ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (5) พัฒนาโรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ด้วยเรื่องเล่า (ต่อ)

วางแผนรายละเอียดที่จะสอนเด็ก เริ่มจากสร้างแรงบันดาลใจ ชั่วโมงแรกของ PBL ของไตรมาสที่ ๓ เราให้นักเรียนดูหนังสั้นเรื่องเสือโทน ประสบการณ์ปีที่แล้วรู้เลยว่า เด็กดูหนังเรื่องนี้แล้ววิเคราะห์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพอเราให้เด็กดูหนัง จะบอกเขาให้รู้เลยว่าหลังจากการดูหนังเขาจะต้องเขียนว่าเขาเห็นอะไร พอเด็กดูหนังจบ เราก็จะแจกกระดาษให้หนึ่งแผ่น แล้วให้พับครึ่ง ให้เขียนว่าหนูเห็นอะไรบ้าง เด็กจะถามว่าหนูจะต้องเขียนช่องไหน หรือเขียนแนวตั้งหรือแนวนอนล่ะคะ ก็จะตอบไปว่าหนูอยากเขียนแบบไหนก็เขียนไปเลย อยากทำอะไรทำไปเลย

เป็นไปตามคาดคือเด็กจะเขียนสิ่งที่เขาเห็น เขียนเป็นข้อๆ แต่ที่เราต้องการคือ อยากให้เด็กร้อยเรื่องราว ว่าเห็นอะไรจากหนัง เป็นเพราะอะไร จึงยอมเสียเวลาให้เด็กดูใหม่อีกหนึ่งรอบ แต่ก่อนจะดู ก็กระตุ้นเขา เช่น ผู้หญิงคนนั้นที่เดินมา เขาเป็นอย่างไร ลักษณะอย่างไร เด็กตอบว่าเขาตาบอดค่ะ เราจึงถามกลับไปว่าทำไมเขาเขาถึงตาบอด ทำไมบ้านนี้เขาถึงได้ทะเลาะกัน ทำไมแม่เขาถึงได้เอาลูกไปอยู่ที่อื่น มันเป็นเพราะอะไร เราพยายามชี้ทีละจุด

หลังจากดูครั้งที่ ๒ เด็กก็เขียนได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้เขียนอีกช่องหนึ่งที่ว่างอยู่ แล้วให้เขามาเปรียบเทียบกัน มาสรุปด้วยกันว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ จ.กาญจนบุรี จากนั้นก็ถามว่าหลังจากดูเรื่องนี้ เราจะเรียนเรื่องอะไรกันดี เด็กก็รู้อยู่แล้วว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ถามต่อว่าเด็กๆ คิดว่าบ้านเรามีปัญหาแบบนี้ไหม เขาก็จะเขียนมา เราก็บอกว่า ไม่อยากเห็น อยากให้ทำเป็นการ์ตูนวาดเรื่องราวมีปัญหาอะไร และให้มานำเสนอเพื่อน เราก็เห็นว่าเด็กสะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรบ้าง บางคนก็ปัญหาซ้ำกัน เขาตั้งชื่อและให้โหวตกันว่า ของใครน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะเรียน คุณครูเห็นว่ายังไม่ดีก็จะแนะนำเขาว่าควรเพิ่มคำนี้ไปไหม ก็ได้ชื่อเรื่องว่า สิ่งแวดล้อมดี ชีวีปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

พอไตรมาสที่ ๔ พัฒนาการเด็กดีขึ้น เราก็ให้เขาตั้งชื่อเขาเอง และในสัปดาห์ที่ ๒ เราให้เขียนในสิ่งที่รู้แล้วและสิ่งที่อยากรู้ เด็กก็ถาม เขียนช่องไหน ทำเป็นตาราง หรือ mind map จะทำรูปแบบไหนดีคะครู คือเมื่อก่อนเราจะบังคับแนวคิดเด็กไว้ว่า ทำรูปแบบไหน ครั้งนี้จึงให้เขาทำตามแนวคิดของตัวเอง พอเสร็จเขาก็ได้รายละเอียดทั้งสิ่งที่รู้ และสิ่งที่เขาอยากรู้ หลังจากนั้นจะให้นั่งเป็นวงกลม นำสิ่งที่แต่ละคนเขียนมาดูกัน หากมีอันไหนซ้ำกันก็นำมาเขียนลงในกระดาษแผ่นใหญ่ และนำเสนอ จากนั้นเราก็ช่วยเติมเต็มหรือแนะนำในสิ่งที่เด็กต้องรู้เพิ่มเติม

