงานก็เตะไปๆ ถ่วงไป นี่คืออีกจุดหนึ่งที่ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ดูแล้วภาพองค์กรไม่ไหวกับสายตาคนนอกมองเข้ามา และศาล…ก็ไม่ใช่ศาลใหญ่ด้วย ทนายก็สนิทกับเจ้าหน้าที่ ก็เห็นภาพ มันเห็นอยู่แล้ว ผมก็เลยคิดว่าไม่ไหวต้องมีระบบอะไรบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเป็นหลักเกณฑ์ เพื่อสังคม (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

อันที่จริงตามมุมมองจริยศาสตร์วิชาชีพ กล่าวได้ว่าความตระหนักและใส่ใจรักษาภาพลักษณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นนักวิชาชีพ เนื่องจากวิชาชีพมีความเป็นชุมชนผู้ปฏิบัติเสมอ ผู้ที่มีความเป็นนักวิชาชีพย่อมต้องตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนดังกล่าว การใส่ใจในภาพลักษณ์นั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เนื่องจากสมาชิกอื่นๆ ในชุมชนต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ว่าด้านบวกหรือลบจากภาพลักษณ์ที่มีต่อวิชาชีพของตน

นอกจากนี้ การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นหมายรวมถึงการมีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งข้อนี้ก็พบในข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปคำกล่าวที่แสดงความชื่นชมต่อผู้ที่ทุ่มเทเพื่ออุดมการณ์วิชาชีพ

…พอฟังเขาวันนี้ก็อยากจะบอกเขาว่านายแน่มากเลย เรารักนายจริงๆ เป็นอะไรที่ตื้นตัน ที่เรามีรุ่นน้อง มีตุลาการที่มีหัวใจแบบนี้ ถ้ามีตุลาการแบบนี้ไม่ต้องมาก เอาแค่ 20% องค์กรเราคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนจริงๆ อย่างที่เราทุกคนหวัง ดีใจ รักนายเพิ่มขึ้นเยอะเลย และอยากให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

การรักษาภาพลักษณ์นั้นมิใช่เพื่อประโยชน์ของคนที่อยู่ในวิชาชีพ แต่เพื่อสร้างความไว้ใจแก่คนภายนอก อันจะช่วยให้วิชาชีพสามารถทำงานตามอุดมการณ์และหน้าที่ความรับผิดชอบของตนได้สำเร็จ ข้อนี้สะท้อนไว้อย่างดีในคำกล่าวที่ยกมาแล้วข้างต้น

อุปสรรค

เช่นเดียวกับในกรณีของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ความมุ่งมั่นในอุดมการณ์วิชาชีพและความเป็นข้าราชการนั้น ดำเนินไปท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ อุปสรรคบางรูปแบบอยู่ในกระบวนการทำงานที่มีอยู่ เช่น

เนื่องจากผมอยู่ศาล…มานาน ผมต้องไปโต้แย้งกับคนที่อาวุโสกว่าทั้งนั้นเลย ประธานบ้าง รองประธานบ้าง วัฒนธรรมองค์กรของศาล…เขาจะยอมรับความเห็นแย้ง อันนี้ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดี แย้งเพื่อให้ได้ความถูกต้องอย่างนี้ไม่เป็นไร คนที่เขาตำหนิเราเขาทำอะไรเราไม่ได้ เวลาเอาเหตุผล จะไม่มีทางมาหักล้าง ผมถึงบอกว่าเราต้องฝึกฝน ประสบการณ์ชีวิตทำให้เราถูกฝึกฝนมาเหมือนกัน …บางทีก็ผ่านพ้นไปทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง เขาไม่กล้าตำหนิเราตรงๆ …การที่เขามาตำหนิคนที่ทำถูกต้องและทำเพื่อองค์กรเขากล้าตำหนิไหม ก็ไม่กล้า ได้แต่นินทาลับหลัง ได้แต่ว่าเรา อย่างท่านก็เข้าไม่นานก็โดน …อย่างที่ผมบอกว่าเราควรกล้าในสิ่งที่เราควรกล้า และควรกลัวในสิ่งที่เราควรกลัว (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

ขณะที่อุปสรรคบางรูปแบบเกิดจากความพยายามพัฒนาระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหลายฝ่าย เช่น

ผมไม่กลัวเพราะผมคิดว่า ณ วันนี้เขาก็ยังใช้ระบบที่ผมทำอยู่ ที่วางไว้อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เข้ามาทำต่อ ผมพร้อมที่จะเจอ ก็สงสัยจะโดนอะไรเยอะ โดนเกลียดเยอะ ก็เป็นจริงๆ มีคำพูดมาสี่คำ หนึ่งท่านรู้ไหมว่ามีคนเกลียดท่านเยอะ ผมก็ครับ ท่านรู้ไหมว่ามีคนหมั่นไส้ท่านเยอะ ท่านรู้ไหมว่าท่านทำงานแบบ one man show อีกคำจำไม่ได้ ผมก็ครับ แต่ไม่สนใจ เพราะผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผม ผมทำเพื่อประชาชน ที่เขาโดนอยู่ วันที่ผมออกมา…ผมก็โดน โดนเตะตัดขา (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

หรืออีกตัวอย่าง เช่น

…งานนี้เป็นงานที่มีแรงเสียดทานสูง ผู้พิพากษาทุกคนจะรู้และแอนตี้หมดทั้งประเทศ หน่วยงานข้างนอกแอนตี้ แต่พวกเราพยายามฝ่าฟัน เราโดนตำหนิจากผู้ใหญ่ โดนจากเพื่อนร่วมงาน จากทนายความ แต่ท้ายที่สุดสิ่งนี้ก็ผ่านพ้นมา มีคนอยากให้เลิกระบบนี้ แต่พอไปถามผู้พิพากษาก็ไม่มีใครยอมเลิก ถามว่าทำไม จุดหนึ่งที่ได้ทำตรงนั้นและทุกคนที่ทำก็คือว่าเมื่อขัดผลประโยชน์ใครก็จะลุกขึ้นมาต่อต้าน ไม่ด้วยจะเหตุผลที่อ้างว่าอะไรก็ตาม แต่เป้าหมายเดียวกันที่เรายืนหยัด ไม่ว่าจะถูกใครว่าถูกตำหนิอย่างไรคือ เพื่อประชาชน ประโยชน์ตกกับประชาชน…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)