ต่อด้วยเด็กช่วยกันทำปฏิทินการเรียนรู้ใน ๑๐ สัปดาห์ แล้วช่วยเติมเต็มเพื่อให้ตรงจุดประสงค์ และในสัปดาห์ที่ ๓ เราจะเรียนรู้เรื่องอวัยวะร่างกาย เราไม่ได้สอนเขาว่าอวัยวะคืออะไร ปอดคืออะไร ส่วนไหนคืออะไร แต่ให้เด็กวิเคราะห์รูปภาพ ช่วงนั้นละครเรื่องทองเนื้อเก้ากำลังออกอากาศ เลยให้ดูภาพลำยอง เนื้อตัวที่เละแบบนั้น เขาเป็นโรคอะไร เพราะอะไร คือช่วยกระตุ้นความอยากรู้ของเด็ก แล้วก็โยงให้ดูว่าเคยเห็นใครเป็นแบบนี้ไหม และให้เด็กลองไปถามครูท่านอื่นในโรงเรียน ว่าเป็นโรคประจำตัวอะไรกันบ้าง

ส่วนเราก็คอยสังเกตการณ์ เมื่อเด็กสอบถามมาเรียบร้อย ก็กลับมานำเสนอในห้อง เขาบอกว่าคุณครูคนนี้เป็นโรคประจำตัวนี้ อาการเป็นแบบนี้ ระยะเวลาที่เป็นและวิธีการรักษาเป็นอย่างไร จากนั้นก็ให้เขามาจับกลุ่มกันว่าคุณครูอายุเท่านี้เป็นโรคอะไร โดยจัดกลุ่มตามอายุ เสร็จแล้วเราจะให้เด็กกลับไปถามคนที่บ้านว่ามีโรคประจำตัวอะไร ลักษณะคล้ายๆกันแบบนี้ โดยแนะนำในสิ่งที่ควรถามเพิ่มเติมเพราะ จะทำให้เรารู้ชัดเจนขึ้น เสร็จแล้วก็กลับมานำเสนอ

ในเรื่องต่อไปก็จะสอนเรื่องชีวิตและครอบครัว ให้ดูละครทองเนื้อเก้า ฉากที่ครอบครัวทะเลาะกัน หลังจากนั้นก็ถามเด็กว่าที่บ้านมีปัญหาแบบนี้ไหม และให้จับคู่แชร์ปัญหากันแล้วให้เด็กมาเล่าเรื่องของคู่ตนเองให้ครูฟัง เราก็บอกตอนเพื่อนเล่าเราก็สามารถเสริมเพื่อนได้นะ ตอนแรกเข้าใจว่าเด็กจะไม่กล้าเล่า แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เด็กบางคนอยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ เด็กบางคนก็บอกว่าเกลียดแม่ เราก็ถามกลับไปว่าทำไม เพราะอะไร ซึ่งก่อนที่เขาจะเล่า เราต้องเท้าความมาก่อนว่า เขาเป็นลูกใคร คนที่เท่าไหร่ ประมาณนี้ นักเรียนชั้น ป.๖ มีอยู่ ๑๒ คน มีแค่ ๒ คนที่ได้อยู่กับพ่อแม่ เราคิดว่า ๒ คนนี้คงไม่มีปัญหาอะไร จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทำให้เรารู้ปัญหาของเด็กมากขึ้นในเรื่องของชีวิตและครอบครัว

อีกชั่วโมงหนึ่งก็ให้หัวข้อกับเด็ก ลองคิดลองจินตนาการ ‘ครอบครัวในฝันฉันปั้นได้’ อยากให้ครอบครัวมีความสุขเป็นแบบไหน แล้วให้เด็กเขียนว่า เขาอยากให้เป็นอย่างไร วาดรูปออกมา แล้วมานำเสนอ ในเรื่องถัดไปจะเป็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ให้นักเรียนคิดว่าในชีวิตประจำวันของเรา ถามว่าเราใช้อะไรสิ้นเปลืองมากที่สุด บางคนก็บอกว่า ไฟฟ้าบ้าง ข้าวบ้าง สบู่บ้าง แต่ละคนก็จะพูดกันออกมา ซึ่งความคิดเด็กก็ยังกว้าง เลยให้เด็กไปคุยกับคนในชุมชน และเชิญคนในชุมชนของเด็กมาที่โรงเรียน และให้เด็กแต่ละคนบอกถึงปัญหาที่เขาเจอ เด็กคนหนึ่งบอกว่าเขาใช้ยาสระผมเปลืองมาก ก็มีคนในชุมชนคนหนึ่งแนะนำว่าเราก็ไม่ต้องสระผมจากยาสระผมที่เราซื้อมาทุกวันสิ อาทิตย์หนึ่งอาจจะสระผมด้วยมะกรูดสัก ๒ วัน พยายามให้เด็กมองเห็นปัญหาและเชื่อมโยงถึงวิธีการแก้ปัญหา เลยเสนอว่าอยากทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา เด็กก็ลงความเห็นว่าจะทำยากันยุง เราก็เลยถามว่าจะทำอย่างไร และจะแก้ปัญหาได้จริงไหม อันดับแรกเราก็เชื่อมโยงไปเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร และถามเด็กเกี่ยวกับที่มาของสมุนไพร ซึ่งเด็กก็ไปค้นคว้ามา จากอินเตอร์เนต จากครูท่านอื่น และจากการไปถามผู้ปกครอง เด็กก็มีความกล้าขึ้น เราก็โยนโจทย์ให้เขาก่อนที่เขาจะเข้าไปในสวนสมุนไพร

เราก็คอยสังเกตการณ์ บางที่เขาก็ไปถามผู้รู้ท่านอื่นบ้าง เขาทำของเขาเองไปโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็มารายงานผลว่าสมุนไพรอะไรบ้างที่ใช้ทำยากันยุงได้ เขาบอกว่ามีเยอะมากมาย เราก็เลยให้แบ่งกลุ่มให้เท่ากัน ๓ กลุ่ม โดยให้เลือกสมุนไพรมาไม่ซ้ำกัน กลุ่มหนึ่งใช้ตะไคร้ อีกกลุ่มหนึ่งใช้ใบเร้วหรือใบสาวหลง และกลุ่มสุดท้ายเลือกเปลือกส้ม

พอได้สมุนไพรแล้วเขาก็เอาไปคั่วให้แห้งแล้วตำ ซึ่งหากเอาไปตากแดดจะใช้เวลานาน เราก็ไปสังเกตการณ์ ซึ่งการทำเด็กก็จะไปศึกษาจากอินเตอร์เนต มีวิธีทำอะไรบ้าง หลังจากเขาตำจนแหลก เขานำมาปั้นลักษณะคล้ายธูป หรือกำยาน ที่เด็กไปหาข้อมูลมา ต้องใช้แป้งมันด้วยก็จะเอามาต้ม ก็เจอปัญหาต่างๆ เช่นปั้นเป็นธูปไม่ได้ หรือกรีดแล้วมันแตก ก็ให้เด็กคิดว่าเป็นเพราะอะไร เด็กเสนอความคิด เช่น ตำไม่ละเอียดบ้าง ใส่แป้งมันเยอะบ้าง และก็มีเด็กอยู่คนหนึ่ง บอกว่าต้องแป้งมันเอาไปต้ม เขาบอกว่าเขาเคยทดลองวิทยาศาสตร์ ก็เลยบอกให้เด็กๆ ทำใหม่ กลุ่มเด็กที่ใช้ใบเร้วหรือใบสาวหลง สมุนไพรตัวนี้หมดแล้ว เด็กก็เลยพากันเปลี่ยนเป็นใบเตยแทน เรารู้อยู่แล้วว่าใช้ไม่ได้ แต่ก็อยากให้เขาลองทำดู พอทำเสร็จแล้วก็ไม่สวยมากแต่ก็พอปั้นได้และนำไปตากแดด พอได้ที่เด็กก็เอาไปจุดที่บ้าน แล้วเด็กก็กลับมาบอกว่าจุดไม่ติด ไม่เห็นกันยุงเลย

พอถึงสัปดาห์ที่ ๑๐ ถึงเวลาสรุปองค์ความรู้ จึงได้จัดเป็นนิทรรศการให้นักเรียนเอาธูปที่ทำมานำเสนอและนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนได้ทดลองทำกันมา ก่อนหน้านิทรรศการมีช่วงหนึ่งมีเหตุการณ์ลักพาเด็ก หรือพาเด็กไปข่มขืน เลยลองโยนคำถามให้เด็กว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนเรามีความปลอดภัย และให้แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ออกแบบโมเดลขึ้นมา ว่าหนูอยากให้ความปลอดภัยในชุมชนเป็นอย่างไร โดยให้เด็กอธิบายให้ฟังว่ามีอะไรบ้าง เกี่ยวกับความปลอดภัยในชุมชน ที่นักเรียนอยากให้ตามจินตนาการของตัวเอง และช่วยแนะนำในเรื่องส่วนของความเป็นจริงให้นักเรียนให้เด็กได้แก้ไข จากไตรมาสที่ผ่านมาจะบอกว่าคุณครูได้จดทุกชั่วโมงที่สอน ก็เด็กตอบอะไรก็จะจด แล้ววิเคราะห์ว่าเด็กได้ทักษะอะไรบ้าง เพื่อจะได้วางแผนหรือปรับในการสอนในครั้งต่อไป…”